เตือนผู้ประกอบการจดแจ้งสารเคมีตามระเบียบการจัดการสารเคมีญี่ปุ่น

ข่าวทั่วไป Tuesday February 22, 2011 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--คต. นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม และกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้ทบทวนปรับปรุงกฎหมายการจัดการสารเคมีของญี่ปุ่น (Chemical Substance Control Law : CSCL) เพื่อยกระดับให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยได้กำหนดการบังคับใช้ออกเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะแรกเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการสารโพลีเมอร์ การถ่ายทอดข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน และข้อกำหนดสำหรับสารเคมีที่ต้องได้รับอนุญาตหรือมีการควบคุมการผลิต นำเข้า หรือใช้ในห่วงโซ่อุปทาน มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ และระยะที่ ๒ กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารเคมี (ทั้งสารใหม่และสารเดิม) ต้องจดแจ้ง (มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ) สารเคมีรายปี กรณีที่ผลิตหรือนำเข้าสารเคมีที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมในปริมาณมากกว่า ๑ ตันต่อปี / บริษัท / สารเคมี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป โดยที่ ผู้ผลิต / ส่งออกในประเทศที่สามรวมทั้งไทยสามารถจดแจ้งสารเคมีใหม่ได้โดยตรงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบข้างต้น ระเบียบ CSCL นี้ไม่บังคับใช้กับสารเคมีที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบอื่น ๆ อยู่แล้ว ได้แก่ อาหารและสารเจือปนอาหาร อาหารสัตว์และสารเจือปนในอาหารสัตว์ ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ ของเล่น ผงซักฟอก สารเคมีที่ใช้เพื่อการเกษตร ปุ๋ย ยา เครื่องสำอาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ สารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ยาบำรุงและวัตถุดิบ สารกัมมันตรังสี สารพิษ ของเสียและขยะ นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงสารเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต และสารที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อใช้ในการทดสอบและวิจัย นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประเมินความเสี่ยงของสารเคมี ระเบียบ CSCL จะประเมินความเป็นอันตรายและโอกาสที่จะก่อให้เกิดอันตรายของสารเคมีเดิมที่มีการผลิตหรือจำหน่ายในญี่ปุ่นมาแล้วก่อนปีพ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๒๐,๖๐๐ สาร และสารเคมีใหม่ที่มีการผลิตหรือจำหน่ายในญี่ปุ่นตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อจัดจำแนกสารเคมีออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ (๑) สารเคมี Class I หมายถึง สารเคมีที่สามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตอย่างคงทน และเป็นพิษระยะยาวต่อมนุษย์หรือสัตว์กินเนื้อ ซึ่งการผลิต จำหน่าย หรือใช้จะต้องได้รับอนุญาตตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เท่านั้น และ (๒) สารเคมี Class II หมายถึง สารเคมีที่เป็นพิษระยะยาวต่อมนุษย์ หรือต่อพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นด้วย โดยมีข้อกำหนดในการผลิตจำหน่ายหรือใช้ และ (๓) สารเคมีทั่วไป หมายถึง สารเคมีที่มีข้อมูลการประเมินความเป็นอันตรายเพียงพอว่ามีความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ หากผู้ผลิต / นำเข้า ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ CSCL อาจถูกลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสารเคมีไปญี่ปุ่นควรทำความเข้าใจกับผู้นำเข้าญี่ปุ่นถึงข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษข้างต้นที่จะส่งผลกระทบถึงการส่งออกได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถศึกษารายละเอียดของระเบียบดังกล่าวเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://www.meti.go.jp/policy/chemical_management/english/index.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ