“นักวิจัย” กับคุณธรรมและจริยธรรม

ข่าวทั่วไป Monday April 18, 2011 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--สสวท. กรณีที่เป็นข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก ของนายคาร์ล-ธีโอดอร์ ซู กุดเทนแบร์ก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศเยอรมนี หรือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก็คือ การประกาศลาออกจากตำแหน่งกระทันหัน เพราะได้รับการกล่าวหาว่าปริญญาเอกด้านกฏหมายของเขาบางส่วนนำเอาผลงานของคนอื่นมาเป็นของตนเอง นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการขาดคุณธรรมและจริยธรรมของนักวิจัย ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการบรรยายเรื่อง “คุณธรรมและจริยธรรมของนักวิจัย” ของ ศาสตราจารย์ ดร.อังศุมาลย์ จันทราปัตย์ จากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 6 ณ ไบเทค บางนา จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เมื่อเร็วๆนี้ เนื่องจากการประชุมวิชาการครั้งนี้ มีนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากทุนต่าง ๆ เช่น ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ทุนเรียนดี ฯลฯ ซึ่งเยาวชนเหล่านั้น ต่างก็ได้รับการปลูกฝังให้เป็นนักวิจัย และได้เริ่มทำผลงานวิจัยในขณะที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่ด้วย ประเด็นที่กล่าวถึงนี้ จึงมีความสำคัญต่อการปลูกฝังให้พวกเขาเป็นนักวิจัยที่ดีในอนาคต ศ. ดร .อังศุมาลย์ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ จรรยาบรรณของนักวิจัยขึ้นมา เพราะเห็นว่า เรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม ควรจะต้องมีการปลูกฝังในตัวของนักวิจัยตั้งแต่ยังอยู่ในสถานศึกษา เพื่อที่เมื่อเติบโตขึ้นเป็นนักวิจัยในอนาคต จะได้รู้ว่า อะไรที่ควรทำ และไม่ควรทำ “จรรยาบรรณหรือจรรยาวิชาชีพวิจัย คือ หลักความประพฤติปฏิบัติที่นักวิจัยควรยึดถือ และปฏิบัติเพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียง และฐานะความเป็นนักวิจัยในวิชาชีพของตน จรรยาบรรณไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นข้อพึ่งปฏิบัติ และถ้าปฏิบัติได้จะเป็นที่ยอมรับนับถือ” สำหรับประเทศไทยมีคำถามว่า มีการยอมรับเรื่องจรรยาบรรณในการทำวิจัยมากน้อยแค่ไหน? ศ. ดร. อังศุมาลย์ เห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มี เพราะกรณีศึกษาที่เห็นกันบ่อยๆคือ กรณีที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างอาจารย์ และนักศึกษาที่ทำวิจัยร่วมกัน ปรากฏว่าอาจารย์ยังเป็นฝ่ายชนะ ทั้งที่งานวิจัยชิ้นนั้นอาจารย์มีส่วนเพียง 20% ขณะที่นักศึกษาทำถึง 80% ประเทศไทยมีนักวิจัยที่ทำผิดจรรยาบรรณ แต่เมื่อมีการฟ้องร้องกันขึ้นมา มักจะไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อรักษาชื่อเสียงกัน แตกต่างจากกรณีที่เป็นข่าวข้างต้น กรณีศึกษาของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของเยอรมนี ทำให้ท่านได้รับสมญาว่า “รัฐมนตรีตัดแปะ” ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยในกรณีของนักศึกษาไทย ซึ่ง ศ.ดร.อังศุมาลย์ บอกว่า เรื่องนี้ต้องระวังให้มาก “การลอกเลียนผลงาน หรือ Plagiarism สำคัญที่สุด เพราะมีการทำกันมาตั้งหลายปีแล้ว แต่บางคนไม่เข้าใจว่าตรงนี้เอามาแล้ว มาตบแต่งอีกนิดหน่อยก็ใช้ได้ แต่มันก็เป็นการลอกเลียนผลงาน การลอกเลียนเขาแล้วเอามาดัดแปลง มันไม่ได้มีข้อกำหนดว่าดัดแปลงได้กี่เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่ที่สังคม หรือคณะกรรมการที่เขาไปยื่นขอตำแหน่ง หรือเสนอผลงานว่าจะมีความเข้มข้นขนาดไหน” อีกกรณีหนึ่งที่ ศ. ดร. อังศุมาลย์ บอกว่าไม่ควรทำเช่นกันคือ การนำผลงานของคนอื่นมาโดยไม่ได้อ้างอิง เช่น การเขียนตำราสักเล่มหนึ่ง หรือเอกสารประกอบคำสอนจะเห็นว่าบางครั้งเอารูปจากต่างประเทศแล้วมาทำตำรา หรือเอกสารประกอบการสอนให้เด็ก โดยไม่ได้อ้างว่ารูปนั้นเอามาจากไหน ไม่ว่า รูปภาพจากอินเตอร์เนต หรือหนังสือสิ่งพิมพ์ต่างๆ ควรจะต้องบอก แม้กระทั่งนำมาจากหนังสือพิมพ์ก็ต้องบอกว่า ฉบับไหนวันที่เท่าไหร่ นี่เป็นมารยาท ถ้าเราไม่ใส่ไป ทุกคนจะต้องเข้าใจว่านี่เป็นบุคคลผู้นั้นถ่ายเอง หรือแม้กระทั่งการตีพิมพ์ซ้ำผลงานของตนเอง กรณีนี้จะพบบ่อยโดยเฉพาะเวลาที่มีการขอตำแหน่งวิชาการ ถือว่าเป็นการลอกเลียนผลงานของตัวเองเช่นกัน “กรณีของนักศึกษาที่พบเห็นทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เวลาทำวิทยานิพนธ์ เขาต้องไปรีวิวมาว่ามันมีอะไรบ้างที่ทำให้เขาสนใจเรื่องนี้ แต่ด้วยว่ามันเป็นภาษาอังกฤษแล้วไม่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษก็ไปตัดเป็นช่วงๆ แล้วนำมาปะ ถ้าอาจารย์ไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่เขาอ้างอิงจะไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นต้องระวังในเรื่องการอ้างอิงข้อมูล” จรรยาบรรณวิชาชีพในด้านการวิจัยมีความสำคัญหรือไม่ อย่างไร ศ. ดร.อังศุมาลย์ เห็นว่า การเป็นนักวิจัยที่แท้จริงต้องมีมาตรฐานการวิจัย สนใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ต้องเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น มีความรู้ในเรื่องที่ทำ และมีความถนัด ต้องตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำวิจัย นักวิจัยควรทำวิจัยอย่างเต็มความสามารถ และมีอิสระทางวิชาการโดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการวิจัย รวมทั้งต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็น คนสัตว์ สิ่งแวดล้อม พืช และ ศิลปวัฒนธรรม “กรณีที่งานวิจัยมีผลกระทบ หรือผลลบต่อสังคม นักวิจัยต้องพร้อมที่จะชี้แจง แก้ไข ต้องไม่มีการปลอมแปลงข้อมูล ไม่ยกเมฆ ถือว่าเป็นการประพฤติผิด” ศ.ดร.อังศุมาลย์ ย้ำ อย่างไรก็ตาม ในบ้านเราจะมีการตรวจสอบกันก็ต่อเมื่อมีการขอผลงานทางวิชาการขึ้นมาก แล้วมีคนมาฟ้องร้อง ถ้าไม่มีคนฟ้องร้อง เราก็จะไม่มีทางรู้ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือ การอ้างอิงต่อกันเป็นทอดๆ เกิดจากการที่ไม่ได้อ่านบทความที่อ้างอิงด้วยตนเอง แต่ไปอ้างจากคนอื่นอีกทีหนึ่ง อันนี้ก็ไม่ควรกระทำ ซึ่งเด็กๆนักศึกษาจะทำผิดเยอะ การจะทำอย่างนี้ได้จะต้องตามไปอ้างต้นฉบับแล้วถึงมีสิทธิจะอ้างอิงของเขาได้ แล้วจึงนำต้นฉบับมาอ้างอิง สุดท้าย ศ.ดร.อังศุมาลย์ ย้ำว่า สำหรับเด็กๆ จะทำอะไรก็ตาม จะต้องตรวจสอบว่ามีคนเขาทำแล้วหรือยัง และเมื่อนำมาอ้างอิงต้องอ่านจากหลายๆที่ แล้วจึงนำมาประมวลเป็นความคิดเห็นของตนเอง เป็นคำพูดของตนเองแล้วนำมาเขียน ไม่ใช้ ไปตัดคนนั้นมานิด คนนี้มาหน่อย แล้วนำมาเปลี่ยนเล็กน้อยๆ “เดี๋ยวนี้ในต่างประเทศ มีโปรแกรมที่สามารถจะตรวจสอบได้ว่ามีการคัดลอกผลงานหรือไม่ โดยโปรแกรมจะบอกเลยว่า ข้อความอันนี้มาจากผลงานของใคร มีการคัดลอกมากี่เปอร์เซ้นต์ โปรแกรมนี้จะบอกหมดเลย แล้วจะขึ้นโชว์ไปทั่วโลก ทำให้การตีพิมพ์ผลงานไปสู่ระดับนานาชาติต้องระวังให้มาก” ถ้าไม่เ ช่นนั้นคงอือฉาว ไม่ต่างจาก กรณีของ “ท่านรัฐมนตรีตัดแปะ” ของประเทศเยอรมนีเรื่องนี้ต้องระวัง ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ