ก.พลังงาน จับมือ ก.สาธารณสุข ส่งเสริมระบบผลิตน้ำร้อนแสงอาทิตย์ และใช้หลอดT5 ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ หวังประหยัด 80 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Thursday March 3, 2011 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--ก.พลังงาน ก.พลังงาน จับมือ ก.สาธารณสุข ติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนแสงอาทิตย์ ให้แก่โรงพยาบาล 150 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 30 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 3,600 ตันต่อปี และส่งเสริมใช้หลอดผอมเบอร์ 5 ในอาคารโรงพยาบาลอีก 256 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 465,000 หลอด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 50 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 8,757 ตันต่อปี นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯครั้งนี้ กระทรวงพลังงานและกระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดสภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการใช้พลังงาน จึงมีเจตนาร่วมกันในการดำเนินโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนในอาคารสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคในสังกัด โดย กระทรวงพลังงานได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมและกำกับดูแลอาคารควบคุมภาครัฐ” ขึ้น สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดให้ทุกกระทรวงร่วมมือในการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานในอาคารควบคุม รวมถึงการให้ผู้บริหารของอาคารภาครัฐทุกแห่ง ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนเตรียมข้อมูล และอำนวยความสะดวกในการสำรวจรวบรวมข้อมูลอุปกรณ์ที่ใช้พลังงาน โดยในส่วนของด้านพลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข ให้การสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนด้วยแผงรับความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่โรงพยาบาลชุมชน จำนวน 70 แห่ง และโรงพยาบาลของรัฐอีก 80 แห่ง รวม 150 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 30 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 3,600 ตันต่อปี และในส่วนด้านการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวให้แก่อาคารควบคุมภาครัฐในทุกกระทรวง โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีอาคารควบคุมรวมทั้งสิ้น 128 แห่ง เป็นอาคารสำนักงาน 7 แห่ง อาคารโรงพยาบาล 121 แห่ง มีการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์รวม 465,000 หลอดซึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นหลอดผอมเบอร์ 5แล้ว จะสามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายได้ 50 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 8,757 ตันต่อปี ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน เกิดผลสัมฤทธิ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพลังงาน จึงได้ร่วมกันกำหนดให้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนาม โดยสาระสำคัญในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ได้แก่ กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) จะฝึกอบรม ให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือบุคลากรของอาคารควบคุมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้สามารถดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน ตามที่กฎหมายการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกำหนดได้อย่างถูกต้องครบถ้วน รวมถึงการสนับสนุนและให้คำปรึกษาแนะนำการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนเพื่อทดแทนการใช้พลังงานสิ้นเปลือง อาทิ การผลิตน้ำร้อนจากแสงอาทิตย์ การผลิตก๊าซชีวภาพ เป็นต้น และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะให้การสนับสนุนในการเปลี่ยนหลอดผอมเดิม เป็นหลอดผอมเบอร์ 5 ให้กับอาคารควบคุมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งร่วมกันกำหนดพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในโรงพยาบาล เพื่อให้เป็นต้นแบบในการขยายผลต่อไป” รมว. พลังงาน กล่าว ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการอนุรักษ์พลังงาน จึงนำแนวคิดการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในโรงพยาบาล โดยนำร่องในโรงพยาบาล ศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 5 แห่ง และในปี 2553 ได้สำรวจข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าของโรงพยาบาล จำนวน 113 แห่ง พบว่า มีการปริมาณการใช้ไฟฟ้ากว่า 52 ล้านกิโลวัตต์/ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายกว่า 219 ล้านบาท/ปี ซึ่งต้องขอขอบคุณกระทรวงพลังงานที่ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนมาสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารควบคุมในส่วนอาคารภาคราชการของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะได้มีการประสานงานการพัฒนาร่วมกันต่อไป” รมว.สาธารณสุขกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ