ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของบมจ ปตท. เคมิคอล

ข่าวทั่วไป Tuesday May 22, 2007 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH ที่ ‘A+(tha)’ และอันดับเครดิตระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ การประกาศคงอันดับเครดิตในครั้งนี้ได้ครอบคลุมถึงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ในประเทศของบริษัท โดยหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิคงอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’ ส่วนหุ้นกู้ที่มีหลักประกันคงอันดับเครดิตที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha))
อันดับเครดิตของ PTTCH สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจและการดำเนินการที่มีในระดับที่สูงกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่ปัจจุบันถือหุ้น PTTCH อยู่ในสัดส่วน 55% เนื่องจาก PTTCH เป็นผู้ดำเนินการหลักสำหรับกลุ่ม ปตท. ในธุรกิจปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ (ปัจจุบัน ฟิทช์ให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวแก่ ปตท. ที่ระดับ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้ PTTCH ยังมีสัญญาการจัดซื้อวัตถุดิบในระยะยาวโดยมีโครงสร้างของราคาแบบ Profit Sharing กับ ปตท. อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่ PTTCH มีขนาดของกิจการที่ใหญ่และการเข้าไปลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต่อเนื่องเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้รวมและช่วยลดความผันผวนของรายได้ในระยะยาวอีกด้วย อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการที่ PTTCH มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องทางการเงินที่ดี อันเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินโดยเฉพาะในช่วงที่มีการขยายการลงทุนที่สูงในปัจจุบัน
PTTCH ประกาศแผนการลงทุนในช่วงปี 2550-2554 ซึ่งรวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นซึ่งประกอบด้วยโครงการโรงโอเลฟินส์แห่งใหม่ที่ใช้ก็าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักและโครงการขยายกำลังการผลิตของโรงโอเลฟินส์เดิม และรวมถึงการลงทุนในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream) ทั้งในส่วนของโพลิเมอร์ (Polymers) และผลิตภัณฑ์เคมีเฉพาะด้าน (Specialty Chemicals) PTTCH คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 8.55 หมื่นล้านบาทสำหรับการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวโดยใช้แหล่งเงินทุนที่มาจากการเพิ่มทุนจำนวน 2.8 หมื่นล้านบาทในช่วงปลายปี 2549 และเงินกู้ยืมใหม่ ทั้งนี้ PTTCH คาดว่าระดับหนี้สินสุทธิและอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทน่าจะสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันที่เป็น Net Cash อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าน่าจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt to EBITDA) ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.0 เท่าได้ตลอดช่วงเวลาที่มีการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว ในขณะเดียวกัน บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทมีเงินสดในมือถึง 3.16 หมื่นล้านบาทและยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ในระดับที่สูง อันประกอบด้วยวงเงินสนับสนุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจากสถาบันการเงินจำนวน 2.6 พันล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนที่สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 135 ล้านเหรียญสหรัฐ และวงเงินสนับสนุนเพื่อสินเชื่อการค้าจาก ปตท. อีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยรักษาความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทได้
ถึงอย่างไรก็ตาม บริษัทมีปัจจัยความเสี่ยงทางด้านความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฏจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน (Execution Risk) ที่สืบเนื่องมาจากการลงทุนใหม่และการที่บริษัทมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงที่มีการคาดการณ์ว่าวัฏจักรอุตสาหกรรมจะอยู่ในช่วงขาลง นอกจากนี้ การที่ PTTCH ขายผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในตลาดในประเทศ ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงในด้านการพึ่งพาตลาดเพียงตลาดเดียวค่อนข้างสูง
PTTCH ประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่งในปี 2549 โดยมี EBITDA เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเพิ่มขึ้นเป็น 2.36 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายโอเลฟินส์และเม็ดพลาสติกประเภท HDPE ที่สูงขึ้นและการที่ส่วนต่างของราคาขายผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยได้รับอานิสงค์จากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สูงขึ้น ส่วนผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 PTTCH มี EBITDA ลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงมาที่ระดับ 3.9 พันล้านบาท อันเป็นผลจากการปิดโรงโอเลฟินส์ตามแผนงานเพื่อตรวจสอบบำรุงรักษาและการเชื่อมต่อส่วนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 190,000 เมตริกตันต่อปีตามโครงการขยายกำลังการผลิตขั้นที่ 1 (De-bottlenecking Phase I) PTTCH มีอัตราส่วน EBITDA ต่อยอดขายลดลงมาที่ 30% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 จากระดับเฉลี่ยที่ 33% ในปี 2549 อันเป็นผลจากการลดลงของส่วนต่างของราคาขายผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการขยายกำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนต่อหน่วยลดลง (Economy of Scale) การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการลงทุนในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ สัญญาการจัดซื้อวัตถุดิบกับ ปตท. ที่ให้ประโยชน์แก่บริษัท โดยปัจจัยเหล่านี้จะช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้แก่บริษัทในช่วงที่ธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ในช่วงวัฎจักรขาลงและยังสามารถลดความผันผวนของความสามารถในการทำกำไรลงได้ อันจะทำให้บริษัทสามารถรักษาระดับของอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันได้
ติดต่อ: วสันต์ ผลเจริญ, เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, Vincent Milton + 662 655 4755
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของฟิทช์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ