เชิญคนไทย ร่วมสร้างปรากฏการณ์ใหม่ เปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้อยู่ดีมีสุขอย่างเป็นรูปธรรม กับโครงการ “คนไทย ฟัง พูด คิด ทำ “

ข่าวทั่วไป Wednesday May 25, 2011 18:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.-- กลุ่มคนไทย ร่วมกับภาคีต่างๆ รวมพลังประกาศจุดยืนร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้อยู่ดีมีสุข ผ่านแนวคิด “ฟัง พูด คิด ทำ” อย่างเป็นระบบ นำร่องด้วย 2 กิจกรรมหลัก “คนไทยมอนิเตอร์” และ “เสวนาคนไทย” พร้อมนำเสียงสะท้อนของประชาชนทั่วประเทศ 100,000 ราย จากการลงพื้นที่ 77 จังหวัด ระบุเป็นการสำรวจระดับชาติที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่ง หลังจากที่มีกลุ่มภาคประชาชน เอกชน และองค์กร หลายๆ กลุ่ม ที่มีแนวคิดเดียวกัน คือ ต้องการมีส่วนร่วมในการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้นและก้าวไปในทิศทางที่ต้องการให้สังคมไทยอยู่ดีมีสุข จึงได้ร่วมมือกันจัดเป็น “โครงการคนไทย” ดำเนินกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่คนไทย ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการรณรงค์ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การรณรงค์ในแคมเปญ “คนไทยเท่านั้น ที่ทำให้เมืองไทยน่าอยู่” และ แคมเปญ “มีน้ำใจ ให้อภัย รักสงบ” ในรูปแบบสปอตโทรทัศน์ และ สื่อเคลื่อนที่ ต่างๆ ฯลฯ ล่าสุด กลุ่มคนไทย พร้อมด้วยภาคีต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนากิจกรรมเชิงสังคมรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยหวังผลในการนำสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่คนไทยสามารถอยู่ดีมีสุขได้อย่างแท้จริง ผ่าน “โครงการ คนไทย ฟัง พูด คิด ทำ” อย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันมีการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการไปบางส่วนแล้ว “โครงการ คนไทย ฟัง พูด คิด ทำ” อย่างเป็นระบบ คือกิจกรรมใหม่ที่กลุ่มคนไทย ได้ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยทุกภาคส่วนเกิดความตระหนัก เข้าใจ สนใจ และเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความอยู่ดีมีสุขให้เกิดขึ้นในสังคม โดยมีเครื่องมือที่ชัดเจนในการส่งเสริมจิตสำนึกในหน้าที่พลเมือง รวมถึงการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ด้วยการนำร่องกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม คือ “คนไทยมอนิเตอร์” และ “เสวนาคนไทย” ซึ่งจะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องตลอดปี 2554 ถึงปี 2455 เพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม “ที่ผ่านมา ในเวทีภาคประชาชนส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นได้แค่การนำเสนอ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำสู่การปฏิบัติเพื่อให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรมได้ แต่การดำเนินโครงการ คนไทย ฟัง พูด คิด ทำ อย่างเป็นระบบในครั้งนี้ จะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่าน เนื่องจากเราใช้เครื่องมือทางการตลาดและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทร่วมกัน ทั้งส่วนของกิจกรรม“คนไทยมอนิเตอร์” และ “เสวนาคนไทย” เพื่อให้ได้รับผลที่เป็นรูปธรรมและนำไปใช้ได้จริง นางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ ประธานสมาคมวิจัยการตลาดโลก (ESOMAR) และที่ปรึกษากิติมศักดิ์สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย หนึ่งในภาคีสำคัญ กล่าวว่า “ในฐานะคณะทำงานโครงการคนไทย เราให้ความสำคัญต่อการสำรวจความอยู่ดีมีสุขของประชาชนไทยทั่วประเทศครั้งนี้อย่างมาก โดยเราเรียกการสำรวจครั้งนี้ว่า “คนไทยมอนิเตอร์” ซึ่งเป็นการสำรวจเชิงปริมาณลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจประชาชาชนไทยใน 77 จังหวัด ซึ่งนอกจากจะใช้หลักวิชาการที่เคยใช้ในการวิจัยทั่วไปแล้ว ยังได้ศึกษาโมเดลการศึกษาด้านคุณภาพชีวิตของหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับการทำวิจัยว่าด้วยคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ ประเทศอังกฤษ มาปรับใช้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง กรอบของแบบสำรวจ “คนไทยมอนิเตอร์” ครั้งนี้ จะเข้าถึงใน 4 มิติ ได้แก่ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ทัศนคติและความเชื่อมั่น การพัฒนาประเทศและท้องถิ่นที่อยู่อาศัย และ ปัญหาด้านสังคมและความเป็นอยู่ที่ประสบอยู่ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 100,000 ราย ถือเป็นการสำรวจระดับชาติ ที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่ง ดังนั้น ข้อมูลเชิงสถิติที่ได้จึงเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถใช้อ้างอิงได้อย่างแท้จริง” นางดารณีกล่าว นางสาววิริยา วรกิตติคุณ นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การสำรวจ “คนไทยมอนิเตอร์” ครั้งนี้นั้น บริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำ 7 บริษัท ภายใต้สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ร่วมทำการสำรวจครั้งนี้บนพื้นฐานของมาตรฐาน และจรรยาบรรณของวิชาชีพวิจัยการตลาด จึงเชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลที่ได้จะมีความแม่นยำและถูกต้องและสามารถใช้ในการขยายผลเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะต่อไป ซึ่งเราได้มีการส่งเจ้าที่ลงพื้นที่เพื่อเดินเครื่อง “คนไทยมอนิเตอร์” แล้ว คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ประมาณเดือนกรกฎาคม จากนั้นจะทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ ส่งต่อเวที “เสวนาคนไทย” เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปสู่กลไกของการคิด และหาโซลูชั่นในการปฎิบัติการให้เกิดผลในเชิงรูปธรรมต่อไป” นางสาววิริยากล่าว ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตินี ณัฎฐวุฒิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมเสวนา “คนไทย” นั้นจะเป็นกลไกกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด ถ่ายทอดประสบการณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความอยู่ดีมีสุขของสังคม โดยเป็นการขยายผลกิจกรรมที่ได้จากการเก็บข้อมูล “คนไทย” มอนิเตอร์ นำไปสู่การช่วยกันฟัง ช่วยกันพูด ช่วยกันคิด และช่วยกันทำ “เสวนา “คนไทย” มุ่งหวังการร่วมค้นหาโอกาสหรือหนทางการปฏิบัติจัดการ (Action oriented) มากกว่าการตอกย้ำปัญหา ข้อมูลจากบทวิเคราะห์จาก “คนไทยมอนิเตอร์” จะเป็นพื้นฐานสำคัญ (Information-based) ในการพูดคุยจากมุมมองของประชาชนคนไทยมากกว่าการสะท้อนความเห็น ของผู้ร่วมเสวนาเท่านั้น รูปแบบกิจกรรม “เสวนา คนไทย” แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ ส่วนที่หนึ่งเป็น การเสวนาเชิงประเด็น คือ เสวนาตามประเด็นหลักที่สะท้อนความอยู่ดีมีสุขของสังคม เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจาก The Network (เครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) จัดวงสานเสวนา “The Network Forum” มีเจ้าภาพหลักคือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ส่งเสริมพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) และ ทีวีไทย ซึ่งจะมีขึ้น 12 ครั้ง ในทุกเดือนตั้งแต่ตุลาคม 2554 ถึง กันยายน 2555 ครอบคลุมหัวข้อ ได้แก่สุขภาพ (กายและใจ) การเงิน การงาน การศึกษา การเรียนรู้ การใช้ชีวิต (lifestyle) ครอบครัวและเพื่อน ชุมชน สิ่งแวดล้อม การเมือง การปกครอง สิทธิและความเท่าเทียมในสังคม ลักษณะความเป็นคนไทย การพัฒนาประเทศ” ส่วนที่สอง คือ การเสวนาเชิงพื้นที่ เป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และส่วนที่สาม คือ การเสวนาเชิงปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นการผลักดันเสวนา “คนไทย” สู่จุดมุ่งหมายในการขับเคลื่อนให้เกิดการร่วมกันคิดและทำ (Action-oriented) วางไว้ และช่วงที่สามเป็นการเสวนาประเมินผลถอดบทเรียน เพื่อนำไปปรับปรุงแนวทางพัฒนาในอนาคตและเพื่อเป็นการแบ่งปัน ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สังเคราะห์ได้ กิจกรรมทั้ง 2 ส่วน คือ คนไทยมอนิเตอร์ และ เสวนาคนไทย นับเป็นกลไกสำคัญที่กลุ่มคนไทย เชื่อมั่นว่า จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างให้กลไกเพื่อนำสู่การปฏิบัติก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศและสร้างโอกาสที่ดีในการสร้างสังคมไทยให้อยู่ดีมีสุขได้จริง ซึ่งกลุ่มคนไทยมุ่งหวังว่า ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคการศึกษา และ ภาคปรระชาคม จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เพื่อการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนได้อย่างตรงประเด็น ตรงความต้องการของประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคเอกชน บริษัทต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ได้ทันที สำหรับกิจกรรมซีเอสอาร์ต่าง ๆ ที่สามารถก่อให้ผลได้อย่างรวดเร็วกว่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ