บทความ: 10 วิธีเตรียมรถพร้อมลุยเที่ยวช่วงสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2011 10:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน เมษายนคงเป็นเดือนโปรดของใครหลายๆ คน เพราะมีวันหยุดยาวเพียบทั้งวันจักรีและวันสงกรานต์ นอกจากวางแผนสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว จองโรงแรม วางโปรแกรมเดินทาง และเลือกชุดสวยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการเตรียมรถให้พร้อมลุย โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าน้ำมันสูงจนไมเกรนขึ้นแบบนี้ การตรวจสภาพรถก่อนขับจะช่วยให้คุณสาวๆ สามารถขับรถปลอดภัย และยังมีเงินเหลือไปช้อปปิ้งกันต่อได้ เรามีทิปส์ง่ายๆ 10 ประการ จากฟอร์ด ประเทศไทย สำหรับทั้งนักขับมือใหม่และมือเก่ามาบอกต่อ 1. สละเวลาเล็กน้อยทำความเข้าใจกับเครื่องยนต์ของรถคุณสักนิด อาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่อย่างน้อยคุณควรจะรู้หลักง่ายๆ โดยเฉพาะการเช็คระดับน้ำและน้ำมันเครื่อง 2. เช็คที่กรองอากาศเพราะรถก็ต้องการอ๊อกซิเจนเช่นกัน หากที่กรองอากาศสกปรก รถคุณจะวิ่งได้ไม่เต็มที่แถมยังเปลืองน้ำมัน การวิจัยพบว่าหากเปลี่ยนที่กรองอากาศที่สกปรกออก คุณจะประหยัดน้ำมันได้ถึง 8% ของหนึ่งถังเลยทีเดียว 3. ยางรถยนต์เป็นหัวใจของความปลอดภัย คุณควรเช็คลมยางให้เรียบร้อยอีกครั้งก่อนออกเดินทาง โดยดูปริมาณลมยางที่เหมาะสมจากคู่มือที่มากับรถ นอกจากนั้นยังควรเช็คดอกยาง และลมของยางสำรองเผื่อไว้ด้วย 4. ตรวจดูไฟรถให้พร้อม โดยเฉพาะทริปที่ต้องมีการเดินทางตอนกลางคืน ทั้งไฟหน้า ไฟท้าย ไฟตัดหมอก ไฟสูง ไฟเบรก และไฟฉุกเฉิน โดยอาจจะให้เพื่อนยืนอยู่นอกรถเพื่อเช็คความเรียบร้อย 5. ควรเช็คที่ปัดน้ำฝนให้พร้อมเพราะรถคุณต้องพร้อมเผชิญกับทั้งน้ำและแป้งตลอดเทศกาลสงกรานต์ คุณไม่จำเป็นต้องซื้อน้ำยาราคาแพง แค่น้ำยาล้างจานสองสามหยดผสมกับน้ำเปล่าก็เพียงพอแล้ว และสามารถสังเกตสภาพยางของที่ปัดน้ำฝนได้ง่ายๆ หากที่ปัดน้ำฝนของคุณทำให้เกิดรอยจางๆ บนกระจก นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณควรเปลี่ยนได้แล้ว 6. เบรกเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณต้องเช็ค สัญญานของปัญหาที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ เหยียบแล้วเบรกไม่นิ่งแต่มีอาการกระเด้ง นิดหน่อย เหยียบเบรกแล้วรถเบนไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีเสียงแปลกๆ 7. โช้คอัพเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับความปลอดภัยในการขับรถ แน่นอนว่าเราไม่แนะนำให้คุณพยายามเปลี่ยนโช้คเอง แต่คุณควรจะสามารถเช็คได้ว่าโช้คอยู่ในสภาพดีหรือไม่ โดยให้คนที่แข็งแรงออกแรงกดรถทีละด้าน หากรถคืนตัวเป็นจังหวะเดียวแสดงว่าโช้คยังอยู่ในสภาพดี แต่หากรถกระดกขึ้นลงหลายทีก่อนจะหยุด คุณควรจะนำรถไปให้ช่างตรวจสอบ 8. คุณไม่จำเป็นต้องพกรองเท้าให้ครบทุกสีทุกวัน เราแนะนำให้คุณเอาหนังสือ รองเท้า ไม้กอล์ฟ หรือของใช้ที่ไม่จำเป็นออกบ้าง ถ้าหากคุณใส่ของในรถ 48 กิโล รถของคุณจะกินน้ำมันมากขึ้นถึง 2% เลยทีเดียว 9. เตรียมชุดปฐมพยาบาลและไฟฉายไว้เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน 10. เตรียมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินต่างๆ ไว้เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างน้อยคุณควรจะมีเบอร์ของตำรวจทางหลวง (1193) ศูนย์อุบัติเหตุบนทางด่วน (1543) สถานีวิทยุ จส. 100 (1137) สถานีวิทยุสวพ. 91 (1644) แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย (191) และบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน ทั่วประเทศ 24 ชั่วโมงจากฟอร์ด (Ford Roadside Assistance) ที่เบอร์ 1800-222-000 หรือ 1401-222-000 หากการเตรียมเช็ครถที่เราแนะนำมาข้างต้นฟังดูเหมือนภาษาต่างดาวสำหรับคุณ สิ่งง่ายๆ ที่คุณทำได้ คือนำรถเข้าตรวจสอบและเช็คสภาพก่อนออกเดินทางที่ศูนย์บริการใกล้บ้าน เพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะท่องเที่ยวได้สนุก ราบรื่น และปลอดภัยตลอดเส้นทาง ข้อมูลและรูปภายโดยฟอร์ด ประเทศไทย จริงหรือไม่ ความเชื่อที่บอกเล่าต่อๆ กันมาดูน่าเชื่อถือ แต่อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เช่น - ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ สามเดือน เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะน้ำมันเครื่องไม่ได้หมดเร็วขนาดนั้น คุณควรเช็คระยะเวลาที่เหมาะสมในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องในคู่มือรถของคุณ - หากอากาศหนาวควรวอร์มเครื่องก่อนออกรถ ไม่ใช่เรื่องจริง เครื่องยนต์จะวอร์มตัวขณะขับ การสตาร์ทเครื่องไว้เฉยๆ จะมีแต่กินน้ำมัน - ควรเลือกเติมน้ำมันที่มีค่าอ๊อกเทนสูง เป็นความคิดที่ผิด หากรถคุณไม่ได้ใช้รถที่ออกแบบมาพิเศษสำหรับน้ำมันที่มีอ๊อคเทนสูง การเติมน้ำมันแบบนั้นจะทำให้เสียเงินมากขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ คุณควรเติมน้ำมันตามที่คู่มือรถแนะนำ - ตัวเลขข้างลมยางเป็นปริมาณลมยางที่เหมาะสม ไม่ใช่ความจริงอีกเช่นกัน ส่วนใหญ่ตัวเลขนั้นมีไว้เพื่อบอกปริมาณลมสูงสุดที่คุณเติมได้ โดยทั่วไประดับลมยางที่เหมาะสมจะติดอยู่บริเวณที่จับด้านในประตู แต่เพื่ดให้แน่ใจคุณควรเช็คคู่มือรถอีกที - เติมน้ำมันตอนเช้าจะประหยัดกว่า หากมีคนมาบอกคุณว่าตอนเช้าน้ำมันจะเย็นและมีความหนาแน่นเข้มข้นมากกว่า การเติมน้ำมันตอนเช้าจะทำให้คุณได้น้ำมันมากกว่า บอกได้เลยว่าไม่จริง เพราะน้ำมันนั้นถูกเก็บไว้อย่างดีใต้ดินและจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากอากาศหรือแสงแดด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ