ผลิตภัณฑ์ไม้อัดจากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร งานวิจัยคณะวิทย์ฯ ทดแทนไม้จริงจากป่า

ข่าวทั่วไป Wednesday March 30, 2011 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพื่อบรรเทาปัญหาไม้จริงจากป่าไม้มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ทีมวิจัยจากโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ประกอบด้วย ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ, ดำหริ กองหาด, เกษม บิลก่อเด็ม, อนุชา อำรัน, ฟารีด ทักษิณาวาณิชย์ และ อกนิษฐ์ ข้งอุ่น จึงคิดค้นนำวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรในท้องถิ่นภาคใต้ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไม้อัด ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านพลังงานและปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยตรง ที่ผ่านมาจึงมีการรณรงค์ใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนวัสดุสังเคราะห์ มากขึ้น ตนและทีมวิจัยจึงร่วมกันนำวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรในท้องถิ่นภาคใต้ ๓ ชนิด ได้แก่ เส้นใยจากผลปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัสดุเศษเหลือจากการสกัดน้ำมันปาล์ม ขี้เลื่อยไม้ยางพารา จากการแปรรูปไม้ยางพารา และ เศษใบเตยหนาม ที่เหลือจากการจักสาน มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไม้อัด เพื่อใช้ทดแทนไม้จริงจากป่าไม้ที่มีปริมาณลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันความต้องการใช้ประโยชน์จากไม้อัดที่ผลิตขึ้นนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “หากความต้องการใช้ไม้อัดมีสูงมากดังที่ได้กล่าวข้างต้น คาดว่าการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรเพื่อแปรรูปเป็นไม้อัด นอกจากจะช่วยลดลดการทำลายทรัพยากรป่าไม้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ซึ่งหาวัตถุดิบได้ง่าย ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระดับรากหญ้า และช่วยยกระดับรายได้ของชุมชนให้สูงขึ้น” ดร.พลพัฒน์ กล่าวและว่า สำหรับกรรมวิธีในการผลิตนั้น เริ่มจากการผสมเส้นใยที่คัดขนาดแล้วกับวัสดุประสาน จากนั้นอัดให้เป็นแผ่นในแม่พิมพ์ และขึ้นรูปด้วยความร้อนและความดัน จนได้ผลิตภัณฑ์ไม้อัด ซึ่งเศษใบเตยหนามอันเป็นพืชที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำวัสดุปิดผิว โดยตัดใบเตยหนามเป็นท่อนขนาดเล็ก แล้วปิดลงบนผิวของไม้อัดเพื่อความสวยงาม ผลิตภัณฑ์จากแผ่นใยไม้อัด เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง เช่น แผ่นผนังห้อง แผ่นพื้นไม้ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ในชุมชน เช่น ของที่ระลึก เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผงใยปาล์มมีลักษณะสีเข้ม ผิวมัน ขี้เลื่อยไม้ยางพาราและเตยหนามมีสีอ่อน ผิวด้าน มีสีสันงดงามและมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ