สกธ.- สธ. อบรม “จนท.ชันสูตรฯ” แก้ปัญหา “แพทย์นิติเวช” ขาดแคลน

ข่าวทั่วไป Friday July 27, 2007 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--สกธ.
สกธ. จับมือ สธ. จัดอบรม จนท.ชันสูตรพลิกศพ ประจำ รพ.ทั่วประเทศ แก้ปัญหา หมองานล้นมือ เผยแพทย์นิติเวช ตจว. มีแค่ 10 กว่าคน ชี้อบรม จนท. แค่แก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาวต้อง “สร้าง” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อประโยชน์ของประชาชน
นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจกรรมยุติธรรม (สกธ.) กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในหมวด 2 ว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ในมาตรา 148 ได้กำหนดให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ในกรณีที่เป็นการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ อันประกอบด้วย การฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำร้ายให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ หรือ ตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ รวมทั้งการตายระหว่างการอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานของรัฐ โดยกำหนดให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ ร่วมกับแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการชันสูตรพลิกศพ คือ แพทย์นิติเวชศาสตร์ หรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ,แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด,แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียชีวิต และผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติของผู้เสียชีวิตให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
“เป้าหมายสำคัญของข้อบังคับในกฏหมายนี้ คือ การสร้างความโปร่งใสให้กับกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะการตายที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า วิสามัญฆาตกรรม หรือตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตมักรู้สึกคลางแคลงสงสัยว่าเสียชีวิตเพราะต่อสู้จริง หรือเป็นการจัดฉากของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรณีเช่นนี้ หากมีการชันสูตรตามหลักวิชาการรวมทั้งการตรวจสถานที่เกิดเหตุสามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ กฎหมายนี้ถือเป็นการคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกฆ่าตายด้วยการกระทำอันมิชอบ หรือแม้แต่ตายแล้วก็อาจจะยังสามารถหัวตัวคนผิดมาลงโทษได้” ผอ.สกธ.กล่าวถึงย้ำถึงประโยชน์ของกฎหมาย
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติพบว่า การออกไปปฏิบัติหน้าที่ชันสูตรพลิกศพของแพทย์มีผลกระทบต่อภารกิจในการให้บริการประชาชนของแพทย์อยู่ไม่น้อย เนื่องจากจำนวนแพทย์ประจำโรงพยาบาลต่างจังหวัด โดยเฉพาะแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนมีน้อย และในทางกลับกันหากแพทย์ติดภารกิจไม่สามารถละทิ้งคนไข้ไปปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีก็อาจส่งผลให้กระบวนการชันสูตรพลิกศพ และการไต่สวนการตายเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติงานของแพทย์มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพื่อให้กระบวนการชันสูตรพลิกศพเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปร่วมชันสูตรพลิกศพแทนแพทย์ ในกรณีการตายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ถูกสัตว์ทำร้าย และการตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุ ซึ่ง พรบ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สกธ. จึงร่วมกับ สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการฝึกอบรมการชันสูตรพลิกศพสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ชันสูตรพลิกศพ ณ ที่เกิดเหตุแทนแพทย์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลลากรทางการแพทย์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ อย่างน้อยแห่งละ 1 คน ให้มีความรู้ และทักษะที่จะดำเนินงานตามกฎหมาย โดยในปี พ.ศ. 2550 นี้ จะมีการจัดอบรมทั้งหมด 4 รุ่น
ทางด้าน นายแพทย์พรเพชร ปัญจปิยะกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพ สำนักงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผู้จัดหลักสูตรอบรมฯ กล่าวว่า การอบรมแต่ละรุ่นใช้เวลา 5 วัน โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพทั้งภาคทฤษฎี เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ลักษณะการตายจากสาเหตุต่างๆ วิธีการบันทึกหลักฐาน เป็นต้น รวมทั้งการฝึกปฏิบัติจริงจากสถานการณ์จำลอง บุคลากรเหล่านี้จะได้รับประกาศนียบัตร และสามารถกลับไปทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพตามการมอบหมายของแพทย์ได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระของแพทย์ รวมทั้งทำให้กระบวนการชันสูตรพลิกศพในพื้นที่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพ ได้แสดงความคิดเห็นว่า การจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ เพื่อทำหน้าที่แทนแพทย์ในลักษณะนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรในระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้เพราะในการชันสูตรพลิกศพ ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญด้านนิติเวชศาสตร์อย่างมาก โดยปกติแล้วแพทย์นิติเวช จะใช้เวลาเรียนวิชาเฉพาะสาขานี้ประมาณ 3 ปี แต่ปัญหาในขณะนี้ คือ แพทย์ที่จบด้านนิติเวชศาสตร์ ของกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 100 กว่าคน และส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มีผู้ที่ทำงานอยู่ในต่างจังหวัดมีประมาณ 11-12 คน เท่านั้น
“ปัจจุบันการชันสูตรพลิกศพประมาณ 70% ดำเนินการโดยแพทย์สาธารณะสุขซึ่งมีโอกาสได้เรียนวิชาเกี่ยวกับนิเติเวชเพียง 1-2 หน่วยกิจเท่านั้น ประเด็นที่อาจจะเป็นปัญหา ก็คือ คุณหมอเหล่านี้อาจจะไม่สามารถจัดการกับกรณีการเสียชีวิตที่มีลักษณะผิดปกติที่ ยากๆ และซับซ้อนได้ ฉะนั้นในระยะยาวแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบยุติธรรมคงต้องหาแนวทางในการวางแผนพัฒนาบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ให้เพียงพอ” นายแพทย์พรเพชร กล่าวเพิ่มเติม
“การปรับปรุงแก้ไข หรืออกกฎหมายใหม่ๆ เป้าหมายก็เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศมีความโปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในระยะเริ่มต้นอาจมีปัญหาความไม่พร้อมของบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายนั้นๆ อยู่บ้าง ซึ่ง สกธ. ถือเป็นภารกิจที่จะต้องสนับสนุนให้มีการอบรมพัฒนาความพร้อมให้กับบุคลากรเพื่อรองรับ และในส่วนของบุคคลากรทางการแพทย์ผู้ทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพก็เช่นเดียวกัน คงต้องดำเนินการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป” นายวิศิษฏ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ