ป.กก. มั่นใจศูนย์ประชุมชม. 3 พันล้าน เปิดบริการแน่ ต้นกค.55

ข่าวทั่วไป Tuesday June 21, 2011 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--ก.ก. นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(ป.กก.) เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้า ชี้แจงทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่ 326 ไร่ วงเงินการก่อสร้างรวม 1,867,150,000 บาท ให้ผู้บริหารด้านการท่องเที่ยวและบริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกำหนดการก่อสร้างอาคารและสถานที่แล้วเสร็จ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2554 และจะทำการตบแต่งภายใน ปรับสภาพแวดล้อม ตลอดจนดำเนินการในการบริหารจัดการและการตลาด ให้สามารถดำเนินการเปิดบริการได้ ในต้นเดือนกรกฏาคม 2555 ตามกรอบแนวคิดภาพรวมปี 2555 จะเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวและกีฬาไทย ตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โรงแรมดิเอมเพรส จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สืบเนื่องจากความต้องการการโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 20 ปี และมีการศึกษาความเป็นไปได้(Feasibility Study) ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ประกอบกับขยายตัวเพิ่มขึ้นของธุรกิจการจัดประชุมและแสดงสินค้านานาชาติของประเทศไทย เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 เห็นชอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ใช้สอย 419,625.46 ตารางเมตร แยกเป็น พื้นที่ใช้สอย ภายในอาคารประมาณ 55,076.02 ตารางเมตร และพื้นที่ภายนอกอาคารประมาณ 364,549.44 ตารางเมตร ในปี 2552 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทอรนิกส์ จำนวน 2 ครั้ง จึงได้ผู้รับจ้าง คือ กิจการร่วมค้า อีเอ็มซี และเพาเวอร์ไลน์ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 1,867,150,000 บาท ได้ลงนามในสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างจำนวน 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2554 แต่สถานการณ์และวิกฤตทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับปรุงแบบแปลนการก่อสร้างในหลายๆครั้ง และการพิจารณาย้ายสถานที่ก่อสร้าง/ดำเนินการศูนย์ประชุมฯไม่ว่า ณ บริเวณตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีผลกระทบต่อการวางแผนดำเนินก่อสร้างและการวางแผนในด้านการบริหารจัดการ/การตลาดมาโดยตลอด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการติดตามงานก่อสร้างและแก้ปัญหาการดำเนินงานมาโดยตลอด รวมทั้งขยายระยะเวลาก่อสร้างที่จะสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2554 เป็นวันที่ 16 ธันวาคม 2554 และเตรียมความพร้อมในด้านการบริหารจัดการและการตลาด ให้พร้อมเปิดบริการในต้นเดือนกรกฏาคม 2554 ต่อไป ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ที่ต้องทำงานพร้อมกัน ก้าวไปด้วยกัน และในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ ที่ต้องช่วยกันในเชิงรุกลักษณะ Hard Sales และมีจุดขายและยุทธศาตร์/ยุทธวิธี ในเรื่องนครแห่งเมืองไมซ์(Hub of MICE) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเสนอความเป็นเชียงใหม่ ที่มีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และชื่อเสียงทางธรรมชาติที่ยาวนาน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งต้องช่วยกันไปบิด(Bid) และพยายามดึงงานใหญ่ระดับชาติและนานาชาติมาจัดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานมอเตอร์โชว์ งานแสดงสินค้าต่างๆ งานแข่งขันประชุมวิชาการแพทย์เฉพาะทางนานาชาติ(ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมด้าน Medical Hub โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคเอกชนทางการแพทย์ของจังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง) งานเอ็กซ์โปต่างๆ งานแข่งขันกีฬาในร่มนานาชาติต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผลที่ตามจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นจังหวัดหลักที่ได้รับผลตอบแทนดังกล่าวโดยตรง มีอานิสงฆ์ไปถึงจังหวัดต่างๆทั่วภาคเหนือ และภาพรวมของประเทศไทยด้วย ป.กก. กล่าวปิดท้ายว่า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ จะเป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทย ในการรองรับตลาดการประชุมและแสดงสินค้า ซึ่งคาดว่า หลังการเปิดใช้บริการ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เป็นมูลค่าเฉลี่ยปีไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท มีการกระจายนักท่องเที่ยวคุณภาพมายังภาคเหนือ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวด้านการประชุมและแสดงสินค้า ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ในภาพรวมทั้งประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวม ในรูปแบบของลูกโซ่ทางรายได้ ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ จะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคุณภาพ(Business Group)ที่มีกำลังซื้อมากถึง 3-4 เท่าตัว ได้ตลอดทั้งปี โดยไม่เลือกฤดูกาล ได้เป็นอย่างดียิ่ง ถึงแม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานจะประสบกับภาวะวิกฤตด้านต่างๆ แต่ได้พยายามเร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอน ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อให้รัฐได้รับประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ และประชาชนชาวเชียงใหม่ได้รับผลดีในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ต่างๆ รวมทั้ง แผนการบริหารจัดการ และแผนการตลาดของศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้เอกชนมาบริหารจัดการคล้ายกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ซึ่งจะสามารถรองรับการดำเนินงานเต็มรูปแบบที่จะมีขึ้นในอนาคตนี้ อันจะทำให้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ มีความสมบูรณ์ ทันสมัย เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพแห่งใหม่ของประเทศไทย ทั้งนี้การบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านการตลาดของศูนย์ประชุมเชียงใหม่ ในระยะการก่อสร้างอีก 1 ปีที่เหลือข้างหน้า ก่อนเปิดให้บริการ จะต้องมีนโยบายและแนวคิดในการบริหารจัดการและการตลาด ดังนี้ 1. ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ จะต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่และภูมิภาคในระยะยาว จึงจำเป็นต้องให้การสนับสนุน และให้ความสนใจเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่คุ้มค่า ก่อให้เกิดรายได้ และมีการบูรณาการความร่วมมือ และเกื้อกูลกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เชียงใหม่ 2. ผู้บริหารศูนย์ประชุมฯ จะต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพ มีความเข้าใจตลาด MICE(MICE —Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) และสามารถดำเนินการจัดทำแผนการตลาด เพื่อให้สามารถรองรับการจัดงานที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งจากในและต่างประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในเชียงใหม่และใกล้เคียง 3. ดำเนินการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ของคนเชียงใหม่และภูมิภาค เกิดความร่วมมือ ร่วมใจในการสร้างเอกลักษณ์ และขยายตลาดการประชุมให้กว้างขวางขึ้น 4. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก GMS เพื่อส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการในเชียงใหม่ 5. ส่งเสริมและเปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา บริหารจัดการ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่ เพราะเป็นสมบัติของชาวเชียงใหม่และคนไทย 6. กระตุ้น และรณรงค์ให้เกิดการจัดการประชุมและแสดงสินค้านานาชาติในเชียงใหม่โดยผนึกกำลัง ความร่วมมือกับหน่วยงานภายในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเชียงใหม่ และภูมิภาค 7. ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน กับการส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ ทั้งในและต่างประเทศ ในระดับภูมิภาค นานาชาติ และระดับโลก ปัจจัย/เงื่อนไขเหล่านี้ จะส่งเสริม พัฒนา และกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ให้กลับมาบูมอีกครั้งได้ พร้อมช่วยสนับสนุนจังหวัดภาคเหนือได้ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ จะมีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือน มากกว่า 3-5 ล้านคน/ปี มีรายได้มากกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท/ปี จะต้องอาศัยการท่องเที่ยวในธุรกิจไมซ์ ซึ่งมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และเกิดปฏิกิริยาการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทวีคูณ ในลักษณะ Economic Catalyst อันจะก่อให้เกิดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และรายได้การท่องเที่ยวมีการกระจายไปสู่ชุมชนและสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลของสมาคมจัดการประชุมและสัมมนานานาชาติ(ICCA)ระบุว่า เมืองที่มีบรรยายกาศที่ดี และมีความพร้อม จะช่วยต่อยอดให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และเกิดปฏิกิริยาการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทวีคูณ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าว และสามารถคงรักษาวิถีชีวิตของความเป็นเชียงใหม่ จะนำมาซึ่งการเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้การท่องเที่ยวมาสู่ชุมชน และประเทศชาติต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ