เตือนระวังพายุฤดูร้อน

ข่าวทั่วไป Monday April 18, 2011 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--สำนักงานเขตหลักสี่ นางสาวระเบียบ กูบกระบี่ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ กทม. แจ้งว่า สำนักงานเขตหลักสี่ ขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากพายุฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ทั้งนี้เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศเตือนภัย "พายุฤดูร้อน" ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 17 เม.ย.54 ว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ รวมถึงประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนอบอ้าว ลักษณะ เช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยเริ่มมีผลกระทบตั้งแต่ในช่วงเย็นของวันที่ 17 เม.ย.54 ที่ผ่านมา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกก่อน ส่วนกรุงเทพมหานครและภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ทั้งนี้ขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองควรอยู่ภายในอาคารบ้านเรือนที่มีความมั่นคงแข็งแรงจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง หากอยู่ในตึกหรืออาคารสูงควรหลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์ เนื่องจากอาจเกิดไฟฟ้าดับทำให้ติดค้างอยู่ภายในลิฟท์ได้ กรณีที่อยู่ในที่โล่งแจ้งไม่ควรเข้าไปใต้ต้นไม้สูง และควรหลีกเลี่ยงหรือระงับกิจกรรมกลางแจ้งทันทีเพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้ นอกจากนี้ควรงดเว้นการสวมใส่เครื่องประดับโลหะ เช่น ทองเหลือง ทองแดง ในที่โล่งแจ้ง หรือถือวัตถุโลหะในขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะวัตถุดังกล่าวจะเป็นสื่อให้เกิดฟ้าผ่าลงมาที่ตัวได้ และควรให้คำแนะนำบุตรหลาน เด็กเล็กให้อยู่ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าทุกชนิด เช่น ลวด โลหะ แนวรั้วบ้าน อุปกรณ์ทำสวน เป็นต้น รวมทั้งควรงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ และงดใช้โทรศัพท์ชั่วคราว ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เครื่องโทรทัศน์และสายโทรศัพท์ได้ นอกจากนี้ควรดูแลสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ภายนอกบ้านให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยเสมอ โดยเฉพาะสิ่งที่อาจจะโค่นหักหรือพังลงได้ เช่น ป้ายโฆษณา เป็นต้น นางสาวระเบียบ กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่พบเห็นสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ขาด ตกห้อยพาดตาม พื้นถนน ไม่ควรหยิบจับหรือเข้าใกล้เพราะอาจเป็นอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด ทั้งนี้หากพบเหตุความเสียหายอันเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง เช่น ป้ายโฆษณาหรือต้นไม้โค่นล้ม เสาไฟฟ้าหักโค่น เป็นต้น หรือพบเห็นกิ่งไม้ ที่ไม่แข็งแรง หรือพาดอยู่บนสายไฟ หรือพบเห็นสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ที่ไม่แข็งแรงและอาจเกิดการโค่นหัก จากลมพายุได้ ให้รีบแจ้งสำนักงานเขตหลักสี่โดยด่วนที่โทรหมายเลข 0 2982 2082 หรือโทร. 199 ตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ