เหมราชฯ นำเสนอความสำเร็จของ “บึงประดิษฐ์” การบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ

ข่าวเทคโนโลยี Thursday August 16, 2007 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--แบรนด์คอม คอนซัลแทนส์
บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ประกาศความสำเร็จของ “บึงประดิษฐ์”การบำบัดน้ำเสียโดยใช้พืช ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการบึงประดิษฐ์ต้นแบบมีที่มาจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หลังจากที่เหมราชฯร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) นำโครงการพระราชดำริมาวิจัยและดัดแปลงใช้กับการบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรม พบว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีกว่าระบบบำบัดน้ำเสียแบบเดิมที่ใช้พลังงานเป็นหลัก ทั้งนี้การดำเนินงานหลายปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าบึงประดิษฐ์เป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานมากกว่า
ในปัจจุบัน ปัญหามลพิษทางน้ำถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือชุมชน การบำบัดน้ำเสีย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี ก่อนที่จะมีการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหาร และจัดการการบำบัดน้ำเสีย ทำให้เหมราชฯ เป็นนิคมฯ 1 ใน 5 นิคมฯ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนิคมฯนำร่อง “นิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศน์” และได้รับมอบหมายในเรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นโยบายหลักของเหมราชคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน เราให้การสนับสนุนงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ในการทำวิจัยและพัฒนา โครงการบำบัดน้ำเสียแบบ “บึงประดิษฐ์” ทั้งการออกแบบ การใช้เทคโนโลยี วิธีการก่อสร้าง การบริหารและจัดการระบบให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยใช้เวลากว่า 1 ปี ในการศึกษาและค้นคว้าร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า “ทางสถาบันฯ ร่วมกับ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) เริ่มศึกษาและทดลองระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ ซึ่งเป็นวิจัยต่อยอดจากโครงการพระราชดำริมาตั้งแต่ พ.ศ 2544 ทั้งนี้เหมราชฯ ถือเป็นผู้นำในการนำโครงการบำบัดน้ำเสียแบบ “บึงประดิษฐ์” มาประยุกต์ใช้กับระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ โดยมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เราร่วมกันศึกษา ค้นคว้า ถึงข้อดี ข้อเสีย รวมถึงการนำระบบมาปรับใช้ ให้เหมาะกับการดำเนินงานในนิคมอุตสาหกรรม จากการทดลอง
ทั้งในระดับห้องปฎิบัติการ (Laboratory — scale) และในระดับโครงการนำร่อง (Pilot-scale) พบว่าประสิทธิภาพในการบำบัดค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดแบบสารอินทรีย์ ไนโตรเจนและของแข็งแขวนลอย ซึ่งสามารถบำบัดได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
นายวิวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการวิจัย โครงการระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ พบว่าระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์เป็นระบบที่ไม่ยุ่งยากกับการดูแล และบำรุงรักษา เนื่องจากเป็นระบบที่อาศัยธรรมชาติเป็นหลัก มีประสิทธิภาพดี และประหยัดพลังงาน ทางนิคมฯ ยังสามารถก่อให้เกิดการจ้างงานเนื่องจากงบประมาณที่เคยเป็นค่าไฟฟ้า ถูกนำมาใช้จ้างชาวสวนในการดูแลพืชในบึงประดิษฐ์แทนด้วยงบฯ ที่ต่ำกว่ามาก ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัดสามารถนำกลับมาใช้ รดต้นไม้ และกลับมาใช้ในโรงงานได้อีกด้วย ส่วนประโยชน์โดยตรงนอกจากการลดมลพิษทางน้ำแล้ว ยังสามารถลดปริมาณสารอินทรีย์และของแข็งแขวนลอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความสมดุลย์ของระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อม อีกทั้งสามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย”
เกี่ยวกับบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน
บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 โดยเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับสากล ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมรวม 6 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี เขตประกอบการอุตสาหกรรมระยองอินดัสเตรียลแลนด์ และเขตประกอบการอุตสาหกรรม เอส ไอ แอล (สระบุรี) โดยมีที่ดินรวมประมาณ 32,000 ไร่ ซึ่งได้พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 348 รายซึ่งเป็นผู้ประกอบการทางด้านยานยนต์กว่า 118 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานในนิคมฯต่างๆของเหมราชพัฒนาที่ดินราว 50,000 คน มีเงินลงทุนรวมของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯเป็นมูลค่าประมาณ 11,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัท แบรนด์คอม คอนซัลแทนส์ จำกัด
คุณไพลิน บูรณะมิตรานนท์ / คุณเปมิกา วงษ์อัยรา
โทร. 0-2645-0171 (32 สาย) โทรสาร 0-2645-017
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ