สกู๊ป : วันนี้ที่รอคอย ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพคอมพิวเตอร์โอลิมปิกฯ ครั้งที่ 23 การแข่งขันที่สนุกและเข้าถึงได้ เปิดเว็บไซต์ให้ตามเชียร์ทีมโปรด

ข่าวเทคโนโลยี Friday June 24, 2011 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สสวท. ใกล้เข้ามาทุกขณะ การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 (The 23rd International Olympiad in Informatics: IOI 2011) กำลังจะเปิดฉากอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 — 29 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์การศึกษา (สอวน.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานต่าง ๆ ผนึกกำลังกันเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญระดับโลก แม้ว่าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยจะเคยพลาดโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันนี้เนื่องจากในช่วงนั้นประเทศเราประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ มาถึงวันนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ประธานคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ ประเทศไทยทุ่มเทและใช้เวลาในการเตรียมงานมากกว่า 2 ปี ทำให้การจัดงานครั้งนี้ออกมายิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงและมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านวิชาการ บุคคลากร สถานที่ และระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งที่ 23 นี้จะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันจาก 82 ประเทศทั่วโลก ผู้สังเกตการณ์ 3 ประเทศ และมีเยาวชนหัวกะทิจากทุกมุมโลกเข้าร่วมแข่งขัน 300 คน การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกนี้เป็นการแข่งขันทางวิชาการที่ให้ผู้เข้าแข่งขันได้แสดงความ สามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอย่างเป็นระบบ โดยใช้พื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์เชื่อมโยงกับกระบวน การคิด วิเคราะห์ เพื่อออกแบบกระบวนการและขั้นตอนวิธี แล้วเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก้ปัญหาโจทย์ให้คำนวณได้คำตอบภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งโจทย์เหล่านี้พัฒนาขึ้นโดยคณะกรรมการวิชาการนานาชาติที่รับผิดชอบด้านการออกข้อสอบโดยตรง การสอบแข่งขันจะมีทั้งหมด 2 วัน แต่ละวันผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ จะต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อแก้โจทย์ปัญหาวันละ 3 ข้อ ซึ่งจะมีทั้งโจทย์ง่ายและยาก โดยผู้แข่งขันจะต้องใช้ความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก้ปัญหาให้คำนวณได้คำตอบภายในระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นส่งโปรแกรมผ่านระบบตรวจแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีชุดข้อมูลต่างๆ สำหรับทดสอบโปรแกรม คะแนนที่จะได้รับมากน้อยแตกต่างกันไปตามขีดความสามารถของโปรแกรมที่ผู้แข่งขันส่งมา ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อดีตเจ้าของเหรียญทองคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ปีพ.ศ. 2533 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้รับหน้าที่ประธานอนุกรรมการฝ่ายออกข้อสอบและตรวจข้อสอบฯ เล่าว่า “โจทย์การแข่งขันในอดีตบางปีมุ่งให้ผู้เข้าแข่งขันเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ แต่ขาดการสื่อสารกับผู้ชม การชมการแข่งขันจึงกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ต่อมาแนวโน้มการออกข้อสอบในยุคหลัง จึงหยิบเรื่องที่คนดูสามารถเข้าใจได้มาเป็นโจทย์การแข่งขัน และทำให้รู้สึกด้วยว่าคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและมีประโยชน์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันมาก ดังนั้นการออกข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ จึงพยายามดึงเรื่องรอบ ๆ ตัวมาสร้างเป็นโจทย์ เพื่อให้คนดูสามารถเข้าใจเรื่องราวและเพลินเพลินไปการแข่งขันได้“ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มอรรสรถในการร่วมลุ้นการแข่งขัน โดยแต่ละวันทางทีมงานจะมีโปรแกรมแสดงตัวอย่างโจทย์บางข้อ ให้ผู้ชมที่ติดตามอยู่ภายนอกได้ทดลองทำความเข้าใจและทดลองแก้โจทย์ปัญหา เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและผู้สนใจสามารถมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดและมองเห็นความสำคัญของวิทยาการคอมพิวเตอร์ว่าแท้จริงแล้วเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัว " เวลาที่ผู้ชมลองแก้โจทย์ตาม ก็จะได้รู้ถึงความท้าทายของการแก้โจทย์ และเขียนโปรแกรมตามคำสั่งของโจทย์นั้น เกิดความสนุก ส่งผลให้รู้สึกเชิงบวกกับวิชานี้ด้วย "และเพื่อดึงดูดความสนใจผู้ชมตลอดจนกองเชียร์แฟนคลับต่างๆ ปีนี้ประเทศไทยยังได้จัดเผยแพร่ผลคะแนนในเว็บไซต์ www.IOI2011.or.th เพื่อให้ผู้ชมทั้งชาวไทยและต่างชาติสามารถติดตามคะแนนได้ตลอดช่วงการแข่งขันเหมือนกับตามเชียร์กีฬายอดนิยม เยาวชนและผู้สนใจจึงสามารถตามเชียร์ทีมโปรดผ่านเว็บไซต์ได้สะดวกแสนสบาย...เพียงแค่ปลายนิ้วคลิก ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการจัดงานยิ่งใหญ่ระดับโลกครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ผู้แทนประเทศไทยทั้ง 4 คนเท่านั้นแต่หมายถึงด็กไทยทั่วประเทศ เพราะการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เด็กไทยเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์มากขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนและงานวิจัยสาขานี้ให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กไทยที่สนใจวิทยาการคอมพิวเตอร์ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา จากผลการเข้าร่วมแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกรวม 19 ปี ประเทศไทยกวาดมาแล้ว 11 เหรียญทอง 26 เหรียญเงิน และ 32 เหรียญทองแดง บางปีทีมผู้แทนประเทศไทยยังติด 1 ใน 5 ทีมที่ทำคะแนนสูงสุดได้อีกด้วย นั่นหมายถึงถ้าคนไทยใส่ใจคอมพิวเตอร์อย่างจริงจังแล้ว เด็กไทยก็มีความสามารถไม่ด้อยกว่าชาติอื่น ในอนาคตคนไทยอาจเขียนโปรแกรมไปขายแข่งกับโปรแกรมของต่างประเทศได้มากขึ้น ถ้าหากมีการตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ หน่วยงานที่ผนึกกำลังร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๒๓ พ.ศ. ๒๕๕๔ มีหน้าที่ดังนี้ สสวท. จัดทำแผนการดำเนินงาน สนับสนุนงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในส่วนของตนและของทุกหน่วยงาน ดำเนินการจัดค่ายคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย ดำเนินการด้านเลขานุการ การต้อนรับ สถานที่แข่งขัน การจัดทัศนศึกษา และการประชาสัมพันธ์การแข่งขันฯ มูลนิธิ สอวน. ดำเนินการด้านการคัดเลือกนักเรียนผู้มีความสามารถเพื่อเข้าค่ายคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการด้านระบบลงทะเบียน ด้านวิชาการ การจัดการในห้องสอบ และผลการแข่งขัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการด้านการจัดพิธีการเปิด/ปิดการแข่งขันฯ มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินการด้านการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ นิทรรศการแสดงวัฒนธรรมไทยและดำเนินการด้านเทคนิคส่วนภายนอกห้องสอบ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดำเนินการจัดหาและเตรียมการพี่เลี้ยงเพื่อเป็นมัคคุเทศก์ให้กับชาวต่างประเทศ เมืองพัทยา ดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ภายในเมืองพัทยา ประสานนักเรียนเข้าชมนิทรรศการ อำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยและจราจรภายในเมืองพัทยา และจัดเลี้ยงอาหารค่ำในวันพิธีปิด สวทช. ดำเนินการด้านการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียนที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ และการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักการเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ