สถาบันอาหารแห่งชาติปากีสถาน จับมือ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ลงนาม MOU ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday May 31, 2011 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--อินทิเกรเต็ด โปรโมชัน เทคโนโลยี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับและทำพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไฟซาลลาบัด ประเทศปากีสถาน (The National Institute of Food Science and Technology, University of Agriculture, Faisalabad, Pakistan — NIFSAT, UAF) ณ ห้องประชุม 203 อาคารจามจุรี 4 สำนักงานอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล, ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.ดร. อิคราร์ อาห์หมัด ข่าน, อธิการบดี UAF พร้อม ศ.ดร.ฟากี มูฮัมหมัด อันจัม, ผู้อำนวยการ NIFSAT, UAF ปากีสถาน ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการ การผลิตและพัฒนาบุคลากร และผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลต่อไป ปากีสถานเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ มีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรสูง ประสงค์ที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำของประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลที่สำคัญของโลก รวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมตะวันออกกลาง ผนวกกับรัฐบาลปากีสถานได้เห็นถึงตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทย ในการนำวิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นจุดขายเพื่อการทำตลาดส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล โดยเน้นการผลิตอาหารฮาลาลที่มีคุณภาพและปลอดภัยเป็นสำคัญ รวมถึง งานด้านการพัฒนาระบบ HAL-Q ซึ่งเป็นระบบการบริหารเพื่อการจัดเตรียมอาหารฮาลาลปลอดภัยของศูนย์ฯ ที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการนำเสนอผลงานวิจัยในงาน World Halal Research Summit 2011 ณ ประเทศมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งชาติปากีสถานจึงประสงค์จะทำความร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในฐานะเป็นศูนย์ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกของโลก พร้อมให้ความช่วยเหลือและร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไฟซาลลาบัด ประเทศปากีสถาน ในครั้งนี้ เป็นการให้ความร่วมมือระหว่างกันทางด้านการถ่ายทอดประสบการณ์และเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ การส่งนักวิทยาศาสตร์มาฝึกอบรมในประเทศไทย การพัฒนางานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลร่วมกัน รวมถึงการร่วมมือกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ทางด้านการผลิตบัณฑิตสาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร เพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาในการพัฒนาผลงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลในอนาคตต่อๆ ไป” “นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับประโยชน์จากการลงนามข้อตกลงครั้งนี้ในด้านความเชื่อมั่นของรัฐบาลและผู้บริโภคปากีสถานต่อผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลจากประเทศไทย โดยปากีสถานแม้ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล แต่ยังคงเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของประเทศไทยที่มีอนาคตดี มีประชากรมาก การบริโภคสูง มีแนวโน้มที่จะตอบรับผลิตภัณฑ์อาหารในระดับคุณภาพมากขึ้น ซึ่งการขอเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ฮาลาลจากประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าปากีสถานยอมรับการเป็นผู้นำในสาขานี้ของประเทศไทย อันเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลจากประเทศไทยตามสโลแกน ‘Halal Science Thailand Signature’ สู่โลกมุสลิมในทางอ้อม ซึ่งในปัจจุบัน มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลระหว่างประเทศมีขนาดใหญ่ถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จึงเป็นตลาดทางเลือกที่มีอนาคตของประเทศไทย รวมถึงรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ฮาลาลให้ได้มาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมการขยายตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าฮาลาลในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งในการส่งออกอาหารฮาลาลเป็นอันดับที่ 6 ของโลก หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผู้บริโภคอาหารฮาลาลทั่วโลก 1,800 ล้านคนทั่วโลก ใน 157 ประเทศ” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวเสริม ข้อมูลเพิ่มเติม: การก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกของไทยและของโลก วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณจัดตั้ง "ห้องปฏิบัติการกลางและศูนย์กลางข้อมูลวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาอาหารฮาลาล" หรือ The Central Laboratory and Scientific Information Center for Halal Food Development (Halal-CELSIC) ขึ้นที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแม่ข่ายงานวิทยาศาสตร์ฮาลาล ของประเทศ เนื่องจากภารกิจของหน่วยงานดังกล่าวขยายออกไปครอบคลุมหลายหลายสาขาวิชา ครอบคลุมกิจกรรมในหลายประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงแยกหน่วยงานดังกล่าวออกจากคณะสหเวชศาสตร์และยกระดับขึ้นเป็น "ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล" (The Halal Science Center-เรียกย่อว่า HSC) ภายใต้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลแห่งแรกที่เกิดขึ้นในโลก สร้างเกียรติภูมิแก่ประเทศในหลายประการ รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย สรรสร้างวิทยาศาสตร์ฮาลาลเสมือนทูตสันถวไมตรีของไทยในสังคมนานาชาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ประเทศต่างๆ ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนสำคัญในหลายประเทศ สอบถามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณสุวรรณา (นา) ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ c/o บริษัท อินทิเกรเต็ด โปรโมชัน เทคโนโลยี จำกัด โทร. 02-158-1312-5 โทรสาร 02-158-1319

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ