พณ. ออกประกาศจัดระเบียบส่งออกสับปะรดกระป๋อง

ข่าวทั่วไป Wednesday August 22, 2007 14:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ออกประกาศ เรื่อง การส่งสับปะรดกระป๋องออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 ต้องเป็นสินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. และผู้ส่งออกที่เป็นผู้ผลิตต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่ สมอ. แจ้งไว้กับกรมศุลกากร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2550 เป็นต้นไป
กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาคุณภาพมาตรฐานของสับปะรดกระป๋องที่ส่งออกให้เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และพร้อมกันนี้ได้ปรับปรุงมาตรการจัดระเบียบการส่งออกสับปะรดกระป๋องให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กล่าวคือ กำหนดให้สับปะรดกระป๋องที่จะส่งออกต้องผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องหรือได้รับใบรับแจ้งการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องเพื่อการส่งออก ในส่วนของผู้ส่งออกที่เป็นผู้ผลิต ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ผลิตที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งไว้กับกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง หรือได้รับใบแจ้งจาก สมอ. แสดงต่อกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ทุกครั้งที่มีการส่งออก ส่วนการส่งออกโดยผู้ประกอบการอื่นซึ่งมิใช่ผู้ผลิต จะต้องมีหนังสือรับรองหรือหลักฐานซึ่งระบุได้ว่าสับปะรดกระป๋องที่จะส่งออกเป็นสินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตซึ่งได้รับใบอนุญาตหรือได้รับใบรับแจ้งดังกล่าวเพื่อแสดงต่อกรมศุลกากรทุกครั้งที่มีการส่งออก ยกเว้นในกรณีที่นำติดตัวออกไปเพื่อใช้เฉพาะตัว หรือกรณีที่ยานพาหนะนำออกไปเพื่อใช้ในยานพาหนะ นั้น ๆ หรือการนำออกไปเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อการศึกษาวิเคราะห์ โดยให้จำกัดปริมาณเท่าที่จำเป็น
สถิติการส่งออกสับปะรดกระป๋องในช่วงเดือน ม.ค. — พ.ค. 2550 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออก 293,233 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5,420 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ปริมาณ และมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.21 และ 5.62 ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการส่งออกสับปะรดกระป๋องประมาณปีละ 3,500 — 4,400 ล้านบาท และ 3,000 — 4,200 ล้านบาท ตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ