ลุ้น…! ภาษียานยนต์ กำลังภายในแรง

ข่าวยานยนต์ Tuesday May 3, 2011 09:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น นับถอยหลังยุบสภาใหล้เข้ามาทุกขณะ ก่อนหน้านั้นไม่นานนายยกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาย้ำให้ทุกกระทรวงเร่งชงเรื่องเข้า ครม.จะได้เร่งผ่านโครงการต่างๆออกไปให้ทัน หลายกระทรวงผ่านฉลุย แต่หลายกระทรวงก็โดนโรคเลื่อนเป็นประจำ ทั้งเลือนด้วยความตั้งใจ ทั้งที่เลื่อนด้วยกำลังภายในเช่น เดียวกันกับโครงสร้างภาษีรถยนต์ฉบับใหม่ ที่กำลังภายในแรงไม่แพ้อาฟเตอร์ช็อกจากญี่ปุ่น ซึ่งการออกมาคัดค้านขวางลำโครงสร้างภาษีรถยนต์ฉบับใหม่ จนเกิดโรคเลื่อนไม่สามารถชงเรื่องเข้าครม.ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง โดยค่ายจิบจิบเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ออกอาการส่อเจตนาไม่อยากปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อผู้บริโภคเพราะแค่นี้ยอดขายก็ระเบิดเทิดเทิงแล้ว โครงสร้างภาษียานยนต์ฉบับใหม่ ถือว่าเป็นการปรับที่เหมาะสมสอดคล้องกับความเปลี่ยนของโลกที่ก้าวไกลไปสู่คำว่าเทคโนโลยีสะอาดรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะได้คำนึงถึงปัญหาภัยธรรมชาติมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นกว่าที่เคยเกิดมาในประวัติศาสตร์ เช่น น้ำท่วมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความแห้งแล้งที่ผิดปกติ แผ่นดินถล่ม คลื่นความร้อน (Heat Wave) หิมะตกนอกฤดู และพายุที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ปัญหาภัยธรรมชาติเช่น กรณีน้ำท่วมและภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ยังได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรกรรมของไทยอีกด้วย ปัญหาภัยธรรมชาติเหล่านี้เป็นผลจากปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming หรือ Climate Change) ซึ่งต้นเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของสารไฮโดรคาร์บอนในหลายรูปแบบ เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ในการหุงต้ม และในรถยนต์ ทั้งนี้ หนึ่งในสามของปริมาณก๊าซ CO2 ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศมีแหล่งที่มาจากรถยนต์นั่นเอง นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ในปัจจุบัน ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาความผันผวนของราคาพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนในประเทศ อีกด้วย เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคม รวมทั้ง เป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก รัฐบาลในหลายประเทศจึงได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อมุ่งพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากท่อไอเสียรถยนต์และเพิ่มประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน โดยรัฐบาลของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้มีการกำหนดนโยบายภาษีของรถยนต์โดยการจัดเก็บจากปริมาณการปล่อย CO2 จากท่อไอเสียของรถยนต์ในหลายรูปแบบ เช่น ภาษีในขณะซื้อ (Tax on Acquisition) ซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียว หรือ ภาษีครอบครองรถยนต์ (Tax on Ownership) ในลักษณะจ่ายรายปี หรือ จัดเก็บทั้งภาษีในขณะซื้อและภาษีครอบครองรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์ที่มีปริมาณการปล่อย CO2 ต่ำจะจ่ายภาษีน้อย รถยนต์ที่มีการปล่อย CO2 สูงจะจ่ายภาษีมาก นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นการจูงใจให้ประชาชนเลือกใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของประเทศและของโลกในภาพรวม ในปัจจุบัน โครงสร้างภาษีสรรพสามิตยานยนต์ของไทยมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น มีความหลากหลายและซับซ้อน ในบางกรณีเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ และที่สำคัญคือโครงสร้างภาษีไม่ได้สะท้อนถึงแนวทางการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงการคลัง จึงได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโครงสร้างภาษียานยนต์ทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ ด้านการประหยัดพลังงาน สิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพ โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จะยังคงมีการแบ่งรถยนต์ออกเป็นประเภทหลักๆ เช่นเดียวกับโครงสร้างปัจจุบัน เช่น รถยนต์บรรทุก รถยนต์โดยสาร รถยนต์ปิกอัพ รถยนต์นั่ง เป็นต้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับการลงทุนผลิตรถยนต์ประเภทต่างๆ ในปัจจุบัน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี ที่จะเปลี่ยนจากการให้สิทธิประโยชน์ ในกรณีที่รถยนต์มีขนาดความจุกระบอกสูบ (ซีซี) ต่ำ แรงม้าน้อย ตัวอย่างเช่น รถยนต์นั่งขนาดความจุกระบอกสูบต่ำกว่า 2,000 ซีซี จะมีอัตราภาษีสรรพสามิตต่ำกว่ารถยนต์นั่งขนาดความจุกระบอกสูบ 2,500 ซีซี หรือรถยนต์ที่มีกำลัง 200 แรงม้า จะมีอัตราภาษีสรรพสามิตต่ำกว่ารถยนต์ที่มีกำลัง 250 แรงม้า เป็นต้น มาเป็นการให้สิทธิประโยชน์ ในกรณีที่รถยนต์มีประสิทธิภาพสูง ปล่อยมลภาวะต่ำ และมีความปลอดภัยสูง นั่นคือ รถยนต์ที่ปล่อย CO2 ต่ำจ่ายภาษีน้อยกว่ารถยนต์ที่ปล่อย CO2 สูง รถยนต์ที่มีอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (ลิตรต่อกิโลเมตร) ต่ำจ่ายภาษีน้อยกว่ารถยนต์ที่มีอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูง รถยนต์ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงจ่ายภาษีน้อยกว่ารถยนต์ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยต่ำ เป็นต้น โดยการให้สิทธิประโยชน์จะใช้อัตราการปล่อย CO2 และคุณสมบัติด้านความปลอดภัยมาเป็นเกณฑ์กำหนด ตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของสากลโลก การปรับโครงสร้างภาษีจะส่งผลประโยชน์ต่อหลายภาคส่วน ได้แก่ 1) จูงใจให้ประชาชนเลือกใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการประหยัดน้ำมันมากขึ้น และมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยดีขึ้น เพราะระบบสิทธิประโยชน์ที่ปรับใหม่จะช่วยให้ประชาชนสามารถซื้อรถยนต์ที่มีคุณภาพได้ในราคาเท่าเดิม 2) เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ เลือกผลิตรถยนต์รุ่นที่มีคุณสมบัติในด้านประสิทธิภาพสูง ประหยัดน้ำมันมากขึ้น และมีความปลอดภัยสูง เพื่อการจำหน่ายในประเทศ แทนการเลือกผลิตรถยนต์รุ่นที่กินน้ำมันเยอะ และปล่อยมลพิษสูง เหมือนในปัจจุบัน อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในภาพรวมไม่เกิดปัญหาความล้าหลังด้านเทคโนโลยี จนในที่สุดต้องเปลี่ยนไปแข่งขันที่ราคา ต้นทุน หรือค่าแรง กับ จีน อินเดีย หรืออาเซียน ดังที่เคยเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรม (เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม) และกำลังจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอีกไม่กี่ปีนี้ หากรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยไม่มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ในด้านประสิทธิภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย 3) ส่งผลดีต่อประเทศไทยในหลายด้าน เช่น การใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานจะช่วยลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง (ทั้งน้ำมันดิบ และเชื้อเพลิงสำเร็จรูป) จากต่างประเทศ การใช้รถยนต์ที่มีปริมาณการปล่อย CO2 จะช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนและสนับสนุนการดำเนินงานเรื่อง Carbon Credit ของประเทศไทย และการใช้รถยนต์ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงขึ้น จะช่วยลดความสูญเสียในด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อันเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว 4) แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการอนุรักษ์ด้านพลังงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และร่วมกับประชาคมโลกในการรักษาสภาพแวดล้อมของโลก ฉะนั้นแล้ว คงต้องลุ้นกันอีกสักตั้งกับการประชุม ครม.นัดสั่งลา วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2554 นี้ โครงสร้างภาษียานยนต์ใหม่จะคลอดออกมาหรือไม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ