ปภ.แนะเทคนิคการขับรถ ในสถานการณ์ไม่ปกติอย่างปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday August 31, 2005 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ปภ.
ในช่วงที่สภาพอากาศมีความแปรปรวน หรือวิปริต เช่น ลมแรง หมอกลงจัด ฝนตกหนัก น้ำท่วมถนน ล้วนเป็นปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ผู้ขับขี่รถไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ และนับเป็นอุปสรรคต่อการใช้รถใช้ถนน ที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง หากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่รู้วิธีการป้องกันอย่างเพียงพอ ดังนั้น ในวันนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอนำเสนอเทคนิคการขับรถให้ปลอดภัยหากต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้ายดังกล่าว โดยให้ผู้ขับรถปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
กรณีที่เกิดลมพัดแรง
อุบัติเหตุจากลมพัดแรง ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากผู้ขับขี่ตกใจ ควบคุมสติไม่ได้ ส่งผลให้ เหยียบเบรก คันเร่ง หรือหักพวงมาลัยอย่างกะทันหัน หากต้องเผชิญกับภาวะลมแรงจัด อย่าตกใจ พยายามลดความเร็ว และประคองพวงมาลัยไม่ให้สะบัด บังคับทิศทางให้มั่นคง โดยเฉพาะในบริเวณสถานที่ที่มีลมพัดแรงมากๆ เช่น บนสะพาน ทางหุบเขา ปากทางเข้าอุโมงค์ ฯลฯ ให้ลดความเร็วลงล่วงหน้า พร้อมกับจับพวงมาลัย ให้แน่น
กรณีหมอกลงจัด
หากหมอกลงจัดจนไม่สามารถมองเห็นเส้นทางได้ ผู้ขับควรหยุดหรือหาที่จอดรถในที่ๆ ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน รอจนบรรยากาศภายนอกดีขึ้น แล้วจึงค่อยขับต่อไป หากหมอกลงบางเบา สามารถมองเห็นเส้นทางข้างหน้าได้ในระยะที่ไกลพอสมควร ผู้ขับควรเปิดไฟหน้า ไฟตัดหมอก และขับรถอย่างช้าๆ เพื่อให้สามารถหยุดรถได้ตามที่สายตามองเห็น หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น
กรณีฝนตกหนัก
กรณีที่มีฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำท่วมขังอยู่บนพื้นถนน หากขับรถด้วยความเร็วสูง ยางรถจะแทรก
เข้าไปในน้ำ ทำให้ล้อไม่สามารถหมุนได้ แต่จะเคลื่อนไปบนผิวน้ำคล้ายเรือ ภาวะดังกล่าว เรียกว่าไฮดรอพ เรนนิ่ง ซึ่งผู้ขับรถจะรู้สึกว่า พวงมาลัยเบา ทำให้ไม่สามารถเบรก หรือบังคับพวงมาลัยได้ตามต้องการ ดังนั้น จึงควรขับรถด้วยความเร็วต่ำกว่าในภาวะปกติ แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่าหักพวงมาลัยหรือเหยียบเบรกในทันที เพราะจะทำให้รถเกิดการสะบัดอย่างรุนแรงจนเกิดอุบัติเหตุได้ ผู้ขับควรจับพวงมาลัยให้มั่นคง ใช้เกียร์ต่ำ และชะลอความเร็วลงอย่างมีสติ
หากน้ำท่วม
หากน้ำท่วมสูง ถึงขนาดท่วมห้องเครื่อง และจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำท่วมโดยไม่สามารถ หลีกเลี่ยงได้ ยิ่งในกรณีที่ปริมาณน้ำสูงถึงขนาดท่วมห้องเครื่องนั้น ยิ่งเสี่ยงต่อการที่เครื่องยนต์ดับได้มากขึ้น ดังนั้น หากผู้ขับรถจำเป็นต้องขับรถในขณะน้ำท่วมถนน จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ดังนี้
- ก่อนขับรถลุยน้ำ ควรเติมน้ำมันให้เต็มถัง เพราะแรงดันจากน้ำมันจะช่วยอัดไม่ให้เกิดไอน้ำ
ภายในถัง โดยจุดสำคัญที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ คือ ระบบจ่ายไฟทั้งคอยล์ สายไฟ จานจ่ายไฟ และปลั๊กหัวเทียน หากเกิดปัญหากับระบบจ่ายไฟ จะทำให้เครื่องยนต์ดับ ต้องใช้สเปรย์กันความชื้นฉีดป้องกัน เพราะแม้น้ำจะไม่เข้าถึงเครื่องยนต์ แต่ความชื้นจากการลุยน้ำ จะทำให้เกิดไอน้ำเกาะ เป็นต้นเหตุของเครื่องดับได้
- ในขณะขับรถลุยน้ำ ต้องขับช้าๆ อย่างมีสติ สำหรับรถที่ใช้ระบบ พัดลมติดเครื่อง อย่าเร่ง
รอบเครื่องโดยเด็ดขาด เพราะปลายใบพัด อาจวักน้ำกระจายเข้าห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับได้ หากพื้นถนนเป็นดินหรือลูกรัง จะทำให้ลื่นกว่าปกติ ให้แก้ไขโดยถอนคันเร่ง ลดความเร็ว เพื่อลดแรงบิดของล้อ ป้องกันการ ลื่นไถล และช่วยให้ดอกยางเกาะพื้นถนนดียิ่งขึ้น
- หลังจากขับรถลุยน้ำแล้ว ต้องกำจัดน้ำออกจากชิ้นส่วนที่มีน้ำซึมเข้าไป โดยบริเวณที่ต้องดูแล
มากที่สุด คือ ไดสตาร์ท ให้ทำความสะอาดโดยการดับเครื่องยนต์ แล้วสตาร์ทประมาณ 2 — 3 ครั้ง เพื่อรีดน้ำออก หรืออาจใช้วิธีดึงสายคอยล์ออกก่อนสตาร์ท เป็นช่วงๆ ละไม่เกิน 5 วินาที หากหลังจากขับรถลุยน้ำแล้ว ไม่สามารถเข้าเกียร์ได้ แสดงว่า มีน้ำเข้าไปในชุดคลัทซ์ ให้แก้ไขโดย เข้าเกียร์ค้างไว้แล้วสตาร์ททันที หากยัง ไม่ได้ผล ให้ใช้วิธีเข็นลงจาก ที่สูงแล้วค้างเกียร์ไว้ แรงกระชากจะทำให้ชุดคลัทซ์หายเป็นปกติ ตลอดจนต้องตรวจสอบน้ำมันเบรก กระบอกลูกสูบ ลูกยาง ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือไม่
กล่าวได้ว่า ในภาวะอากาศวิปริต ทั้งลมแรง หมอกลงจัด ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมขัง หรือ น้ำท่วมสูง ล้วนเป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การที่ผู้ขับรถเรียนรู้วิธีการขับรถอย่างปลอดภัย และเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถช่วงสถานการณ์แวดล้อมไม่ปกติ หรือวิปริต จะเป็นวิธีการป้องกันอุบัติเหตุที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ขึ้น ผู้ขับรถจะต้องควบคุมสติให้ได้ เพราะการมีสติ จะทำให้สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ--จบ--

แท็ก น้ำท่วม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ