นักฟิสิกส์ ม.อ.เตือนอย่าตระหนกสารกัมมันตภาพรังสีเกินเหตุ มั่นใจระบบตรวจวัดการปนเปื้อนในอาหารของไทยได้มาตรฐาน

ข่าวทั่วไป Tuesday March 22, 2011 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ นักฟิสิกส์ ม.อ. เตือนคนไทยไม่ต้องวิตกกังวลกับการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นเกินเหตุ ชี้ไทยมีมาตรฐานการตรวจวัดรังสีปนเปื้อนอาหารในระดับโลก พร้อมแนะประชาชนอย่าตื่นตระหนกการแพร่กระจายกัมมันตภาพรังสีในอากาศ เผยทิศทางลมพัดออกทะเลแปซิฟิกไปทางแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกามากกว่า แต่ยอมรับหวั่นอนาคตหากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ กัมมันตภาพรังสีจะฟุ้งกระจายทั่วโลก ผลกระทบจากเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในประเทศญี่ปุ่น หลังได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ โดยมีข่าวลือว่าประเทศไทยจะได้รับอันตรายจากสารกัมมันตภาพรังสีจากฟุ้งกระจายในอากาศและปนเปื้อนในอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่นนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัช ชิตตระการ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ประชาชนคนไทยอย่าได้วิตกกังวลกับสถานการณ์สารกัมมันตภาพรังสีในประเทศญี่ปุ่นมากนัก โดยเฉพาะประเด็นที่มีความกังวลว่าจะมีสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนจากญี่ปุ่นที่นำเข้ามาในไทยนั้น ซึ่งแม้มีความเป็นได้ แต่ทั้งญี่ปุ่นและประเทศไทยก็มีระบบในการตรวจสอบหาสารปนเปื้อนที่มากับอาหารที่มีมาตรฐานสูงและได้รับการยอมรับในสากล ที่คอยเฝ้าระวังในเรื่องดังกล่วอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมีข้อกังวลก็สามารถนำอาหารไปตรวจสอบได้ที่หน่วยวิจัยฟิสิกส์นิวเคลียร์ ภาควิชาฟิสิกส์ ของมหาวิทยาลัยหลักๆ ได้ ส่วนกรณีการแพร่กระจายของสารกัมมันตภาพรังสีในอากาศนั้น ขึ้นอยู่กับแรงระเบิดของเตาปฏิกรณ์ว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด และขึ้นอยู่กับทิศทางและกระแสลมที่จะพัดฝุ่นกัมมันตรังสีเหล่านี้ไปในทิศททางใด ซึ่งจากการทำแบบจำลองเบื้องต้นมีโอกาสที่จะพัดข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังฝั่งตะวันตกของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า แต่หากเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็อาจทำให้ฝุ่นจากกัมมันตภาพรังสีจะฟุ้งกระจายไปได้ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เพื่อเฝ้าระวังการแพร่กระจายของสารกัมมันตภาพรังสีในอากาศนั้น ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารจากสำนักปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณรังสีในอากาศ 8 แห่งทั่วภูมิภาคของประเทศ ที่มีการรายงานผลผ่าน www.oaep.go.th และในช่วงนี้หากจำเป็นต้องเดินทางไปญี่ปุ่นก็ควรเลี่ยงการเดินทางไปในรัศมี 100 กิโลเมตรจากที่ตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และจะต้องรับประทานโพตัสเซียมไอโอไดน์ (KI) ชนิดเม็ด ขนาด 65 มิลลิกรัมหรือ 130 มิลลิกรัมและหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝุ่นกัมมันตภาพรังสีด้วย ส่วนประชาชนคนไทยที่กลับจากประเทศญี่ปุ่นนั้น จะต้องผ่านการวัดปริมาณรังสีทั้งร่างกาย และหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะต้องได้รับ I-131 เข้าสู่ร่างกาย และควรพักแยก และไม่ควรพบครอบครัวหรือญาติประมาณ 1-2 อาทิตย์ เพื่อป้องกันบุคคลใกล้ชิดได้รับสารกัมมันตภาพรังสี “คนไทยอย่าได้วิตกมากเกินเหตุ กับการแพร่กระจายของฝุ่นกัมมันตภาพรังสีในอากาศหรือที่ปนเปื้อนมากับอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่น เนื่องจากไทยมีความพร้อมและระบบในการตรวจวัดสารกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนมาในอาหารหรือในอากาศที่ได้รับการยอมจากสากล ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนคนไทยว่า มีความปลอดภัยและจะไม่ได้รับอันตรายจากสารกัมมันตภาพรังสีในครั้งนี้” รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชกล่าว เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ :พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร: 0-2248-7967-8 ต่อ 118 e-mail : c_mastermind@hotmail.com หรือ kongwong91@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ