พม.รุดช่วยเหลือเด็กดักแด้ ส่งรักษาตัวโรงพยาบาลจุฬาฯ

ข่าวทั่วไป Friday February 11, 2011 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--พม. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะของมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ เดินทางไปรับตัวเด็กชายกนก แก้วกงพาน อายุ ๗ เดือน ซึ่งป่วยเป็นโรคผิวหนัง (เด็กดักแด้) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๒๔/๑ หมู่ที่ ๕ ต.คลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ โดยรมว.พม.กล่าวว่า จากกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวน้องแตงโม ซึ่งป่วยเป็นโรคเด็กดักแด้ มีอาการทั้งตัวเป็นสีแดง มีแผ่นหนังลอกทั้งตัวและใบหูทั้ง ๒ ข้าง ไม่มีเท้าขวา ไม่มีนิ้วเท้าข้างซ้าย มีแต่นิ้วโป้ง ส่วนนิ้วมือทั้ง ๒ ข้างหงิกงอ ภายในปากเป็นสีแดง ซึ่งครอบครัวได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล จนต้องวอนขอผู้ใจบุญช่วยเหลือนั้น ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงทราบเรื่องดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาให้รับน้องแตงโมไว้เป็นคนไข้ในพระอุปถัมภ์ และให้มารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นายอิสสระ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงเดินทางมารับตัวเด็ก เพื่อนำส่งรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยการรักษานั้น ให้เป็นไปตามขั้นตอนการรักษาของคณะแพทย์ ซึ่งจะต้องตรวจดูอาการอย่างละเอียด และหากเข้าข่ายคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็พร้อมจ่ายเบี้ยยังชีพคนพิการให้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งได้สั่งการให้ พมจ.พระนครศรีอยุธยา ไปสอบประวัติ ทราบว่าบิดาและมารดา ของน้องแตงโม ยังว่างงานอยู่ และต้องการประกอบอาชีพ เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายเลี้ยงดูลูก ในส่วนนี้ กระทรวงฯ ได้ช่วยเหลือเป็นเงินเบื้องต้นเป็นเงินสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคม จำนวน ๒,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการครองชีพและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาพยาบาล และประสานกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น การจัดหาอาชีพให้กับบิดาของเด็ก และจะได้ติดตามผลการให้ความช่วยเหลือต่อไป ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า โรคเด็กดักแด้ เป็นโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ โดยส่วนมากพบในเพศชาย เด็กจะเจริญเติบโตช้ากว่าคนอื่น ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และจากสภาพผิวหนังที่มีผิวชั้นนอกบางมากและมีการแตกเรื่อยๆ จึงอาจให้เกิดการติดเชื้อได้ ปกติแล้วจะพบการเสียชีวิตมากในระยะ ๑-๒ เดือน แต่ในกรณีนี้ อยู่ถึง ๗ เดือนแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นปัญหา โดยการรักษาในเบื้องต้น จะใช้ยาทานร่วมกับการทาครีมที่ผิวหนัง ซึ่งในระยะนี้ คณะแพทย์จะได้ทำการตรวจดูอาการของน้องแตงโมและให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ไปก่อน จนกว่าพ่อและแม่ของเด็กจะพร้อม ส่งกลับไป รักษาตัวที่บ้านได้.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ