คปภ. เก็บรักษาทรัพย์สินเงินสำรองประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงต่อผู้เอาประกันภัย

ข่าวทั่วไป Thursday February 3, 2011 17:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--คปภ. นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 บริษัทประกันชีวิตทั้งหมด 25 บริษัท ได้นำทรัพย์สินมาวางไว้กับสำนักงาน คปภ. เป็นเงินสำรองประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่ยังมีความผูกพันอยู่ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 202,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 17 ซึ่งมีรายละเอียดทรัพย์สินดังนี้ 1. พันธบัตรรัฐบาลไทย จำนวน 155,315 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.88 ของทรัพย์สินเงินสำรองที่วางไว้ 2. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ จำนวน 41,262 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.42 ของทรัพย์สินเงินสำรองที่วางไว้ 3. หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 2,244 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.11 ของทรัพย์สินเงินสำรองที่วางไว้ 4. หุ้นกู้บริษัทจำกัด จำนวน 1,787 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.88 ของทรัพย์สินเงินสำรอง ที่วางไว้ 5. เงินฝากประจำ จำนวน 800 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.40 ของทรัพย์สินเงินสำรองที่วางไว้ 6. ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.30ของทรัพย์สินเงินสำรองที่วางไว้ 7. หน่วยลงทุน จำนวน 13 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของทรัพย์สินเงินสำรองที่วางไว้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทประกันชีวิตจะต้องจัดสรรเบี้ยประกันภัยไว้เป็นเงินสำรองประกันภัยเพื่อจ่ายคืนให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้รับประโยชน์ในอนาคตตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับลูกค้า เช่น เมื่อครบกำหนดสัญญา เมื่อเสียชีวิตหรือเมื่อเวนคืนกรมธรรม์ ฯลฯ กฎหมายกำหนดให้บริษัทจะต้องนำเงินสำรองประกันภัยมาวางไว้กับสำนักงาน คปภ. เป็นมูลค่าไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินสำรองประกันภัยทั้งสิ้น ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกันชีวิต กำหนดให้เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินสำรองประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงกำหนดให้ทรัพย์สินที่นำมาวางไว้เป็นเงินสำรองประกันภัย เป็นทรัพย์สินที่มีความมั่นคงสูง เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันชีวิต และเป็นหลักประกันความมั่นคงสำหรับผู้ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัย หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186
แท็ก ประกันภัย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ