รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 30, 2011 14:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง “เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งหลักจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเติบโตได้ดีต่อเนื่อง” นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งหลักจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในแทบทุกหมวดสินค้าและแทบทุกตลาด โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเติบโตได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 10.1 สอดคล้องกับเครื่องชี้ด้านการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวร้อยละ 49.6 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 26.8 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 37.6” นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าปิโตรเลียมและเครื่องประดับ ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากผลผลิตสำคัญจากข้าวและยางพารา สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยขยายตัวร้อยละ 11.8” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 บ่งชี้ถึงการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดีและมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2554 สามารถเติบโตได้ในช่วงที่คาดการณ์ไว้” รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งหลักจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเติบโตได้ดีต่อเนื่อง 1. การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายตัวร้อยละ 31.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.3 มาจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 22.9 และราคาสินค้าส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในแทบทุกหมวดสินค้าและตลาดส่งออกโดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 อยู่ที่ 17.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 22.5 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.3 จากปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 23.8 ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.8 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 โดยเป็นการนำเข้าที่ขยายตัวได้ดีในแทบทุกหมวดสินค้า ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เกินดุลที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 2. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับสูง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวร้อยละ 49.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 15.9 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 อยู่ที่ระดับ 72.2 จุด ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 72.6 จุดส่วนหนึ่งจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน 3. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งจากเครื่องชี้ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 26.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีของก่อน เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวได้ดีร้อยละ 37.6 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.7 สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขยายตัวได้ดีในระดับสูงอยู่ที่ร้อยละ 49.8 สะท้อนถึงธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 4. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 พบว่า บทบาทนโยบายการคลังยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง สะท้อนจากดุลงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -34.6 พันล้านบาท โดยผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีจำนวน 154.7 พันล้านบาท หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -15.4 มาจากรายจ่ายประจำจำนวน 122.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.1 และรายจ่ายลงทุนจำนวน 16.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -67.6 ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานสูงจากการเร่งเบิกจ่ายงบอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จำนวน 2.1 พันล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (เริ่มเดือนกันยายน 2552 — เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ) จำนวน 265.4 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.8 ของกรอบวงเงินลงทุน 350 พันล้านบาท สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีจำนวน 129.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 33.1 เป็นผลมาจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จัดเก็บได้ในระดับสูงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น 5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 พบว่า การผลิตในภาคการเกษตรและบริการปรับตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่ภาคภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หดตัวร้อยะ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อย 4.1 โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของดัชนีผลผลิตน้ำมันปิโตรเลียม อาหาร และเครื่องประดับเป็นหลัก สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ปรับตัวลดลงอยู่ระดับ 108.2 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 112.7 จุด เป็นผลมาจากความกังวลในต้นทุนการผลิตที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับเกินกว่า 100 จุด บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขยายตัวเป็นบวก ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยขยายตัวร้อยละ 2.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากผลผลิตสำคัญจากข้าวและยางพารา สำหรับราคาสินค้าเกษตรขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 32.4 ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงร้อยละ 31.8 สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศยุโรปและอาเซียน สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาในหมวดผักและผลไม้ และราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.5 อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 2.68 แสนคน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 41.9 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 อยู่ที่ระดับ 179.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.6 เท่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ