บทความเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส “ วันราชประชาสมาสัย ” ๑๖ มกราคม ๒๕๕๔

ข่าวทั่วไป Tuesday January 4, 2011 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ เดชะแห่งพระวิหารพรหม ธ ทรงปรารมภ์ ปรารภเพื่อปวงประชา เพ็ญพระบารมีปรีชญา เป็นเนื้อบุญนา แผ่คุ้มคลุมปกพสกผอง .......... ทศพิธราชธรรมอัน อำไพไกวัล ทรงธรรม์ทรงกอร์ปเกื้อกูล ราษฎร์ทุกข์ยากไร้อาดูร เดือดร้อนทวีคูณ ด้วยโรคร้ายสุมรุมเร้า ทรงมีเมตตารับเอา ภาระแบ่งเบา ผ่อนทุกข์บรรเทาเบาบาง “ ราชประชาสมาสัย ” วาง ให้เป็นหนทาง ช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โรคเรื้อน โรคเอดส์ บัญชา ดูแลรักษา เยียวยาสงเคราะห์ชีวี ( คัดจากส่วนหนึ่งของ บทอาศิรวาทราชสดุดี ประพันธ์โดย ศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ รามสูต ) “ ราชประชาสมาสัย ” : พระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันหลายหลากซึ่งปรากฏเป็นที่ประจักษ์ตาประทับใจแก่ปวงพสกนิกรไทย ทั้งยังแผ่กำจรกำจายไปถึงต่างแดนทั่วโลก พระมหาบารมีอันยิ่งใหญ่ไพศาลนั้น ยากล้นเกินพรรณนาความได้ครบถ้วนโดยง่ายดาย หากแต่ทุกผู้คนทั่วไปต่างจงรักประจักษ์ใจและแซ่ซ้องเทิดทูนไว้เหนือเกล้า ทรงสถิตเป็น “ ในหลวง ” อันเป็นที่รักยิ่ง...ทรงเป็นมิ่งมงคลของชนไทย ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ องค์การอนามัยโลก ได้สำรวจพบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเรื้อนทั่วประเทศประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ คน ด้วยอัตราความชุกผู้ป่วย ๕๐ คนต่อประชากร ๑ หมื่น ( หรือผู้ป่วย ๕,๐๐๐ คนต่อประชากร ๑ ล้าน ) ทั้งนี้ร้อยละ ๖๐ ของผู้ป่วย กระจุกตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อความดังกล่าวทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงห่วงใยในพสกนิกรที่เป็นโรคเรื้อนนั้น ด้วยได้ทรงเคยทอดพระเนตรผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ได้รับความรังเกียจเดียดฉันท์จากบุคคลอื่น จากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิบดีกรมอนามัย และ นพ.รามอน มิเควล ที่ปรึกษาโรคเรื้อน องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ขณะนั้น เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์ของโรคนี้ และได้ทรงรับโครงการควบคุมโรคเรื้อนไว้เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้พระราชทานพระราชดำริให้เร่งรัดขยายโครงการดังกล่าวให้รวดเร็วและเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน “ ทุนอานันทมหิดล ” แก่ กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นทุนเริ่มแรกในการจัดสร้างอาคารภายในบริเวณ สถานพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันฝึกอบรมและวิจัยโรคเรื้อน สนับสนุนการควบคุมโรคเรื้อนต่อไป เงินที่เหลือจากการก่อสร้างอาคารครั้งนั้น พระบำราศนราดูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ( ขณะนั้น ) จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปเป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ “ สถาบันราชประชาสมาสัย ” มั่นคงแข็งแรง สามารถสนับสนุนงานโรคเรื้อนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างยั่งยืนต่อไป และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “ มูลนิธิราชประชาสมาสัย ” อันเป็นมงคลนาม ซึ่งมีความหมายว่า “ พระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ” ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงรับมูลนิธิไว้ “ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ” ด้วย ในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารสถาบัน “ สถาบันราชประชาสมาสัย ” และต่อมาในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาทรงเปิดอาคารสถาบัน และตอนหนึ่งของพระราชดำรัส มีความสำคัญว่า ... “ การดำริสร้างสถาบันนี้ขึ้น ก็เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชาการเกี่ยวกับโรคเรื้อน และทำการฝึกอบรมพนักงานที่ออกไปทำการบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชา ตามแผนขยายงานควบคุมโรคเรื้อนต่อไป งานจัดสร้างสถาบันนี้ ได้ดำเนินมาจนบรรลุความสำเร็จทุกประการ ก็ด้วยความพร้อมเพรียงของบรรดาท่านที่มีแก่ใจสละทรัพย์ช่วยใน สาธารณกุศลนี้ ... สถาบัน “ ราชประชาสมาสัย ” หมายถึง ทุกฝ่ายได้ร่วมมืออาศัยซึ่งกันและกัน จนเป็นผลสำเร็จดังที่ได้เห็นอยู่แล้ว ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้ามีความยินดีขอมอบเงินจำนวน ๒๗๑,๔๕๒.๐๕ บาท ซึ่งเหลืออยู่ในทุน “ อานันทมหิดล ” สำหรับปราบโรคเรื้อนแก่สถาบันนี้ เพื่อตั้งเป็นทุนไว้ใช้จ่ายส่งเสริม และดำเนินกิจการให้สัมฤทธิ์ผลสืบไป ” จากวันนั้นมาจนปัจจุบัน การควบคุมดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาโรคเรื้อนในประเทศไทย นับตั้งแต่การดำเนินงานด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษาของบุตรผู้ป่วย ตลอดจนการสงเคราะห์ผู้ป่วยพิการ ได้ดำเนินก้าวหน้าไปอย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ บังเกิดสัมฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม สืบสนองพระราชดำริ สามารถขยายโครงการให้ครอบคลุมทุกจังหวัด และโอนมอบงานควบคุมโรคเรื้อนให้ระบบบริการสุขภาพทุกจังหวัดได้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ และยังสามารถกำจัดโรคเรื้อนได้สำเร็จ ไม่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขต่อไป ( Elimination of Leprosy as a Public Health Problem ) โดยลดความชุกได้จากอัตราผู้ป่วย ๕๐ คนต่อประชากร ๑ หมื่น ( หรือ ๕,๐๐๐ คน ต่อประชากร ๑ ล้าน ) เมื่อเริ่มโครงการ ให้ลดลงคงเหลือในระดับที่ต่ำกว่าอัตราผู้ป่วย ๑ คนต่อประชากร ๑ หมื่น ( หรือ ๑๐๐ คนต่อประชากร ๑ ล้าน ) ตามหลักเกณฑ์ของ องค์การอนามัยโลก ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ( ก่อนเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ) จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้ค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนและรักษาให้หายขาด สามารถอาศัยอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ มีจำนวนผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศรวม ๑๗๒,๙๓๔ คน คงเหลือผู้ป่วยลงทะเบียนรักษาตัวทั่วประเทศเพียง ๗๖๒ ราย นับเป็นอัตราความชุก ที่คงเหลือเพียงผู้ป่วย ๐.๑๑ ต่อประชากร ๑ หมื่น ( หรือ ๑๑ คนต่อประชากร ๑ ล้านคน ) และปัจจุบัน ได้ค้นพบผู้ป่วยใหม่เพียง ๓๐๐ คน ( ด้วยอัตราการค้นพบผู้ป่วยใหม่ ๐.๔๕ ต่อประชากร ๑ แสน หรือพบผู้ป่วยใหม่เพียง ๔ คนต่อประชากร ๑ ล้านคน ) โดยมีเพียง ๑๕ อำเภอ ใน ๙๒๗ อำเภอ ทั่วประเทศ ที่มีอัตราความชุกมากกว่า ๑ ต่อประชากร ๑ หมื่น และได้พัฒนาสู่ความสำเร็จของการกำจัดโรคเรื้อนอย่างยั่งยืน สมดังพระราชปณิธานต่อไป นอกจากนั้นแล้ว สถาบันราชประชาสมาสัย ยังได้ขยายการศึกษาวิจัยทุกด้าน รวมทั้ง การอบรมวิชาการโรคเรื้อนไปสู่ระดับอุดมศึกษา และการฝึกอบรมหลังปริญญาและนานาชาติ อย่างยั่งยืนต่อไป โดยเฉพาะเมื่อสถาบันฯ ได้รับการปรับโครงสร้างองค์กรในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จากหน่วยงานระดับฝ่ายเป็น สถาบันราชประชาสมาสัย กองโรคเรื้อน กรมคววบคุมโรคติดต่อ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับการปฏิรูปยกขึ้นเป็นหน่วยงานระดับสำนัก ให้เป็น สถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค โดยรวม ๒ องค์กรคือ กองโรคเรื้อน และ โรงพยาบาลพระประแดง เข้าด้วยกันเป็น สถาบันโรคเรื้อนแห่งชาติ ทั้งยังเป็นผู้นำระดับนานาชาติ สมดังพระราชปณิธาน เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช รองประธานกรรมการ คนที่ ๑ รักษาการประธานกรรมการมูลนิธิ ( ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ) นำ คณะกรรมการมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรโรคเรื้อนภาคเอกชน เข้าเฝ้าฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัส อันสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ต่อการขจัดโรคเรื้อนให้หมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย ความสำคัญตอนหนึ่งว่า ... " ราชประชาสมาสัย ได้สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามเป้าหมาย แต่ ๑๐ ปีของอธิบดีฯ นั้น ก็กลายมาเป็น ๔๐ ปี ทุก ๑๐ ปี ได้เคยบ่นว่า ไหนบอก ๑๐ ปี ถึง ๑๐ ปี ก็บอกยังไม่สำเร็จ ถึง ๒๐ ปี ก็ว่ายังไม่สำเร็จ ถึง ๓๐ ปี ก็ยังไม่สำเร็จ แต่มาถึง ๔๐ ปีนี้ ก็นับว่าสำเร็จ เพราะว่าจำนวนผู้ป่วยได้ลดลงไปอย่างมาก และผู้ที่เป็นโรคเรื้อนก็ยินดีที่จะมารับการบำบัด ตอนต้นสิ่งที่ลำบากที่สุดก็คือ ความรังเกียจของคนต่อผู้ที่เป็นโรคเรื้อน เพราะว่ากลัวมาก กลัวจะติด ปัญหานี้เป็นสิ่งที่สำคัญในนโยบายของ “ มูลนิธิราชประชาสมาสัย ” เพราะถ้าหากว่าคนรังเกียจ และผู้เป็นโรครู้ว่าคนรังเกียจอย่างมาก ก็จะปฏิบัติตนไม่ถูกต้องในหลายทาง อย่างหนึ่งก็คือหนี ไม่ยอมให้ใครมารักษาบำบัด ดังนี้ก็จะทำให้โรคนี้แพร่ออกไปอีกมาก ถ้ารู้ว่าทางมูลนิธิ ทางสถาบัน และทางกระทรวงสาธารณสุขได้ช่วย ไม่ได้ทำการลงโทษ การที่จะให้เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อรักษาก็จะง่ายขึ้น ข้อแรกหรือผลแรกก็คือ จะทำให้คนรู้ว่าโรคนี้สามารถที่จะรักษาได้ ข้อที่สองก็ต้องทราบว่า โรคนี้ไม่ใช่ว่าติดต่อได้ง่าย ต้องคลุกคลีกับผู้ที่เป็นโรคเรื้อนนี้อย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานถึงจะติดต่อได้ หรือแม้กระนั้น ก็อาจจะไม่ติดต่อเลย เพราะว่าแล้วแต่คน บางคนมีทางที่จะเป็นโรคนี้ง่ายกว่า แต่บางคนก็ไม่เป็น แม้จะไปอยู่กับผู้ที่เป็นโรคเรื้อนนี้เป็นเวลานาน ก็ไม่เป็น ผู้ที่จะเป็น ก็รู้ว่ามีหยูกยาที่จะช่วยได้ก่อนที่จะเป็นผล ดังที่เห็นว่าคนโรคเรื้อน มือเท้ากุด จมูกกุด อันนั้นต้องเป็นมานานหลายปี เพราะเหตุว่าโรคเรื้อนนี้ทำให้อวัยวะที่อยู่ปลายๆ หมดความรู้สึก และนานๆ ไป เมื่อถูไถกับอะไรๆ ก็สึกหรอไปเรื่อยๆ แต่ถ้าคนที่เป็นโรคเรื้อน เพิ่งเป็น และรู้ว่าเป็น ก็บำบัดให้หายได้เร็ว และไม่มีการพิการเลย อันนี้เป็นข้อสำคัญ ฉะนั้น งานของผู้ที่จะต่อสูกับโรคเรื้อนนี้ ก็จะต้องเข้าหาคนที่เป็นโรคเรื้อน ทั้งพวกที่เสียอวัยวะ และโดยเฉพาะยังไม่ได้เสียอะไรเลย ให้บำบัดให้หายดี ฉะนั้นการรักษาโรคเรื้อนให้ได้ผลสำคัญอยู่ที่ ให้ทราบว่าโรคเรื้อนนี้บำบัดรักษาได้ ซึ่งเป็นขั้นแรก ที่ทำให้สามารถประสบผลสำเร็จ ... ... ที่พูดวันนี้ ก็เพื่อให้ระลึกว่า งานที่ทำนั้นเป็นที่น่ายินดีว่าได้ผลดี ทั้งทางการบำบัดโรคเรื้อน ทำให้โรคเรื้อนหายไป ทั้งในด้านกำลังใจของเจ้าหน้าที่ และกำลังใจของผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งหมดนี้เป็นผลสำเร็จที่ดีงาม และจะต้องทำงานต่อไป เพราะยังเหลือ ๐.๕ คนในหมื่นนั้น ที่ต้องมารักษาอีก และอีกอย่างสำหรับอนาคต มีที่สำคัญคือ โรคเรื้อนในโลกนี้ยังไม่หมด โดยที่ สมัยนี้ — ต้องใช้คำนี้ — เป็นสมัยโลกาภิวัฒน์ คือทุกสิ่งทุกอย่างแลกเปลี่ยนกันได้ดี แต่โรคก็แลกเปลี่ยนกันเหมือนกัน ... ... อีกข้อหนึ่งต่อไป ซึ่งได้ฟังว่า ทางมูลนิธิฯ พิจารณาที่จะดำเนินงาน คือถือว่าเป็นภาระของตน ก็คือเรื่องโรคเอดส์ เราได้ทำให้โรคเรื้อนซึ่งเป็นโรคน่ากลัว และมีคนกลัว ต่อสู้จนกระทั่งโรคนี้ไม่เป็นที่น่ากลัวนัก ต่อไปก็มีโรคเอดส์ซึ่งคนกลัว และเป็นโรคที่น่ารังเกียจ แต่ก็มีทางที่จะต่อสู้ได้ โดยที่มีการค้นคว้าอยู่แล้ว ในเมืองไทยก็ค้นคว้าตัวยาหลายชนิดที่จะบำบัดได้ สำหรับต่างประเทศก็มียา ก็จะต้องใช้ยา ๓ อย่าง เพื่อที่จะบำบัด แต่ในเมืองไทยนี้เราก็มียาที่จะช่วยไปร่วมกับยา ๓ อย่างนั้น ทำให้หายได้ ซึ่งก็ได้ผลมาบ้างแล้ว ฉะนั้น มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ อาจจะอุดหนุนการทดลอง จะส่งเสริมการทดลองได้ ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ก็คงสามารถที่จะมีส่วนในภาระที่จะมีต่อไป โรคเรื้อนก็มีผู้ที่เป็นโรคเรื้อน และผู้ที่เป็นบุตรหลานของโรคเรื้อน ก็ได้จัดการเรียบร้อย โรคเอดส์ก็มีผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ และมีลูกหลานของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ยังไม่เป็น ก็ควรจะได้ช่วยให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาและอุ้มชู สำหรับการนี้ ก็มีเอกชน มีองค์กร ที่ได้ตั้งโรงเรียน และได้ตั้งศูนย์สำหรับการนี้ เขาทำกันอยู่บ้างแล้ว แต่ถ้ามูลนิราชประชาสมาสัยฯ ได้ช่วยเหลือในแนวเดียวกับที่ได้ช่วยเหลือในการปราบโรคเรื้อน ก็เชื่อว่าจะเป็นบุญกุศลอย่างสูง อันนี้ก็ปล่อยเอาไว้เป็นการบ้านสองอย่าง และขอให้ทุกคนได้เข้าใจว่า งานยังไม่เสร็จ ยังมีอีกต่อไป ถ้าตั้งอกตั้งใจทำ ประชาชนทั่วทั้งประเทศก็จะขอบใจ และเห็นในความดีของท่านทุกคน เพราะฉะนั้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านมีกำลังใจ กำลังกายเข้มแข็งสมบูรณ์ เพื่อที่จะฟันฝ่าอุปสรรค และปัญหาต่อไป ... ” พระราชดำรัสในครั้งนั้น นับเป็นพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างและไกล ไม่เพียงแต่ทรงพินิจพิเคราะห์ได้อย่างตรงเป้าหมายสำคัญของปัญหา หากแต่ยังได้พระราชทานแนววิธีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และยังได้ทรงพิจารณาถึงประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องอีกด้วย อาทิ การดูแลลูกของผู้ป่วย ก็ได้พระราชทานคำแนะนำให้จัดตั้งโรงเรียน อันเป็นที่มาของการจัดตั้ง โรงเรียนราชประชาสมาสัย , โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ทั้งยังได้พระราชทานพระราชดำริในการจัดการแก้ไขปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือเรื่อง “ โรคเอดส์ ” ที่ได้พระราชทานแนวทางให้มูลนิธิฯสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้า ที่พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เด็กเหล่านั้นเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญไม่สร้างปัญหาให้สังคม ในอนาคต ประเทศไทยอาจประสบปัญหาโรคติดต่อใหม่ๆ เช่น ไข้หวัดนก , ไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ถึงแม้ว่าจะไม่น่ารังเกียจ ไม่น่ากลัว เหมือนโรคเรื้อน แต่ก็ยังสร้างปัญหาสะเทือนไปถึงรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก จากปรัชญาและหลักการ “ ราชประชาสมาสัย ” ดังกล่าวนี้ น่าจะสามารถช่วยสร้างเครือข่ายชุมชนให้มีภูมิคุ้มกัน และช่วยสร้างเครือข่ายระบบการเฝ้าระวังโรค ระบบเตือนภัยสุขภาพในชุมชน ก่อเกิดสังคมที่ไม่นิ่งดูดาย กลับเป็นสังคมหรือชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกัน ผู้ป่วยจะได้รับการเอาใจใส่ดูแลภายในชุมชน อันนับเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในอีกมุมมองหนึ่ง หากไม่ยึดติดกับงานโรคเรื้อนเพียงอย่างเดียว แต่ยึดตามปรัชญาของคำว่า “ ราชประชาสมาสัย ” ที่ พระราชาหรือผู้แทนพระราชา คือ “ ข้าราชการ ” กับประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ก็อาจเป็นพันธกิจใหม่ของการพัฒนาศักยภาพของ มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ และ สถาบันราชประชาสมาสัย ในอนาคตก็เป็นได้ ปัจจุบัน มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มี ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ รามสูต ( อดีต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ) ดำรงตำแหน่ง “ ประธานกรรมการ ” สืบแทน ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช ซึ่งได้รับการแต่งให้ดำรงตำแหน่ง “ ประธานกิตติมศักดิ์ ” วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปี ถือว่าเป็น “ วันราชประชาสมาสัย ” ดังนั้น มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดจัดงาน “ วันราชประชาสมาสัย ” ขึ้นเป็นประจำเสมอมา เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ได้พระราชทานแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อนเสมอมา โดยมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ กิจกรรมวิชาการ และกิจกรรมสันทนาการ สำหรับในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ ร่วมกับ สถาบันราชประชาสมาสัย กำหนดจัดงาน “ วันราชประชาสมาสัย ” วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๔ ณ สถาบันราชประชาสมาสัย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และที่ นิคม ๑๒ แห่ง ทั่วประเทศ อนึ่ง เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้จัดทำ “ สายรัดข้อมือดอกกุหลาบสีชมพู ” เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ นำรายได้สมทบ มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ “ สายรัดข้อมือดอกกุหลาบสีชมพู ” ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ ดอกกุหลาบสีชมพู สายพันธุ์ “ จุฬาลงกรณ์ ” ซึ่งเป็นกุหลาบที่มีขนาดใหญ่ ส่งกลิ่นหอม พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงนำมาปลูกไว้ที่ พระตำหนักสบาย คุ้มเจ้าดารารัศมี จ.เชียงใหม่ ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงให้มีการนำมาขยายพันธุ์ ปลูกไว้รอบ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ “ ดอกกุหลาบสีชมพู ” สะท้อนถึง ความรัก ความงดงามที่ยิ่งใหญ่ของมวลพสกนิกรชาวไทย ที่น้อมเกล้าฯรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระเกียรติคุณ ที่แผ่กำจรกำจาย ทั้งยังเป็นการสะท้อนถึงการรวมพลังของปวงชนชาวไทย ประดุจดังกลีบกุหลาบ ที่รายล้อม เพื่อรวมใจถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยั่งยืนนานสืบไป และยังจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่อีกด้วย ผู้สนใจ บริจาคเงิน ในราคา เส้นละ ๑๐๐ บาท ได้ที่ ... มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ , สถาบันราชประชาสมาสัย , สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด , ที่ทำการไปรษณีย์ไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารออมสิน … ผู้สนใจ ติดต่อสอบถาม ได้ที่ มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ โทรศัพท์ : ( ๐๒ ) ๕๙๑ ๓๗๒๐

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ