TMB Analytics ชี้อุ้มน้ำมันทำไทยขาดประสิทธิภาพทางพลังงาน แนะใช้ Crawling Peg

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics ชี้มาตรการอุ้มราคาน้ำมันส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันขาดประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน แนะลอยตัวผ่านนโยบาย Crawling Peg บนราคาน้ำมันมาตรการตรึงราคาน้ำมันเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการลดภาระค่าครองชีพของผู้ผลิตและประชาชนที่มีประสิทธผลพอสมควรในระยะสั้น ทว่าเป็นมาตรการที่ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลกที่ความต้องใช้น้ำมันมีมากเกินศักยภาพการผลิตในระยะยาว ดังนั้นนี่จะไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่มาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อพยุงราคาค้าปลีกน้ำมันมาตรการตรึงราคาน้ำมัน ตัวบั่นทอนโอกาสพลังงานทางเลือก ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น นโยบายตรึงราคาจะถูกนำมาใช้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นต้องปรับตัว ดังนั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นเศรษฐกิจที่ครบถ้วนไปด้วยทรัพยากรและพืชพลังงานหลากหลายชนิด แต่ความต้องการพลังงานทางเลือกที่มีไม่เพียงพอ ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนภาคเอกชนขาดโอกาสที่จะเติบโตและลงหลักปักฐานอย่างแข็งแกร่งได้ แนวโน้มราคาพลังงานยังคงเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทันทีที่ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศทางแถบตะวันออกกลางปะทุขึ้น ราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้าสถานการณ์ทวีความรุนแรงและส่งผลกระจายไปสู่ประเทศข้างเคียงอย่างประเทศซาอุดิอาระเบียที่เป็นเจ้าของน้ำมันสำรองกว่า 1 ใน 4 ของน้ำมันสำรองทั้งโลก ความกังวลก็จะยิ่งทวีคูณ ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับน้ำมันดิบโอมานที่ประเทศไทยนำเข้า ปรับตัวมาแตะระดับ 115 เหรียญต่อบาเรล แม้จะยังต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 145 เหรียญต่อบาเรลในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 แต่แนวโน้มก็ยังเป็นขาขึ้นและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ การตรึงราคาน้ำมันจึงเป็นมติเร่งรัดจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งปัจจุบันมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลอย่างเข้มงวดไว้ที่ 30 บาท/ลิตร ผ่านการแทรกแซงของกองทุนน้ำมันโดยปรับอัตราเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2553 แล้วรวม 9 ครั้งหรือเป็นเม็ดเงินถึงกว่า 12,000 ล้านบาท คิดเป็นเงินเทียบเท่ากับการสร้างรถไฟฟ้า BTS จากสถานีสยามถึงหมอชิตเลยทีเดียว จากการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics พบว่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่ด้อยกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ โดยวัดจากปริมาณการใช้น้ำมัน (จำนวนบาร์เรล) เพื่อการผลิตผลผลิต 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ถึงแม้ตัวเลขนี้จะมีแนวโน้มพัฒนาดีขึ้นแต่ก็อยู่ในอัตราที่ช้าว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะหลังปี 2543 ที่ประเทศอื่นพัฒนาประสิทธิภาพไปอย่างรวดเร็วแต่ไทยกลับทำได้ช้ากว่ามาก ล่าสุด ณ ปี 2552 เศรษฐกิจไทยใช้น้ำมัน 1.3 บาร์เรลต่อผลผลิต 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ สูงกว่าจีนถึง 2.1 เท่า ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ากองทุนน้ำมันเริ่มมีบทบาทอย่างมากตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในอดีต อัตราการใช้น้ำมันของไทยเคยอยู่ในอันดับที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ในช่วงปี 2543 เคยดีกว่าอินโดนีเซียที่เป็นอดีตสมาชิก OPEC และในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 เคยดีกว่า มาเลเซีย จีน และเวียดนาม แต่นับจากปี 2533 เป็นต้นมา ไทยลดอัตราการใช้น้ำมันต่อผลผลิตได้เพียงร้อยละ 25 ในขณะที่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคสามารถลดได้กว่าร้อยละ 50 โดยเวียดนามและจีนลดอัตราดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 61.2 และ 71.6 ตามลำดับ ในปัจจุบันประสิทธิภาพของเศรษฐกิจไทยกำลังตามหลังคู่แข่งอยู่ และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ การตรึงราคาพลังงานในเฉพาะบางกลุ่มสินค้าบิดเบือนกลไกตลาดและเป็นการอุดหนุนผู้ประกอบการและผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยผลักภาระไปสู่ผู้ที่ไม่ได้รับการสนับสนุน เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลกลายเป็นการเพิ่มภาระของผู้มีรายได้น้อยบางกลุ่มอย่างไม่คาดคิด โดยจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่าสำหรับคนชนบท ผู้มีรายได้น้อยนิยมใช้รถจักรยานยนต์ซึ่งต้องใช้น้ำมันเบนซิลและเมื่อมีรายได้เพิ่มจึงจะหันไปใช้รถกระบะแทนที่ต้องใช้น้ำมันดีเซล ฉะนั้น ในแง่ของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ผู้มีรายได้ต่ำในชนบท รวมถึงรถจักรยานยนต์รับจ้างในเมือง จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้มีรายได้สูงในชนบท เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซิลเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบมากกว่าราคาน้ำมันดีเซลที่ยังมีกองทุนน้ำมันคอยสนับสนุนราคา อีกทั้งการตรึงราคาดีเซลยังเป็นการบิดเบือนการคาดการณ์ราคา (price expectation) และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีทางเลือก ทำให้ผู้บริโภคบางรายเลือกที่จะใช้รถยนต์น้ำมันดีเซลแทนเพราะคาดหวังและเชื่อว่ารัฐจะคุมราคาดีเซลในระยะยาว การอุดหนุนราคาน้ำมันควรจะอยู่บนบรรทัดฐานที่ให้เวลาในการปรับตัวแต่ก็ไม่สร้างความคาดหวังว่าราคาจะคงที่ ระบบ Crawling Peg จึงเป็นทางเลือกที่น่านำมาประยุกต์ใช้ ถึงแม้ภาระที่เพิ่มขึ้นกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ แต่การสร้างความคาดหวังว่าราคาจะคงที่ไปเรื่อยๆก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ดังนั้น หนึ่งในแนวทางที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงคือการนำระบบการบริหารจัดการค่าเงินมาดูแลความผันผวนของราคาน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งทางเลือกมีหลากหลายแล้วแต่ความจำเป็นและความเข้มงวดที่ต้องการ เรามองว่าระบบ Crawling Peg ที่เคยใช้ในการจัดการค่าเงินในประเทศเม็กซิโกและฮังการีเป็นระบบที่มีน่าจะมีประสิทธิภาพสูงในการเข้ามาบริหารจัดการแนวโน้มราคาน้ำมัน ระบบดังกล่าวสามารถตรึงราคาน้ำมันได้ในระยะสั้นแต่มีการประกาศอย่างชัดเจนถึงแนวโน้มและระยะเวลาเป้าหมายการปรับขึ้นอย่างช้าๆตามตลาดโลก ระบบดังกล่าว นอกจากจะให้เวลาปรับตัวกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคแล้ว ยังไม่เป็นการผูกพันความคาดหวังบนนโยบายตรึงราคาให้เท่าเดิมในอนาคต จึงเป็นหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจในการตอบสนองปัญหาราคาพลังงานของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ