วัคซีนก่อนวัยอนุบาลที่พ่อแม่ควรรู้

ข่าวทั่วไป Tuesday June 21, 2011 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กุมารแพทย์เตือนระวังเด็กเล็กเสี่ยงติดเชื้อสูง ช่วงเปิดเทอมและอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย แนะพ่อแม่ดูแลสุขภาพและเสริมภูมิคุ้มกัน เพราะในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวร้อนอบอ้าวอย่างในปัจจุบัน ทำให้เชื้อโรคต่างๆ มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น และก่อโรคกับคนเราได้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ยิ่งในช่วงเปิดเทอมที่เด็กๆ รวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้เชื้อโรคร้ายมีโอกาสก่อโรคได้สูงยิ่งขึ้น ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว และช่วงเปิดเทอมนั้น เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 2 เชื้อร้าย ได้แก่เชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิด 3 โรคอันตรายในเด็กเล็ก ประกอบด้วย โรคหูชั้นกลางอักเสบ โดยพบว่า 80% ของเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ มีโอกาสเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง และมีโอกาสเสี่ยงที่นำไปสู่การเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงอีกด้วย กลุ่มโรคไอพีดี ประกอบด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด อาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้ รวมทั้งโรคปอดบวมซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคน แต่พ่อแม่ทุกคนอย่าได้ตื่นตระหนกไป เพราะหากเรามีความรู้เกี่ยวกับโรคร้ายต่างๆ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยง โรคร้ายต่างๆ ก็ไม่สามารถทำร้ายลูกน้อยได้ ซึ่งนอกจากการดูแลสุขภาพลูกน้อยให้สมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ควรดูแลลูกน้อยให้ได้รับวัคซีนพื้นฐาน หรือวัคซีนภาคบังคับอย่างครบถ้วน ซึ่งวัคซีนดังกล่าวได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เช่น วัคซีนบีซีจี (BCG) ป้องกันวัณโรค วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) เป็นต้น นอกเหนือจากวัคซีนพื้นฐานดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัคซีนเสริมใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น หนึ่งในวัคซีนเสริมตัวใหม่ที่พ่อแม่ควรรู้ คือ วัคซีนไอพีดี-ชนิด2เชื้อ ที่นอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ต้นเหตุของโรคติดเชื้อรุนแรง (โรคไอพีดี) และโรคปอดบวมแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อเอ็นทีเอชไอ และโรคหูชั้นกลางอักเสบ ที่อาจลุกลามสู่โรคหูน้ำหนวก หรือโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ทุกประเทศบรรจุวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อรุนแรงลงในแผนสาธารณสุขแห่งชาติสำหรับเด็กเล็กทุกคน ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยวัคซีนดังกล่าวยังจัดเป็นวัคซีนเสริม ซึ่งพ่อแม่อาจพิจารณาเสริมภูมิคุ้มให้ลูกเอง อย่างไรก็ตามการปกป้องดูแลลูกในด้านอื่นๆ ก็มีความสำคัญที่จะช่วยให้ลูกปลอดภัยจากโรคร้าย เช่น ให้ลูกดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ดูแลสุขอนามัยของลูก ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการพาลูกน้อยไปยังสถานที่ชุมชน รวมทั้งพ่อแม่ต้องหมั่นดูแล สังเกตลูกอย่างใกล้ชิด เพราะลูกเล็กยังไม่สามารถพูดหรือบอกเราได้ หากลูกมีอาการผิดปกติก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ