อิมแพ็คจับมือออกาไนซ์เซอร์สิงคโปร์ปูทางแสดงสินค้า เทคโนโลยีบำรุงอาคาร ต่อยอดธุรกิจกับโครงการอาคารเขียว

ข่าวอสังหา Thursday March 24, 2011 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์ อิมแพ็คจับมือออกาไนซ์เซอร์สิงคโปร์ปูทางแสดงสินค้า เทคโนโลยีบำรุงอาคาร ต่อยอดธุรกิจกับโครงการอาคารเขียวในงาน BMAM EXPO ASIA 2011 และ GBR EXPO ASIA 2011 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้น ร่วมกับ CMC Exhibition Services Pte Ltd. จากสิงคโปร์ เตรียมงานใหญ่เดือนกันยายน แสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมสัมมนาด้านการบำรุงรักษาอาคารและการบริหารจัดการทรัพยากรอาคารแห่งเอเชีย ครั้งที่ 4 (Building Maintenance & Asset Management Expo Asia 2011 : BMAM EXPO ASIA 2011) และงานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ด้านการก่อสร้างและต่อเติม อาคารสีเขียวแห่งเอเชีย (Green Building & Retrofits Expo Asia 2011 : GBR EXPO ASIA 2011) คาดจะเปิดมิติใหม่และต่อยอดให้กับภาคธุรกิจไทยในอนาคต นางสาวพรพรรณ บุลเนอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้น จำกัด เปิดเผยว่าที่ผ่านมาอิมแพ็คได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม เห็นได้จากการตอบรับเข้ามาจัดงานในอิมแพ็คของนานาประเทศทั่วโลก ล่าสุดอิมแพ็คได้ร่วมกับ บริษัท CMC Exhibition Services Pte Ltd. จากประเทศสิงคโปร์ จัดงานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมสัมมนาด้านการบำรุงรักษาอาคารและการบริหารจัดการทรัพยากรอาคารแห่งเอเชีย ครั้งที่ 4 (Building Maintenance & Asset Management Expo Asia 2011 : BMAM EXPO ASIA 2011) และงานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ด้านการก่อสร้างและต่อเติม อาคารสีเขียวแห่งเอเชีย (Green Building & Retrofits Expo Asia 2011 : GBR EXPO ASIA 2011) อิมแพ็คได้เล็งเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านพลังงานส่งผลให้ต้นทุนด้านการจัดการในอาคารในภูมิภาคอาเซียนสูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจมีความต้องการพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการอาคารและสถานที่มากยิ่งขึ้น งาน BMAM EXPO ASIA 2011จึงพร้อมที่จะตอบโจทย์ด้วยการให้ความใส่ใจและเน้นย้ำโดยครอบคลุมไปตั้งแต่ในเรื่องของเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อเจ้าของและผู้บริหารอาคาร การบริการด้านงานบริหารจัดการ และเทคโนโลยีทางด้านงานบำรุงรักษาอาคารและสถานที่ การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน การบำรุงรักษาโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์(CMMS) สุขภาพและความปลอดภัยของผู้อาศัยภายในอาคาร การจัดการด้านอสังหาริมทรัพย์ ระบบอาคารอัฉริยะ และ ระบบความปลอดภัยในอาคาร ส่วนงาน GBR EXPO ASIA 2011 จะเน้นแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการเป็นตลาดธุรกิจใหม่ เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างที่มุ่งเน้นกลุ่มตลาดสินค้าและเทคโนโลยี ด้านการก่อสร้างและต่อเติม อาคารสีเขียวทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของตลาดธุรกิจนี้ต่อไป โดยผู้เข้าชมงานสามารถร่วมรับฟังข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อแบ่งปัน ความคิดวิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนทัศนคติของแนวโน้มทางธุรกิจ ความท้าทายในการบริหาร นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเพื่อขยายเครือข่าย และสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจอีกด้วย “นอกจากการคัดสรรเอ็กซิบิเตอร์ที่โดดเด่น อิมแพ็คยังสนับสนุนการจัดแสดงงานที่มีนวัตกรรมและโซลูชั่นใหม่ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดองค์ความรู้ ประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาที่หลากหลายและยั่งยืนในประเทศไทย เชื่อว่าสิ่งที่เอ็กซิบิเตอร์นานาชาติยอมรับก็คือศักยภาพด้านการบริหารจัดการพื้นที่ของเรารวมไปถึงการขยายงานในส่วนต่างๆ เพื่อรองรับงานในอนาคต โดยสิ่งที่เราเล็งเห็นจากงานนี้นั่นคือ การเป็นแหล่งรวมเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนในอนาคตนั่นเอง” นางสาวพรพรรณ กล่าว ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะกรรมการบริหาร สถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้พูดเรื่องนี้มากว่า 20 ปีแล้วแต่ด้วยปัจจัยหลายประการทำให้ยังไม่ได้ให้ความร่วมมือที่สอดคล้องกันเท่าไหร่ บทบาทของสถาบันคือการจัดทำเกณฑ์และคู่มืออาคารเขียวที่เหมาะสมสำหรับบริบทของเมืองไทย อบรมให้ความรู้สาธารณชน โดยเน้นการมีส่วนปลุกกระแสอาคารเขียวในประเทศ โดยเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลมาตรฐานการออกแบบจากแหล่งต่างๆ และกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาคารเขียว รวมทั้งการสร้างกลไกรองรับ นั่นก็คือสร้างทั้งดีมานด์ และ ซัพพลายให้แก่ตลาด และขับเคลื่อนไปพร้อมกัน สำหรับปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญเมื่อต้องเข้าสู่กระแสการแข่งขัน นั่นคือการขาดแคลนบุคลากรและองค์ความรู้อย่างรุนแรง ต้องนำเข้าองค์ความรู้ มาตรฐาน เทคนิควิธี รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผลลัพธ์ก็คือค่าใช้จ่ายสูง หาจุดคุ้มทุนได้ยาก ผู้ที่ยอมลงทุนทำอาคารเขียวจึงมักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่อาคารเขียวสำหรับผู้บริโภคทั่วไปยังไม่เกิดขึ้น ในขณะที่สหรัฐอมริกาตลาดอาคารเขียวสำหรับผู้บริโภคทั่วไปได้เกิดขึ้นแล้ว และพบว่าขายได้จริงเพราะประชาชนของเขามีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าในประเทศไทย “ประโยชน์ที่เจ้าของอาคารได้รับขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของเป็นใคร หากเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ก็จะได้ภาพลักษณ์ที่ดี หากเจ้าของอาคารเป็นผู้สร้างอาคารให้เช่า ก็จะได้กลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศที่ต้องการภาพลักษณ์ของการรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งทั้งนี้กลไกราคา และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะหากไม่มีดีมานด์จาก End Users ผู้ที่เป็นคนจ่ายเงินซื้อบ้านหรืออาคาร อาคารเขียวก็จะเกิดได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกค้าไม่เห็นความสำคัญว่า อาคารเขียวทำให้อยู่สบาย และประหยัดค่าใช้จ่ายจริงๆ และคุ้มค่าในระยะยาว” ผศ.ดร.อรรจน์ ยังให้แง่คิดอีกว่ามีองค์กรขนาดใหญ่ของไทยหลายองค์กรที่มีอาคารที่ทำการมากมาย ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ กำลังเล็งเห็นความสำคัญของการปรับปรุงอาคารให้เขียวตามเกณฑ์อาคารเขียวไทย เพราะปัจจุบันนี้ก็ถึงเวลาที่อาคารเหล่านั้นต้องทำการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา และตามเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งในฐานะที่สถาบันอาคารเขียวไทยเพิ่งได้รับการก่อตั้งขึ้น ก็จะประสานความร่วมมือกับองค์กรเหล่านั้นในการใช้อาคารเป็นกรณีศึกษาเพื่อทดสอบเกณฑ์ที่ได้ร่างกันขึ้นมา รวมทั้งผลที่ได้ก็จะสามารถนำไปเป็นตัวอย่างให้แก่อาคารอื่นๆ อีกด้วย ด้านคุณวิจารณ์ ตันติธรรม วิศวกรโยธาชำนาญพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าปัจจุบันการใช้พลังงาน ทรัพยากร และผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากกว่า 70-80 % มาจากกิจกรรมสำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านอาหาร ด้านการก่อสร้างรวมทั้งการใช้สอยอาคาร และด้านการขนส่ง การก่อสร้างและใช้สอยอาคารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม ทรัพยากรในประเทศไทยเสื่อมโทรมลงทุกวัน ความมั่งคั่งที่เดิมเคยมีกำลังจะกลายเป็นอดีต จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกคนในประเทศต้องช่วยกันรักษา พัฒนา ให้มีการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างยั่งยืน อาคารเขียวเป็นแนวทางหนึ่งที่มีผลมากในการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เครื่องมือหรือสิ่งสนับสนุนให้เกิดอาคารเขียวจากทั้งภาครัฐและเอกชนมี 4 ด้านประกอบกันคือ การสนับสนุนด้านการเงิน วิชาการ กฎหมาย และการสนับสนุนด้านกิจกรรมสร้างคุณค่าร่วม ที่เป็นพลังทางสังคม ที่ช่วยชักจูงรณรงค์ขยายแนวคิดที่ดี ที่รับผิดชอบต่อสังคมให้นำไปปฏิบัติจริงมากขึ้น ทั้งนี้คาดหวังว่าหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดควรจะจับมือกันพัฒนาโครงการอาคารเขียวตลอดวงจรอายุอาคาร (life cycle) คือ เริ่มตั้งแต่ผลิตและจัดหาวัสดุ อุปกรณ์อาคาร การออกแบบ ก่อสร้าง ใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา ไปจนถึงการรื้อทำลาย โดยเฉพาะส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงนั้น คาดหวังให้มีการเริ่มต้น วิจัยพัฒนานโยบายร่วมกันเพื่อการสนับสนุนที่จะทำให้เกิดอาคารเขียวอย่างยั่งยืน “อาคารเขียวอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนส่วนมาก เป็นอุปสรรคในขั้นต้นที่ทำให้ขาดการสนับสนุนจากภาคส่วนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่ทราบถึงประโยชน์และความสำคัญ หรือแม้กระทั่งข้อโต้แย้งที่เข้าใจผิดว่าอาคารเขียวคืออาคารประเภทอาคารอัจฉริยะที่มีค่าใช้จ่ายสูงไม่เหมาะกับประเทศที่กำลังพัฒนามีทุนน้อยเช่นประเทศไทย ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเหล่านี้ต้องการการทำความเข้าใจ ต้องการความร่วมมือจากผู้ที่เข้าใจถึงประโยชน์ช่วยกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน” คุณวิจารณ์กล่าวทิ้งท้าย สำหรับหน่วยงานหรือท่านใดที่ต้องการซื้อพื้นที่บู๊ธเข้าร่วมแสดงในงาน BMAM EXPO ASIA 2011 และ งาน GBR EXPO ASIA 2011 ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2554 ณ อาคาร 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลได้ที่คุณอาจิณเวท วงศ์ทอง อีเมล์ ajinveatv@impact.co.th หรือ www.maintenance-asia.com และ www.greenbuilding-asia.com หมายเลขโทรศัพท์0-2833-5210 โทรสาร 0-2833-5127-9 และยังสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.maintenance-asia.com และเว็บไซต์ www.greenbuilding-asia.com หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : คุณสุรีย์พร สื่อสกุล (ตุ้ย) บริษัท ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด โทรศัพท์ : 02-525-3231 โทรสาร : 02-968-9720 e-mail : todaytion@yahoo.com
แท็ก สิงคโปร์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ