การลงทุนซื้อขายอาคารข้ามประเทศทั่วโลกขยายตัว

ข่าวอสังหา Thursday March 17, 2011 12:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--โจนส์ แลง ลาซาลล์ การลงทุนซื้อขายอาคารที่มีวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ (อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม) ทั่วโลกในปี 2553 ที่ผ่านมา เป็นการซื้อขายข้ามประเทศ (หมายเหตุ 3) มูลค่ารวม 130,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 40% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือ 318,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายงานจากโจนส์ แลง ลาซาลล์ระบุว่า ในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกตกต่ำ การลงทุนซื้อขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ เป็นการซื้อขายภายในประเทศ เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจที่จะลงทุนในตลาดที่ตนเองคุ้นเคยอยู่แล้วมากกว่า แต่ในปี 2553 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนที่มีเงินทุนหนา ได้เริ่มออกหาซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพในต่างประเทศมากขึ้น โดยเน้นประเทศที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีพัฒนาการที่ดีแล้ว และมีความโปร่งใส ส่งผลให้การลงทุนซื้อขายอาคารข้ามประเทศกลับมากระเตื้องขึ้น การซื้อขายอาคารข้ามภูมิภาค (หมายเหตุ 5) ในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 82,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั่วโลก เทียบกับปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่มีมูลค่าการลงทุนซื้อขายอาคารข้ามภูมิภาคสูงสุด คือ 243,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั่วโลกในปีเดียวกัน ภูมิภาคอเมริกา การลงทุนซื้อขายอาคารข้ามภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยในปี 2552 มีมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็น 31,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2553 มีนักลงทุนจากต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาลงทุนทำกำไรระยะสั้นด้วยการซื้อมาขายไป เนื่องจากแรงซื้อในตลาดหลักๆ ของภูมิภาคนี้มีอยู่สูงมาก การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ กลับเข้ามาในภูมิภาคอเมริกาอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 โดยพุ่งเป้าการลงทุนไปที่ตลาดนิวยอร์กและวอชิงตันดีซี ทำให้สินทรัพย์เริ่มมีเหลือขายลดลงและราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่ถึงกระนั้น ยังคงมีนักลงทุนบางรายที่ยินดีสู้ราคา นอกจากนี้ จากการที่สินทรัพย์ที่มีเสนอขายในสองรัฐฯ นี้เริ่มหาได้ยากขึ้น เชื่อว่าในอีกไม่ช้า นักลงทุนจะเริ่มมองหาโอกาสการลงทุนในรัฐฯ อื่นๆ ต่อไป ภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลาง ในปีที่ผ่านมา การลงทุนซื้อขายอาคารข้ามประเทศในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลางในปี 2553 มีมูลค่ารวม 72,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 53% ของการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เทียบกับปี 2552 ซึ่งมีการซื้อขายข้ามประเทศมูลค่า 47,000 ล้านดอลลาร์ อังกฤษเป็นตลาดที่มีมูลค่าการซื้อขายอาคารสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยในปีที่ผ่านมีมูลค่าการซื้อขายรวม 49,000 ล้านดอลลาร์ (รองจากสหรัฐอเมริกา 80,000 ล้านดอลลาร์) ในจำนวนนี้ เป็นการซื้อโดยนักลงทุนจากประเทศอื่นมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มูลค่าการซื้อขายอาคารข้ามประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา คือ 27,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 32% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เทียบกับปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายข้ามประเทศเพียง 17,000 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็น 26% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในปีเดียวกัน คาดว่าในระยะยาว การซื้ออาคารในเอเชียแปซิฟิกโดยนักลงทุนจากต่างภูมิภาคจะมีมูลค่าสูงขึ้นเนื่องจากเอเชียแปซิฟิกกำลังกลายเป็นแหล่งลงทุนสำคัญสำหรับทุนระหว่างประเทศ อาคารสำนักงานเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่นิยม อาคารสำนักงานยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีการลงทุนซื้อขายข้ามภูมิภาคมากที่สุด โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 47,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 58% ของมูลค่าการซื้อขายข้ามภูมิภาคที่เกิดขึ้นทั้งหมด เทียบกับปี 2552 ซึ่งมีมูลค่ารวม 30,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนการซื้อขายอาคารศูนย์การค้าข้ามภูมิภาคในปีที่ผ่านมามีมูลค่าเพิ่มขึ้น 31% จาก 13,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2552 เป็น 17,000 ล้านดอลลาร์ ทางด้านการซื้อขายโรงแรมข้ามภูมิภาค มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 10,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2552 โจนส์ แลง ลาซาลล์คาดว่า อสังหาริมทรัพย์ทั้งสามประเภทนี้ จะยังคงเป็นสินทรัพย์หลักที่นักลงทุนข้ามภูมิภาคให้ความสนใจลงทุนในปีนี้ นักลงทุนหน้าใหม่มาจากมาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย และแคนาดา เป็นที่น่าสังเกตว่า ในกลุ่มประเทศที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ 10 อันดับแรกในปีที่ผ่านมา มีประเทศหน้าใหม่รวมอยู่ด้วย ได้แก่ มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย และแคนาดา ผู้ซื้อจากแคนาดาและมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนประเภทสถาบัน ในขณะที่ผู้ซื้อจากซาอุดิอาระเบียและอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนประเภทบุคคลที่มีฐานะร่ำรวย ประเทศแหล่งเงินทุนข้ามภูมิภาคหน้าใหม่เหล่านี้ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทนที่นักลงทุนจากออสเตรเลีย จีน สเปนและอังกฤษ หมายเหตุ การลงทุนซื้อขายอาคารในที่นี้ หมายถึงการซื้อขายอาคารที่มีวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ (อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม) ไม่นับรวมโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย การซื้อขายทางอ้อมผ่านการซื้อขายหุ้นของบริษัทที่เป็นเจ้าของอาคาร และโครงการก่อสร้าง การลงทุนซื้อขายภายในประเทศ หมายถึงกรณีที่สินทรัพย์ ผู้ซื้อ และผู้ขายอยู่ในประเทศเดียวกัน เช่น เจ้าของอาคารชาวไทย ขายอาคารของตนให้กับผู้ซื้อชาวไทย การลงทุนซื้อขายข้ามประเทศ หมายถึงกรณีที่ผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือทั้งคู่ มาจากประเทศอื่น การซื้อขายข้ามประเทศ อาจเป็นส่วนหนึ่งของการซื้อขายภายในภูมิภาค หรือการซื้อขายข้ามภูมิภาคก็ได้ การลงทุนซื้อขายภายในภูมิภาค หมายถึงกรณีที่สินทรัพย์ ผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มาจากภูมิภาคเดียวกัน เช่น นักลงทุนสิงคโปร์เข้าซื้อสินทรัพย์ในประเทศไทยจากชาวไทย หรือนักลงทุนสิงคโปร์เข้าซื้อสินทรัพย์ในประเทศไทยต่อจากนักลงทุนฮ่องกง การลงทุนซื้อขายข้ามภูมิภาค หมายถึงกรณีที่ผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มาจากต่างภูมิภาคกัน เช่น กองทุนสหรัฐฯ เข้าซื้อสินทรัพย์ในประเทศไทย หรือกองทุนสิงคโปร์เข้าซื้อสินทรัพย์ในประเทศไทยต่อจากกองทุนสหรัฐฯ มูลค่าการซื้อขาย คำนวณในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตามอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในแต่ละไตรมาสที่ธุรกรรมการซื้อขายเกิดขึ้น กองทุนระหว่างประเทศ หมายถึงกองทุนที่ลงทุนในหลายๆ ภูมิภาค โจนส์ แลง ลาซาลล์ โจนส์ แลง ลาซาลล์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค เป็นบริษัทบริการมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยให้บริการที่ครบวงจรโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกแก่ลูกค้าที่ต้องการคุณค่าสูงสุดจากการเป็นเจ้าของ ใช้ประโยชน์หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2553 โจนส์ แลง ลาซาลล์มีรายได้ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 2.9 พันล้านดอลลาร์ จากการให้บริการแก่ลูกค้าใน 1,000 เมืองของ 60 ประเทศ ผ่านสำนักงาน 185 สาขา ในส่วนของบริการด้านบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ โจนส์ แลง ลาซาลล์มีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการทั่วโลกรวมมากกว่า 158 ล้านตารางเมตร ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ วินัย ใจทน 02 624 6540 winai.jaiton@ap.jll.com www.joneslanglasalle.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ