ปลัดกระทรวงการคลังมอบแนวนโยบายการบริหารรัฐวิสาหกิจ แก่กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจ

ข่าวทั่วไป Thursday June 9, 2011 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดการประชุมสัมมนาของกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจ เพื่อชี้แจงแนวนโยบายของกระทรวงการคลังในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ รวมถึงแนะนำนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยการสัมมนาในวันนี้แบ่งเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกเป็นการประชุมสัมมนากรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสาขาพลังงาน และสาขาสื่อสาร ช่วงที่ ๒ เป็นของสาขาสถาบันการเงิน สาขาสังคมและเทคโนโลยี และสาขาเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ และสำหรับวันพรุ่งนี้คือวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ ในช่วงแรกเป็นการสัมมนาฯ ของสาขาอุตสาหกรรม และสาขาพาณิชย์และบริการ ในช่วงที่ ๒ เป็นของสาขาขนส่ง และสาขาสาธารณูปการ นายอารีพงศ์ฯ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มอบแนวนโยบายในการบริหารรัฐวิสาหกิจแก่กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังว่าบทบาทของกรรมการผู้แทนกระทรวงการ คือ การกำกับให้การใช้เงินของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามแผน โปร่งใส และคุ้มค่า และต้องถ่ายทอดนโยบายของกระทรวงการคลังในการกำกับการบริหารจัดการในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และยังได้เน้นย้ำให้กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ สคร. จัดทำขึ้นเพื่อการบริหารรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น นายอารีพงศ์ฯ ได้กล่าวถึงความคาดหวังต่อกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังว่าจะสามารถผลักดันให้รัฐวิสาหกิจมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับ สคร. ในฐานะหน่วยงานของกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงรายงานข้อมูลที่จำเป็นให้กระทรวงการคลังผ่าน สคร. ทั้งในประเด็นที่เป็นปัญหา และเรื่องที่จำเป็นต้องขอรับนโยบายจากกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้แจ้งกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังให้ทราบว่า สคร. มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งหรือนักวิเคราะห์รัฐวิสาหกิจ (Account Officer) ซึ่งกรรมการผู้แทนคลังสามารถประสานงานได้โดยตรง นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือจากกรรมการผู้แทนคลังฯ ให้ Account Officer ของ สคร. เข้าพบเป็นประจำ เพื่อสรุปข้อเท็จจริงและรายงานปัญหาอุปสรรคที่สำคัญนอกเหนือไปจากการที่ สคร. จะสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยได้จัดทำรายงานผลวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ คือ State Enterprise Review (SER) ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน และประเด็นสำคัญที่ได้จากงบการเงิน State Enterprise Issues and Recommendations (SEIR) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่ต้องได้รับการแก้ไข และ State Enterprise Key Indicators (SEKI) หรือรายงานผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ในภาพรวม รวมถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ในปัจจุบันที่ต้องการให้กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังรับทราบ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำรายงานผลวิเคราะห์ประเด็นกฎหมายต่างๆ (State Enterprise Law Focus: SELF) และมีช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างกรรมการผู้แทนคลังฯ กับ สคร. ผ่านระบบ MOF Board Center บน website ของ สคร. (www.sepo.go.th) รวมทั้งได้จัดทำคู่มือปฏิบัติสำหรับกรรมการและผู้แทนกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นข้อมูลที่จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเสริมให้กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังด้วย นายสมชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลังแล้ว จะต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายอื่น เช่น ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. การกำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจส่งข้อมูลเข้าระบบ GFMIS-SOE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ และขอความร่วมมือให้เข้าร่วมการอบรม สัมมนาต่างๆ ที่ สคร. จัดขึ้น และเน้นย้ำให้กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังให้ความสำคัญต่อการนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้นโยบายการคลังสมดุลใน ๕ ปีของรัฐบาลเป็นไปได้ โดยคาดหวังรายได้จากรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงระดับมากกว่าแสนล้านบาท (จากปัจจุบันประมาณ ๘-๙ หมื่นล้านบาท) ซึ่งต้องอาศัยการผลักดันจากกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง และประเด็นโครงการลงทุนและการเบิกจ่ายงบลงทุน เนื่องจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ สมควรเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๐ และให้กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง กำกับดูแลการวางแผนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ และมีความคุ้มค่า สุดท้าย นายสมชัยฯ กล่าวสรุปว่า สคร. มุ่งหวังจากการจัดประชุมสัมมนานี้ว่าจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบาย ของภาครัฐและกระทรวงการคลัง เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ