“โรคไต” ไม่ใช่ “โรคตาย”.....เรียนรู้สู้โรคไต ล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ ทางเลือกเพิ่มชีวิตอิสระให้ผู้ป่วยไตวาย

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2011 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.-- สมัยก่อนคนส่วนใหญ่มักคิดว่าโรคไต คือ โรคตาย เพราะในบรรดาโรคร้ายเรื้อรัง ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “โรคไตวายเรื้อรัง” คือโรคร้ายที่ติดอันดับต้นๆ โรคหนึ่ง เนื่องเพราะผู้ป่วยต้องฟอกเลือดหรือล้างไตเพื่อบำบัดทดแทนไตไปตลอดชีวิต แม้ผู้ป่วยจะมีความหวังที่จะหายขาดจากโรค และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติด้วย “การผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่” แต่ก็ดูจะเป็นความหวังที่ริบหรี่ ด้วยเพราะแต่ละปีมีผู้บริจาคไตน้อยมาก ขณะที่มีผู้ป่วยเข้าคิวรอเปลี่ยนไตอีกมากมายเหลือเกิน จากตัวเลขสถิติ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตเพียง 300 ราย ซึ่งหากเทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิตในปีหนึ่งๆ ที่มีมากกว่า 15,000 รายแล้วถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ขณะเดียวกันอัตราการเกิดของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่สืบเนื่องจากการที่คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคร้ายเหล่านี้ล้วนแต่มีโอกาสได้รับโรคไตวายเรื้อรังเป็นของแถม หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีพอ อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.นพ. ธนิต จิรนันท์ธวัช ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต หน่วยโรคไต โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ไม่อยากให้ผู้ป่วยโรคไตท้อแท้คิดว่าตนอาจจะเสียชีวิตในอีกไม่นาน และคงไม่มีเงินค่ารักษา เพียงแค่ได้เคยได้ยินคนอื่นๆเล่ามา เพราะจะทำให้หดหู่ ท้อแท้ในชีวิต และจะส่งผลให้ไม่มีกำลังใจในการดูแลตัวเอง ทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่กว่าสภาพร่างกายเสียอีก ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถมีชีวิตยืนยาวได้หากได้รับการบำบัดทดแทนไตอย่างถูกวิธี อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สามารถเบิกได้ตามสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ประกันสังคม รวมถึงโครงการ 30 บาทด้วย ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ป่วยโรคไตเรียนรู้ที่จะสู้และอยู่กับโรคไตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หนทางรักษาก็คือ การบำบัดทดแทนไต หรือการล้างไต ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และ การล้างไตทางช่องท้อง โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีข้อดีคือผู้ป่วยไม่ต้องทำเอง แต่มีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยยังอยู่ในวัยทำงาน ชีวิตขาดอิสระ เพราะต้องเดินทางไปยังศูนย์ไตเทียมเพื่อฟอกเลือดทุกสัปดาห์ๆละ 2-3 ครั้งตลอดชีวิต และผู้ป่วยยังจำเป็นต้องจำกัดน้ำและเกลือโดยเคร่งครัด ส่วนการล้างไตทางช่องท้อง จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย เพราะเป็นการล้างไตผ่านเยื่อบุช่องท้อง ผู้ป่วยหรือญาติสามารถทำได้เองที่บ้าน โดยใส่น้ำยาล้างไตเข้าทางช่องท้อง แช่น้ำยาทิ้งไว้ 4 ชั่วโมง น้ำยาล้างไตจะทำหน้าที่รับของเสียจากเลือดที่กรองผ่านเยื่อบุช่องท้อง แล้วถ่ายน้ำยาล้างไตเก่าทิ้งไป วนรอบเช่นนี้วันละ 4-5 รอบ ทำให้ร่างกายสามารถขับของเสียออกได้อย่างต่อเนื่อง คล้ายกับการกำจัดของเสียในคนที่ไตปกติซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา ในระหว่างทำผู้ป่วยสามารถทำงานอื่นๆได้ ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติทั่วไป ลดข้อจำกัดเรื่องเวลาในการเดินทางไปพบแพทย์ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ได้รับตามสิทธิอีกด้วย โดยผู้ป่วยหรือญาติสามารถเรียนรู้ขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ ได้พัฒนาการล้างไตทางช่องท้องโดยใช้เครื่องอัตโนมัติ ผู้ป่วยสามารถทำการล้างไตได้เองที่บ้านวันละหนึ่งครั้งก่อนนอน ลดโอกาสการติดเชื้อจากการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาวันละหลายๆครั้ง โดยเครื่องล้างไตจะทำงานในขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับ วิธีนี้สะดวกเพียงแค่ต่อสายเข้ากับเครื่องล้างไตก่อนเข้านอน เครื่องอัตโนมัติจะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตให้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ สะดวกและช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอิสระมากขึ้นกว่าเดิมมาก โดยผู้ป่วยสามารถมีกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติในช่วงกลางวัน นายอัมพร มีชัย ครูชาวกาฬสินธุ์ วัย 56 ปี กล่าวว่า ตนเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยท้อแท้และคิดว่าโรคไต คือ โรคที่เป็นแล้วตายสถานเดียว โดยป่วยเป็นโรคไตวายจากโรคเกาท์ที่เป็นอยู่นาน 12 ปี เพิ่งมารู้ว่าเป็นโรคไตเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา คุณหมอบอกว่าไตเหลือการทำงานเพียง 20% ช่วงแรกฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมอยู่ 4-5 เดือน ต้องเดินทางไปฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ลำบากมาก เพราะระยะทางไปกลับศูนย์ฟอกไตร่วม 100 กิโลเมตร ต้องข้ามจากอำเภอหนองกุงคีรี (จ.กาฬสินธุ์) เพื่อไปที่ศูนย์ฟอกไตอำเภอสหัสขันต์ ต้องข้ามแม่น้ำ ต้องเอารถลงแพ บางวันฝนตกหนักลำบากมากๆ เดินทางตั้งแต่ 8 โมงเช้า กว่าจะเสร็จกลับถึงบ้านก็ 6 โมงเย็น แม้ว่าจะเบิกค่ารักษาได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละเดือนสูงมาก อีกทั้งงานสอนหนังสือก็ไม่ได้ทำ จิตใจเราก็ยิ่งแย่ลง ร่างกายก็ทรุดโทรมลง อ่อนเพลีย บางครั้งก็มีการติดเชื้อจากการฟอกเลือดตามมา ช่วงนั้นรู้สึกท้อแท้และหมดกำลังใจที่จะสู้ แต่วันนี้ผมไม่รู้สึกว่าโรคไตน่ากลัวแล้ว เราสามารถเรียนรู้ที่จะสู้ และอยู่กับมันอย่างมีความสุขได้ โดยปัจจุบันคุณหมอแนะนำให้บำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ ผมทำได้เองที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์ฟอกไต เครื่องจะทำงานตอนที่ผมนอนหลับ กลางวันก็ไปสอนหนังสือได้ตามปกติ คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ทำให้ผมมีความหวังที่จะต่อสู้กับโรคนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามคุณอัมพรฝากเตือนว่า แม้ว่าทางการแพทย์จะมีการพัฒนาไปมากเพียงใดก็ตาม แต่ทุกคนควรใส่ใจดูแลสุขภาพ ป้องกันการเกิดโรคภัยต่างๆ จะดีกว่าการรักษา อาหารก็ควรหลีกเลี่ยงรสเค็มจัด หลีกเลี่ยงการกินยาที่มีผลเสียต่อไต และต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะได้ห่างไกลโรคไต เนื่องจากโรคนี้ถ้าเป็นแล้วจะทรมานมากและไม่อยากให้ใครเป็นอีก สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คุณบุษบา สุขบัติ (บุษ) โทร 02 718 3800-5 ต่อ 141

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ