ปภ.เตือนหน้าร้อนนี้...ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน และหมอกควันและไฟป่า

ข่าวทั่วไป Thursday February 24, 2011 12:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--ปภ. จากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า ปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์และสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งสภาพอากาศในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูร้อนจะค่อนข้างแปรปรวน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเป็นลักษณะอากาศของพายุฤดูร้อน และนอกจากในช่วงฤดูร้อนประเทศจะต้องเผชิญกับพายุฤดูร้อนแล้ว หมอกควันและไฟป่านับเป็นภัยอีกประเภทหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูร้อน เพื่อป้องกันอันตรายจากภัยธรรมชาติที่มักเกิดในช่วงฤดูร้อน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีตนปฏิบัติอย่างถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้ พายุฤดูร้อน ก่อนเกิดพายุฤดูร้อน ติดตามรับฟังข่าวพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ หากมีประกาศแจ้งเตือนให้เก็บสิ่งของที่สามารถปลิวไปตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เพิ่มที่ค้ำยันและยึดติดประตู หน้าต่าง หลังคาบ้านให้แน่นหนามากขึ้น หากพบป้ายโฆษณาอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาดำเนินการรื้อถอนหรือปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้และโค่นต้นไม้ที่ไม่แข็งแรงบริเวณรอบบ้านเพื่อป้องกันการโค่นล้มทับบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ขณะเกิดพายุฤดูร้อน เข้าไปหลบในอาคารหรือบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันแรงลมกระแทกประตูหน้าต่างหรือพัดสิ่งของเข้ามาในบ้านเรือน หลีกเลี่ยงการหลบพายุใต้ต้นไม้ ใกล้ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจถูกล้มทับได้ รวมถึงไม่อยู่ใกล้บริเวณวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าและไม่สวมใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ เงิน เป็นต้น งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดบริเวณกลางแจ้งขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่าทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ หมอกควันและไฟป่า ในช่วงฤดูร้อนหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือมักประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและไฟป่าโดยปฏิบัติ ดังนี้ ประชาชน ไม่ประกอบกิจกรรมใดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟป่าและหมอกควัน เช่น เผาขยะมูลฝอยหรือวัชพืช ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนกอหญ้าหรือใบไม้แห้ง เป็นต้น หากจำเป็นต้องจุดไฟ ควรควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด กำจัดขยะมูลฝอย โดยวิธีไถกลบแทนการเผา รวมถึงจัดระบบการจัดเก็บและคัดแยกขยะมูลฝอย เกษตรกร ดูแลพื้นที่การเกษตร โดยหมั่นตัดหญ้าและกิ่งไม้แห้ง ไม่ปล่อยให้มีหญ้าแห้งกองสุมกัน รวมถึงจัดทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไฟลุกลามหากเกิดเพลิงไหม้ ส่วนการเตรียมพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ให้ใช้วิธีไถกลบแทนการเผาหญ้าหรือตอซังข้าว งดเว้นการเผาป่า เพื่อล่าสัตว์และหาของป่า นักท่องเที่ยว เพิ่มความระมัดระวังในการก่อกองไฟในป่า ดับไฟให้สนิททุกครั้ง ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพงหญ้าหรือใบไม้แห้ง เพราะหากเกิดเพลิงไหม้ไฟจะลุกลามเป็นไฟป่าอย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุมสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมอกควันปกคลุมหนาแน่น ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยและแว่นตาทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพื่อลดปริมาณการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย และป้องกันการระคายเคืองตา รวมถึงดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเป็นพิเศษ ส่วนการขับขี่รถในช่วงที่มีหมอกควันปกคลุม ให้เปิดไฟต่ำหรือไฟตัดหมอกจะช่วยให้มองเห็นสภาพเส้นทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน การเรียนรู้วิธีป้องกันและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยจากพายุฤดูร้อน หมอกควันและไฟป่าจะช่วยให้การดำเนินชีวิตในช่วงฤดูร้อนเป็นไปด้วยความปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ