“สมัชชาสุขภาพ” ช่วยซับน้ำตาชาวเล สู่การอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 29, 2011 16:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.-- นานมาแล้วที่ชายฝั่งอ่าวท่าศาลาในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ตำบลกลาย ตำบลท่าศาลา และตำบลปากพูน ที่มีความยาวกว่า 30 กิโลเมตร ทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำมาหากิน หล่อเลี้ยงคนในหลายชุมชน เนื่องด้วยชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่แห่งนี้ ต่างตระหนักถึงการดำรงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมในแบบพึ่งพา ไม่มีการใช้อุปกรณ์ประมงชนิดทำลายล้าง หรือแม้กระทั่งการใช้อวนลากอวนรุนที่ส่งผลกระทบต่อหน้าดิน ทำให้พื้นที่แห่งนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์และกลายเป็นบ้านหลังใหญ่ของสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะกั้ง ปู ปลา และหอยสองฝา ทั้งหอยแครงและหอยลายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แน่นอนว่า เมื่อความอุดมสมบูรณ์ยังคงอยู่ เป้าหมายของการกอบโกยผลประโยชน์จากเหล่านายทุนและประมงพาณิชย์ จึงมาถึง นายมานะ ช่วยชู นายกสมาคมดับบ้านดับเมือง และรองประธานคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า ปัญหาสำคัญของการใช้ทรัพยากรทางทะเลคือการอวดอ้างกรรมสิทธิ์ในระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา กระทั่งได้ลิดรอนสิทธิการทำมาหากินของชุมชนในผืนน้ำทะเล ซึ่งเคยเป็นที่หาอยู่หากินกันอย่างสมานฉันท์ ทางเลือกของพวกเราจึงเหลือเพียงการยืนหยัดต่อสู้กับระบบทุนนิยม เพื่อคืนชีวิตให้กับท้องทะเล “มรสุมจากระบบทุนนิยม คือสึนามิที่กลืนกินอนาคตของชุมชน รวมถึงอนาคตของลูกหลานของพวกเราที่พร้อมสร้างความสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์น้ำที่กำลังวางไข่ ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเครื่องมือทำลายล้างอันทันสมัย แม้ว่าชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามเข้าไปแก้ไขเยียวยา แต่ที่ผ่านมาก็ทำได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น” นายมานะ เล่าว่า นับตั้งแต่ปี 2546 ที่หลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทางสมาคมฯ จึงเริ่มเข้ามาทำงานในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง บ้านในถุ้ง และบ้านสระบัว ตำบลท่าศาลา เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ พร้อมทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มองค์กรชาวประมง และเพื่อเป็นแกนกลางในการประสานภารกิจร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา กระทั่งคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่มี นายบุญญวัฒน์ ชีช้าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในขณะนั้น ได้นำประเด็นการจัดการทรัพยากรชายฝั่งโดยชุมชน เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพในพื้นที่ โดยมีตนทำหน้าที่ประสานองค์กรภาคีต่างๆ เพื่อมาทำงานร่วมกันและเพื่อนำไปสู่ฉันทามติของทุกฝ่าย ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับจุดเปลี่ยนสำคัญของการต่อสู้ด้วย “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ” เริ่มจากการศึกษาสถานการณ์การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง : องค์กรชุมชนกับการฟื้น “เลหน้าบ้าน” การร่วมเรียนรู้รูปแบบบ้านสัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ ตลอดจนการศึกษานโยบายรัฐที่เอื้อต่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งโดยใช้พื้นที่หมู่ 6 บ้านสระบัว ตำบลท่าศาลา เป็นฐานในการศึกษาและพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งจากประสบการณ์การเรียนรู้นับกึ่งทศวรรษ ประกอบกับการร่วมศึกษาและพัฒนาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งร่วมกับภาครัฐ/ท้องถิ่น ประมงจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูนและท่าศาลา รวมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการร่างข้อเสนอเชิงนโยบายใน 4 ระดับ ได้แก่ ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยเฉพาะข้อเสนอต่อท้องถิ่นที่มีสาระสำคัญ 5 ประเด็น คือ 1) ออกกฎระเบียบ ข้อบัญญัติ โดยศึกษาข้อมูลทางวิชาการรองรับ เช่น การวิจัยโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และองค์กรที่เกี่ยวข้อง 2) สร้างกลไกสนับสนุน ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากร 3) จัดสรรงบประมาณสนับสนุนองค์กรชุมชน โดยให้อิสระแก่ชุมชนในการกำหนดการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์และความเข้มแข็งของชุมชน 4) จัดตั้งหน่วยที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร และให้มีส่วนร่วมจากชุมชน เช่น การปราบปรามและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย 5) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในบริเวณชายฝั่งตามศักยภาพความเหมาะสมของพื้นที่ โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการสัญจรทางน้ำ จนในที่สุด การหาฉันทามติร่วมกันต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเด็นการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง โดยชุมชน ได้ถูกนำเข้าพิจารณาแบบมีส่วนร่วมจากสมาชิกเครือข่าย องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสามภาคส่วน คือภาคประชาชน ภาควิชาการ/วิชาชีพ ตลอดจนภาคการเมือง/ราชการ ในสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2551 กระทั่งเป็นฉันทามติและนำไปสู่การปฏิบัติ อาทิ การทำบ้านปลาทั้งแบบชั่วคราวและถาวร การใช้ระเบิดชีวภาพเพื่อปรับปรุงสภาพหน้าดิน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง และที่สำคัญคือ การผลักดันให้เกิดเป็น ข้อบัญญัติ อบต.ท่าศาลา ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2552 สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงนับเป็นแบบอย่างของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ แม้จะเป็นเพียงหลักไมล์ความสำเร็จจากพื้นที่เล็กๆ แต่ก็ถือเป็นความงามอันน่าชื่นใจที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ