นักศึกษา SIIT มธ. ชนะเลิศการประกวดโครงงานจากสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 5, 2011 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงงานระดับปริญญาตรีของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ, คอมพิวเตอร์ และ การสื่อสาร (ICT) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาการสื่อสารจากงานประกวดโครงงานระดับปริญญาตรี ในหัวข้อเรื่อง “การประยุกต์ใช้และศึกษาประสิทธิภาพของเทคนิคแบบ Generalized Triangular Decomposition ในระบบสื่อสารแบบ MIMO (Multiple Input Multiple Output) ที่รองรับหลายผู้ใช้” ซึ่งจัดโดยสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 โครงงานนี้เป็นผลงานของ นายปริตต์ กาญจนาวิโรจน์กุล และ นายเกียรติวรากร กีรติชนานนท์ โดยมี ดร.ประพันธ์ สุขสมปอง เป็นที่ปรึกษาโครงงาน โครงงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเครื่อข่ายไร้สาย (Wireless LAN) แบบ MIMO ซึ่งมีเสาส่ง/รับสัญญาณหลายเสา นักศึกษาได้นำเอาเทคนิคการแยกเมทริกซ์แบบ Generalized Triangular Decomposition (GTD) มาผสมกับการใช้เทคนิค Block Diagonalization ส่งผลให้ตัวส่งสัญญาณสามารถส่งสัญญาณให้ผู้รับหลายคนได้ในเวลาเดียวกัน เป็นการเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลโดยรวมของระบบจากการส่งแบบเดิมซึ่งรองรับผู้ใช้ทีละคนสลับกันไป เรียกได้ว่าเป็นระบบสื่อสารแบบ MIMO ที่รองรับหลายผู้ใช้ (Multi-user MIMO หรือ MU-MIMO) ยิ่งไปกว่านั้นในระบบแบบ MU-MIMO จะมีการส่งหลายกระแสข้อมูล (data stream) ให้แก่ผู้ใช้แต่ละคนในเวลาเดียวกัน โดยแต่ละกระแสข้อมูลอาจต้องการความเร็วในการส่ง หรือคุณภาพของช่องสัญญาณที่แตกต่างกัน เช่น อัตราการส่งข้อมูลที่เป็นวิดีโอจะสูงกว่าข้อมูลที่เป็นข้อความสั้น การแยกเมทริกซ์แบบ GTD ที่นักศึกษานำเสนอทำให้ตัวส่งสัญญาณสามารถกำหนดคุณภาพของสัญญาณแต่ละกระแสสัญญาณได้แม้ว่าคุณภาพของช่องสัญญาณจะมีการเปลี่ยนแปลง ผลการศึกษาเบื้องต้นบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะนำเทคนิค GTD ไปประยุกต์ใช้ได้จริง ในงานประกวดโครงงานดังกล่าว นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วย นางสาวฐิตาภา จันทร์โภคาไพบูลย์ และ นายพชร พุทธวรรณไชย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในสาขาการสื่อสาร จากโครงงานในหัวข้อเรื่องการลดปัญหากำลังค่ายอด (Peak-to-Average Power Ratio หรือ PAPR) สำหรับระบบ MIMO ที่มีการส่งแบบ Orthogonal Frequency Division Multiplexing (OFDM ) โดยนำเมทริกซ์ที่เรียกว่า Centering Matrix ไปประยุกต์ใช้กับเทคนิคที่เรียกว่า Selective Mapping ซึ่งโครงงานนี้มี ดร.ประพันธ์ เป็นที่ปรึกษาโครงงานเช่นกัน นอกจากนี้ นายปริตต์ ยังได้นำเสนอโครงงานในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (International Conference on Information and Communication Technology for Embedded System หรือ IC-ICTES) ที่พัทยาในระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2554 และได้รับรางวัลนักศึกษาผู้นำเสนอผลงานยอดเยี่ยมอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ