“ซื่อสัตย์ มืออาชีพ” มาตรฐานอนาคตคนยุติธรรม

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2007 10:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กระทรวงยุติธรรม
ท่ามกลางประเด็นร้อนการปรับโครงสร้างตำรวจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เฉพาะตำรวจเท่านั้นที่เป็นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีเจ้าหน้าที่จากอีกหลากหลายหน่วยงานหลายสังกัดหรือแม้กระทั่ง เจ้าหน้าที่ปอเต็กตึ๊งก็ล้วนเป็นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน และจากหลายกรณีที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทำให้ภาพของคนในกระบวนการยุติธรรมในความรู้สึกไม่ใสอย่างที่ประชาชนคาดหวัง
ในด้านหนึ่งของการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย จึงมุ่งที่การพัฒนาคนในกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นองค์รวมไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายโดยมีเป้าหมายเพื่อการให้บริการสร้างความเป็นธรรมที่ยุติธรรมแก่ประชาชนโดยเสมอภาค การจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและชัดเจนเป็นได้จริงนั้นไม่มีอะไรดีกว่าการให้คนในกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้กำหนด
ซึ่งล่าสุดในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่มีบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจากหน่วยงานและสังกัดต่าง ๆ กว่า 20 แห่ง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลปกครอง สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ง. กรมบังคับคดี กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ กระทรวงแรงงาน สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กรมที่ดิน สภาทนายความ สมาคมธนาคารไทย ตัวแทนสื่อมวลชน ฯลฯ เข้าร่วมเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จัดขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาคนในกระบวนการยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกำหนดและเป็นเจ้าของ
ในการสัมมนาดังกล่าวผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม มีการระดมความคิดเห็นกันอย่างเข้มข้น เพื่อกำหนดร่างวิสัยทัศน์การพัฒนาคนในกระบวนการยุติธรรมในอนาคตว่าควรมีคุณสมบัติอย่างไร โดยมีการนำเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และเห็นตรงกันว่าคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นที่สุดของคนในกระบวนการยุติธรรมคือ ต้องซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นแบบอย่างที่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้ความสามารถอย่างมืออาชีพ มีจิตสำนึกที่ดีในการอำนวยความยุติธรรมโดยเสมอภาคเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและสังคม เป็นต้น
ด้านนายวิทยา สุริยะวงค์ รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าว กระบวนการยุติธรรมแบบแยกส่วนที่ต่างคนต่างเดินทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของกระบวนการยุติธรรม คือ ความผาสุกและความสงบเรียบร้อยของสังคม คณะกรรมการบริหารงานกิจการยุติธรรมแห่งชาติ จึงให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมขึ้น เพื่อดำเนินการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการอบรมและการสนับสนุนการวิจัยสร้างองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีทั้งบุคลากรวงในจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือแม้แต่บุคลากรวงนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ปอเต็กตึ๊ง ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเก็บรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรม หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในขั้นตอนต่างๆ เป็นต้น
จากการทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วง 5 ปี พบว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่า 20 หน่วยงานทั้งที่เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมโดยตรงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมเกือบ 250,000 คนนั้นหากจะใช้การจัดอบรมอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมและต้องใช้เวลานาน ดังนั้นการดำเนินการในช่วง 1-2 ปีนี้จึงเน้นการให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย มาร่วมกันระดมความคิดเห็นกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม ว่าควรดำเนินไปในทิศทางและวิธีการอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของแผนแม่บทกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ