กระทรวงการคลัง จัดสัมมนาบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง เตรียมพัฒนาบทบาทของบอร์ดรัฐวิสาหกิจให้เทียบชั้นต่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 22, 2007 13:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการเปิดสัมมนา “บทบาทคณะกรรมการกับผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ” ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพมหานคร ว่า การจัดสัมมนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (บอร์ด) ทั้ง 59 แห่ง มาทำความเข้าใจถึงการกำหนดทิศทาง นโยบาย กลยุทธ์ และเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน รวมถึงการตระหนักในบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจมีความเข้าใจในระบบประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนรัฐวิสาหกิจให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หน้าที่ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือบอร์ด จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานของรัฐวิสาหกิจ เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจากกรณีที่กระทรวงการคลังได้นำระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจมาใช้ในการประเมินผลงานของรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ปี 2539 พบว่า บทบาทของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจมีผลต่อประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งในปี 2550 นี้ คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ได้มีการปรับปรุงแนวทางการประเมินผลให้มีความเหมาะสมกับภารกิจและขนาดประกอบการของรัฐวิสาหกิจมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการกำหนดแนวนโยบายของผู้ถือหุ้น (Statement of Direction) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดตัวชี้วัด น้ำหนัก และเป้าหมายสำหรับการประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง
ตัวอย่างในต่างประเทศบทบาทของกรรมการรัฐวิสาหกิจถือว่ามีความรับผิดชอบสูงมาก (Accountability) แต่เรื่องที่ต้องการเน้นกับรัฐวิสาหกิจไทยใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.องค์ความรู้ (Knowledge) ของประธานและกรรมการที่จะกำกับดูแล ความเข้าใจในหน้าที่พื้นฐาน ความรับผิดชอบ ขอบเขตการทำงาน เข้าใจโครงสร้างธุรกิจและทิศทางธุรกิจในอนาคต การแบ่งหน้าที่ตามความรู้ 2.ทักษะ (Skill) คือ สิ่งที่กรรมการควรทำ เช่น มีความกระตือลือล้นร่วมกับผู้บริหารในการแก้ปัญหาของบริษัท ระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของธุรกิจ และสร้างความเข้าใจต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท 3. จิตสำนึก (MINDSET) ความมีธรรมาภิบาล และ 4. การลดวัฒนธรรม (Culture) การทำงานที่เอื้อประโยชน์พวกพ้อง การวิ่งเต้น เป็นต้น
“วันนี้บทบาทของบอร์ด จึงต้องมีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองมากขึ้น เพื่อผลักดันให้การทำงานของรัฐวิสาหกิจมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เป็นมาตรฐาน และมีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมกับองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทางการปรับตัว การสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง และเติบโตอย่างเข้มแข็ง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ