2 สภาวิชาชีพ ตั้ง คสทก. ศึกษาปัญหาไทย-เขมร ย้ำไม่ใช่การตัดสินถูกผิด

ข่าวทั่วไป Tuesday January 18, 2011 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จับมือสภาทนายความ ร่วมคลี่ปมปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งคณะกรรมการร่วมศึกษาสัมพันธภาพแห่งดินแดนไทย-กัมพูชา (คสทก.) กำหนดระยะเวลาศึกษาภายใน 3 เดือน ย้ำผลการศึกษาไม่ใช่การตัดสินถูกผิด แต่ผู้ตัดสินคือสาธารณชนคนไทยเท่านั้น ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 มกราคม 2554 คณะทำงานศึกษาปัญหาข้อขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา จากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความ ได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก ภายหลังการประชุมกว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติจะแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อว่า คณะกรรมการร่วมศึกษาสัมพันธภาพแห่งดินแดนไทย-กัมพูชา (คสทก.) โดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความ หรือ Joint Commission for the Study of Thai-Cambodian Border Relations (JCTCB) By the National Press Council of Thailand (NPCT) and the Lawyers Council of Thailand (LCT) เพื่อทำการศึกษาในหัวข้อ “มิติเรื่องชายแดนไทย-กัมพูชา : ข้อเท็จจริงจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความ” ซึ่งจะแบ่งหัวข้อการศึกษาออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย บทที่ 1 ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จะมีเนื้อหาอาทิ 1. สนธิสัญญาปักปันเขตแดน 2. เอกสาร-หลักฐานทางประวัติศาสตร์ 3. ข้อพิพาทในศาลโลกในคดีเขาพระวิหาร 4. กรณีสงครามกลางเมืองในกัมพูชา 5. ข้อโต้แย้งเรื่องเขตแดนรอบเขาพระวิหาร บทที่ 2 ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จากเขตชายแดนไทย-กัมพูชา ศึกษาครอบคลุมเนื้อหา ดังนี้คือ 1. ผลจากสงครามกลางเมืองกัมพูชาต่อเขตแนวชายแดน 2. การแก้ปัญหาเขตชายแดนหลังสงคราม 3. คณะกรรมการชายแดนชุดต่างๆ 4. วิถีชีวิตประชาชนตามเขตแนวชายแดน 5. ประเด็นที่หลักเขตแดนที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ บทที่ 3 ผลจากความไม่ชัดเจนของหลักเขตแดน ประกอบด้วยเนื้อหาด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้ 1. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการค้าชายแดน 2. ผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนบริเวณชายแดน 3. กรณีการจับกุมคนไทย 7 คน 4. ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชากับแรงกดดันในแต่ละประเทศ 5. ปัญหาในภาพรวมต่อกลุ่มประเทศอาเซียน บทที่ 4 ข้อเสนอเชิงนโยบายเขตชายแดนไทย-กัมพูชา จะมีเนื้อหาในด้าน 1. ความสัมพันธ์ของประชาชนบริเวณชายแดน 2. ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ 3. ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง 4. ความสัมพันธ์เชิงสังคมและวัฒนธรรม 5. ความสัมพันธ์เชิงบูรณาการและอธิปไตยแห่งดินแดน และ บทที่ 5 บทสรุปและข้อเสนอแนะการสร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ระหว่างไทย-กัมพูชา บนหลักการของการบูรณาการเพื่อประสานประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำหนดระยะเวลาในการศึกษาโครงการดังกล่าว 3 เดือน โดยใช้งบประมาณของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ และสภาทนายความในเบื้องต้น 3 ล้านบาท หลังจากนั้นจะสรุปผลการศึกษาเป็นเล่มเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนได้รับทราบต่อไป. อนึ่ง ที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยกรณีการจับกุมคนไทย 7 คน ในข้อหารุกล้ำเขตแดนกัมพูชา ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลกัมพูชา โดยเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ขณะเดียวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเจรจาทางการทูตเพื่อให้การช่วยเหลือ 7 คนไทยกลับสู่มาตุภูมิโดยเร็ว นอกจากนี้ที่ประชุมร่วมยังเห็นชอบที่จะออกแถลงการณ์ร่วมกัน ในเรื่อง การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมศึกษาสัมพันธภาพแห่งดินแดนไทย-กัมพูชา (คสทก.) โดย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-243-5697 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ