พม.จับมือ UNDP พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก หวังลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หนุนความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย

ข่าวทั่วไป Wednesday March 9, 2011 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับสำนักโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดการประชุม “โครงการจัดทำข้อมูลตัวชี้วัดด้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็กของประเทศไทย”พร้อมทั้งลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ภายใต้โครงการทุกบ้านปลอดภัยจากความรุนแรง: การสนับสนุนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลตัวชี้วัดด้านความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการระบบข้อมูลฯ ระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน ในการนำไปใช้กำหนดมาตรการต่างๆ ให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยนางศิริรัตน์ อายุวัฒน์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุม ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องอินฟินิตี้ บอลลูม ๒ โรงแรมพูลแมน คิงส์ เพาว์เวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สื่อมวลชน และองค์การระหว่างประเทศ จำนวน ๑๐๐ คน นางศิริรัตน์ อายุวัฒน์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากสภาพสังคม ในปัจจุบัน ส่งผลให้โครงสร้างและวิถีชีวิตของครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป และเกิดปัญหา “ความรุนแรงในครอบครัว”โดยจากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๕๒ สำรวจเฉพาะสตรีที่ถูกทำร้ายร่างกายในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า สตรีที่ถูก ทำร้ายร่างกายมีจำนวน ๓๖๕,๒๓๐ คน หรือร้อยละ ๒.๙ ซึ่งในภาคเหนือมีจำนวนสตรีสมรสถูกทำร้ายร่างกายมากที่สุด และส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย แต่ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล ๒๕๓ แห่ง ในช่วงสองปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้หญิงไทยที่ถูกสามี ทำร้ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กลับมาขอความช่วยเหลือเพียง ๑๙,๐๐๐ ราย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว หรือไม่กล้าบอกใคร โดยลักษณะความรุนแรงที่พบทั่วไป มักเกิดขึ้นทั้งทางร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศและจิตใจ รวมถึงการละเลยทอดทิ้งไม่ดูแล ในขณะที่ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากสามีทำร้ายภรรยานั้น มีลักษณะเป็น "ความรุนแรงสองชั้น" คือ ในครอบครัวที่มีบุตรเห็นพฤติกรรมความรุนแรงที่บิดามารดากระทำโต้ตอบกัน บุตรก็จะตกเป็น "เหยื่อโดยอ้อม”บ่มเพาะนิสัยที่ก้าวร้าวในระดับที่สูงขึ้นทีละขั้นๆ นางศิริรัตน์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลตัวชี้วัดด้านความรุนแรงต่อเด็กและสตรี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยบ่งชี้ถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเด็กและสตรี และการกำหนดนโยบาย การติดตาม และการประเมินผลให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงร่วมกับสำนักโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดโครงการจัดทำตัวชี้วัดฯ และลงนามบันทึกข้อตกลงภายใต้โครงการทุกบ้านปลอดภัยจากความรุนแรงฯ เพื่อรวบรวมและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านความรุนแรงต่อเด็กและสตรีของประเทศไทย โดยแบ่งแผนการดำเนินงานเป็น ๒ ระยะ คือ ในระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๓) พัฒนาตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย ซึ่งสามารถสะท้อนสถานการณ์ด้านความรุนแรงตามความเป็นจริงในสังคม และในระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๔ — ๒๕๕๕) จัดทำรายงาน และจัดทำสื่อรณรงค์ เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านความรุนแรงต่อเด็กและสตรีของประเทศไทย โดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วน ถูกต้อง และสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ