กก.กฤษฎีกา ตีความ กองทุนท่องเที่ยว สนับสนุนเงินให้ชุมชนได้ พร้อมของบปี ๕๕ กว่า ๓๐๐ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Monday February 14, 2011 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยมีคณะกรรมการจากกรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสมบัติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยใหม่ คือ ๑.นายนเร เหล่าวิชยา เป็นเลขานุการ ๒. หัวหน้ากลุ่มการคลังและพัสดุ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ๓. หัวหน้ากลุ่มบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ นอกจากนี้ได้มีการแจ้งรายงานสรุปผลการดำเนินงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ปีงบประมาณ ๒๕๕๓ อนุมัติโครงการรวมทั้งสิ้น ๕๗ โครงการ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น ๑๘๗,๗๑๖,๑๗๘ บาท รวมกับค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนอีก ๖,๗๕๔,๗๕๐ บาท โดยแยกเป็นสนับสุนนโครงการการแก้ไขปัญหาแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม จำนวน ๑๙ โครงการ เป็นจำนวนเงิน ๖๐,๙๘๑,๕๐๐ บาท โครงการการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ๑๗ โครงการ เป็นเงินจำนวน ๕๑,๒๔๔,๔๗๘ บาท โครงการการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ จำนวน ๑๗ โครงการ เป็นเงินจำนวน ๖๐,๑๙๐,๒๐๐ บาท โครงการการศึกษา การค้นคว้า การวิจัยเชิงประยุกต์ การฝึกอบรม การประชุม การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูล จำนวน ๒ โครงการ โครงการการเพิ่มศักยภาพของบุคลาการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำนวน ๑ โครงการ เป็นจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โครงการการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน จำนวน ๑ โครงการ เป็นจำนวนเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับการพิจารณาในเรื่องของการที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือ กรณีชุมชนหรือเอกชนขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ว่า กองทุนสามารถให้เงินอุดหนุนหรือเงินกู้ยืมได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม กองทุนสามารถให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนแก่ชุมชนหรือองค์กรภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ หากเป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนตามมาตรา ๒๔(๒) กล่าวคือ เป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การฝึกอบรม การประชุม การประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ข้อมูล โดยหน่วยงานของรัฐ ไม่อาจนำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ไปให้การอุดหนุนหรือให้กู้ยืมแก่ชุมชนหรือองค์กรภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่ออีกได้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงการอนุมัติโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ในปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ตามแนวทางการพิจารณาโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยประจำปี ๒๕๕๔ จากเงินกองทุนที่มีอยู่ ๒๔๙,๘๖๓,๘๙๐.๓๘ บาท เป็นเงินประมาณอีก ๑๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว พัฒนาระบบสนับสนุนการท่องเที่ยว พัฒนาทรัพยากรณ์มนุษย์ด้านการท่องเที่ยว และพัฒนาระบบบริหารงานกองทุน อย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งต้องเป็นไปตามลักษณะดังนี้ คือ ๑.การแก้ไขปัญหาแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม ๒.การพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ๓.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๔.การศึกษา ค้นคว้า การวิจัยเชิงประยุกต์ การฝึกอบรม การประชุม การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูล ๕.การเพิ่มศักยภาพของบุคลากร ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ๖.การสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่สนับสนุนการท่องเที่ยว ๗.การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ๘.การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่คณะกรรมการเห็นสมควรสนับสนุนในลักษณะเงินอุดหนุนหรือเงินให้กู้ยืม นอกจากนี้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโครงการ โครงการมีลักษณะของความยั่งยืนหรือมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ความเหมาะสมของระยะเวลาการดำเนินโครงการ และประโยชน์ ที่จะได้รับจากโครงการ ซึ่งมีจำนวนโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ จำนวน ๒๑ โครงการ จากจำนวนโครงการที่ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ทั้งหมดว่า ๑๒๐ โครงการ โดยแบ่งเป็นประเภทการแก้ไขปัญหาแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม จำนวน ๔ โครงการ ในวงเงิน ๒๗,๕๙๙,๐๐๐ บาท ประเภทการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว จำนวน ๘ โครงการ ในวงเงิน ๓๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ประเภทการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ จำนวน ๔ โครงการ ในวงเงิน ๕๖,๕๙๑,๐๐๐ บาท ประเภทการศึกษา ค้นคว้า การวิจัยเชิงประยุกต์ การฝึกอบรม การประชุม การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูล จำนวน ๓ โครงการ ในวงเงิน ๑๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ประเภทการสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่สนับสนุนการท่องเที่ยว จำนวน ๑ โครงการ ในวงเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และประเภทอื่นๆที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ๑ โครงการ ในวงเงิน ๖,๙๔๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๒๑ โครงการ เป็นเงินทั้งหมด ๑๓๘,๑๓๐,๐๐๐ บาท นายสมบัติ กล่าวปิดท้ายว่า จำนวนโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกองทุนฯ นั้นมีกว่า ๑๒๐ โครงการ แต่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ จำนวนเพียง ๒๑ โครงการ เนื่องจากอาจจะเกิดจากปัญหาทางด้านเอกสารไม่ครบถ้วนถูกต้อง การไม่เข้าข่ายลักษณะประเภทโครงการกองทุน งบประมาณที่ขอยังไม่มีความเหมาะสมเพียงพอ โดยจะมีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อทบทวนการให้การสนับสนุนโครงการที่ผ่านจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ จำนวน ๒๑ โครงการ อย่างถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย จะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของกองทุนด้วย อีกทั้ง กองทุนได้จัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๕ จำนวนกว่า ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ