นักวิชาการเผย “ราคาตุ๊กแกนับสิบล้าน” คาดปั่นกระแสการตลาด ระบุจับขายได้ แต่ต้อง “คัดขนาด-แบ่งโซน”เหลือไว้ขยายพันธุ์

ข่าวทั่วไป Friday May 20, 2011 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--สวทช. นักวิชาการ-นักอนุรักษ์ เผยตุ๊กแกน้ำหนักมากกว่า 5-6 ขีด หาได้ยากมาก เชื่อการตั้งราคาสูงหลายสิบล้าน อาจเป็นเพียงการปั่นกระแสตลาดเพื่อให้ชาวบ้านออกหาตุ๊กแกมาขายมากขึ้น ระบุการล่าตุ๊กแกในป่า หวั่นกระทบตุ๊กแกหายากที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมแนะประชาชนจับตุ๊กแกขายได้ แต่ต้องคัดขนาด กำหนดโซนพื้นที่ เพื่อให้เหลือตุ๊กแกไว้ขยายพันธุ์ทดแทน แต่หากยังสร้างกระแสจับไม่ยั้ง อนาคต มีผลกระทบต่อระบบนิเวศแน่ จากกรณีกระแสข่าวนายทุนจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ยินดีรับซื้อตุ๊กแกในราคาสูง เพื่อนำไปสกัดเอาเซลล์มาทำยาต้านโรคมะเร็งและโรคเอดส์ โดยราคาแตกต่างกันตามขนาดและน้ำหนักของตุ๊กแก คือ ตุ๊กแกที่หนัก 5 ขีดขึ้นไป มีค่าสูงถึงตัวละ 10 ล้านบาท ส่วนขนาด 4.2 ขีดขึ้นไป หรือความยาว 20 นิ้วขึ้นไปมีราคาหลักล้าน ขณะที่ตุ๊กแกที่ราคาต่ำกว่า 4 ขีด รับซื้อราคาหลักแสน ส่วนตัวที่มีขนาดเล็ก ๆ จะมีราคาราวหลักพันหรือหลักหมื่นนั้น ส่งผลให้ชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่พากันเข้าป่า หวังจับตุ๊กแกขนาดใหญ่ นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ สยามเอ็นซิส (siamensis.org) กล่าวว่า จากการศึกษาสำรวจตุ๊กแกที่ผ่านมา ไม่เคยพบตุ๊กแกที่มีขนาดใหญ่ถึง 5 ขีด หรือมีความยาวมากกว่า 45 เซนติเมตร (รวมหาง)มาก่อน การกำหนดขนาดที่ใหญ่มากและราคารับซื้อที่สูงจึงเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นเพียงคำโฆษณาหรือสร้างกระแสเท่านั้น ส่วนการจับตุ๊กแกบ้านมาขายเป็นสิ่งที่ทำได้ และเป็นเรื่องดีหากช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวบ้าน แต่การจับก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจและความพอดี เวลาจับควรมีการกำหนดขนาดในการจับ เช่น จับเฉพาะตัวที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น เพื่อให้ตุ๊กแกขนาดกลางและขนาดเล็กมีโอกาสเจริญเติบโตขยายพันธุ์ขึ้นมาแทนที่ หรืออาจจะเป็นการกำหนดเขตพื้นที่ในการจับ เช่นปีนี้จับบริเวณนี้ ปีหน้าก็จับในพื้นที่อื่นเพื่อให้ตุ๊กแกมีการเติบโตมาทดแทนประชากรที่ถูกจับไป เป็นต้น “ส่วนกรณีที่ขณะนี้มีชาวบ้านต่างพากันแห่เข้าไปหาตุ๊กแกในป่าเพราะหวังว่าจะได้เจอตุ๊กแกที่มีขนาดใหญ่กว่าตุ๊กแกบ้านนั้น ก็น่าเป็นห่วงว่าตุ๊กแกป่าชนิดอื่นๆ เช่น ตุ๊กแกตาเขียว (Gekko siamensis) ซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย หรือตุ๊กแกที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิดอาจได้รับผลกระทบไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตุ๊กแกบ้านสีเทา (Gekko smithii) เป็นตุ๊กแกสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีลักษณะคล้ายตุ๊กแกบ้านมาก หากชาวบ้านเข้าป่าและมีการจับออกมาขาย แน่นอนว่าไม่เพียงส่งผลกระทบให้ตุ๊กแกป่าหายากเข้าสู่ภาวะใกล้สูญพันธุ์เท่านั้น แต่ผู้จับหรือผู้ฝ่าฝืนเองก็จะมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย ตุ๊กแก ถือเป็นสัตว์ที่น่าสงสาร เพราะคนส่วนใหญ่มักรังเกียจ เนื่องด้วยรูปร่างหน้าตาที่น่ากลัว ทั้งที่ความจริงแล้วตุ๊กแกไม้ได้เป็นสัตว์ที่มีพิษภัย แต่กลับสร้างประโยชน์ให้มนุษย์อย่างมาก เนื่องจากตุ๊กแก เป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินแมลงขนาดใหญ่ แมลงสาบ รวมถึงหนูขนาดเล็ก จึงถือเป็นสัตว์ที่ช่วยกำจัดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคหลายชนิด ดังนั้นหากมีการสร้างกระแสเพื่อกระตุ้นให้คนออกมาจับตุ๊กแกขายกันมากจนจำนวนประชากรตุ๊กแกลดลง ในอนาคตก็ย่อมส่งผลต่อกระทบต่อวงจรห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศได้” ด้าน นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมง กรมประมง และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลาน กล่าวว่า ปกติตุ๊กแกบ้านทั่วไปส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 1 ขีด แต่ถ้าตัวใหญ่มากๆ จะอยู่ที่ 3-4 ขีดเท่านั้น ส่วนที่ว่าขนาดใหญ่กว่า 4 ขีด อาจมีบ้างแต่พบได้แต่น้อยมากๆ หรือแทบไม่มีเลย และจากที่ได้เคยพูดคุยกับชาวบ้าน ทราบว่าเวลาซื้อขายผู้รับซื้อจะมีการกำหนดขนาด ถ้าไม่ได้ขนาดใหญ่ตามที่กำหนดไว้ ก็จะซื้อขายในราคาปกติ ซึ่งไม่ได้สูงมากขนาดที่ระบุไว้ จึงเป็นไปได้ว่าข่าวราคารับซื้อที่สูงลิ่วเช่นนี้ อาจเป็นเพียงกระแสเพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านออกมาจับตุ๊กแกส่งขายตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นอกเหนือไปจากการรับซื้อขายตุ๊กแกบ้านแล้ว สิ่งต้องเฝ้าระวัง คือมักมีบางกลุ่มคนที่แอบแฝง ประกาศรับซื้อตุ๊กแกทุกชนิด เพื่อหาตุ๊กแกป่าที่เป็นสัตว์ป่าหายากหรือสัตว์ป่าคุ้มครองส่งขายตลาดสัตว์เลี้ยง ซึ่งชาวบ้านเองก็อาจตกเป็นเหยื่อได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะที่นายวุฒิ ทักษิณธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การที่ตุ๊กแกเริ่มผันตัวมาสู่สัตว์เศรษฐกิจเช่นนี้ สิ่งสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ คือการศึกษาว่าจำนวนประชากรตุ๊กแกในแต่ละพื้นที่มีจำนวนเท่าใด อัตราการทดแทนของประชากรตุ๊กแกเป็นอย่างไร เช่น พ่อแม่ตุ๊กแก 1 คู่ มีลูกได้เฉลี่ยกี่ตัวต่อปี ในจำนวนนั้นมีกี่ตัวที่สามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตจนสืบพันธุ์ได้ และศักยภาพในการเจริญเติบโตขึ้นมาทดแทนตุ๊กแกที่ถูกจับไปมีจำนวนเท่าใด โดยหากปริมาณการจับอยู่ในอัตราที่มีประชากรขึ้นมาทดแทนได้ก็ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่หากเกินขอบเขตก็อาจจะต้องมีการหาแนวทางการหรือมาตรการให้มีการจับอย่างเหมาะสม “สำหรับในเรื่องของการเพาะเลี้ยง ทราบว่าเริ่มมีการเพาะเลี้ยงในหลายพื้นที่ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่กินกันเอง อีกทั้งเวลากัดกันจนหางขาดก็จะส่งขายไม่ได้ราคา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำ จึงทำให้ขายได้ราคาที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนมากนัก อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ประชากรตุ๊กแกก็น่าเป็นห่วง เพราะถูกรุกรานอย่างมาก ทั้งจากการถูกบุกรุกทำลายถิ่นอาศัย เช่นการระเบิดภูเขาหินปูนซึ่งเป็นที่อยู่ ตุ๊กแกหลายชนิด การถูกสัตว์ต่างถิ่น เช่น แมวบ้านล่า หรือแม้แต่การที่ตุ๊กแกกินแมลงที่มีสารฆ่าแมลง ก็จะทำให้ตุ๊กแกมีการสะสมสารเคมีในร่างกาย และตายในที่สุด ฉะนั้นยิ่งมีการประโคมข่าว หรือสร้างกระแสให้ประชาชนออกไปจับตุ๊กแกมากๆ ก็น่าเป็นห่วงต่อการลดลงของจำนวนประชากรเช่นกัน ดังนั้นเวลาจับตุ๊กแกมาขายก็อยากให้มีขอบเขตในการจับ เพราะเมื่อใดที่เราใช้ทรัพยากรจนเกินกำลังกว่าที่จะทดแทนได้แล้ว ในอนาคตก็อาจจะไม่เหลือทรัพยากรไว้ให้ใช้อีกเลย” นายวุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ