คาร์ส 2 สายลับสี่ล้อ...ซิ่งสนั่นโลก 29 กันยายนนี้ (เพิ่มเติม)

ข่าวบันเทิง Tuesday July 12, 2011 15:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--วอลล์ ดิสนีย์ สตูดิโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านรถของพิกซาร์รับประกันความสมจริง ทีมงาน “Cars 2” ทำงานหนักเพื่อความสมจริง ทีมงานที่พิกซาร์มองความรักที่มีต่อรถของพวกเขาอย่างจริงจัง ถึงขั้นที่มีการแต่งตั้งผู้ดูแลแฟรนไชส์ “Cars” ขึ้นมาเพื่อทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะถ่ายทอดรายละเอียดออกมาอย่างถูกต้อง ในตอนนี้ เจย์ วอร์ด ผู้ดูแลทีมงานโมเดลตัวละครและการเคลื่อนไหวใน “Cars” ภาคแรก กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของพิกซาร์สำหรับทุกสิ่งที่เป็น “Cars” (ซึ่งรวมถึงคำถาม “Cars” ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง “Cars Land” ที่สวนสนุกดิสนีย์ แคลิฟอร์เนีย แอดเวนเจอร์ ธีม ปาร์ค และการผลิตของเล่นไดคาสต์อีกด้วย) เช่นเดียวกับลาสเซ็ทเตอร์ ความชื่นชอบรถของวอร์ดเกิดจากพ่อของเขา ที่ทำงานเป็นช่างเครื่อง ก่อนจะมาเป็นตัวแทนขายส่งและนักสะสมรถวินเทจ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านรถประจำสตูดิโอ เขาเป็นผู้จัดการงานอีเวนต์ “มอเตอร์รามา” ที่พิกซาร์ ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำฤดูร้อนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2001 ที่พนักงานและบริษัทรถที่ได้รับเลือกเพียงไม่กี่แห่งจะได้โชว์สมบัติที่พวกเขาภาคภูมิใจที่สุด เจย์ ชูสเตอร์ ผู้ทำงานในแผนกศิลป์ใน “Cars” ภาคแรก และทำหน้าที่เป็นผู้กำกับศิลป์ฝ่ายตัวละครใน “Cars 2” ก็เป็น “คนบ้ารถ” อีกคนหนึ่ง เขาเติบโตขึ้นมาในดีทรอยท์ ที่ซึ่งพ่อของเขาเป็นนักออกแบบรถที่เจเนรัล มอเตอร์สมา 43 ปี บทบาทของชูสเตอร์คือการกำกับศิลป์งานออกแบบตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ “จุดเริ่มต้นของผมในกระบวนการออกแบบคือการนั่งกับจอห์นและให้เขาบอกว่าตัวละครจำเป็นต้องทำอะไรบ้างและลักษณะนิสัยของพวกเขาเป็นยังไง ตัวละครหลายตัวในหนังเรื่องนี้เป็นการออกแบบของพวกเราเอง เราเริ่มต้นด้วยการค้นคว้ารถแต่ละประเภทที่เราสร้างขึ้น เรารวบรวมข้อมูลอ้างอิงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพยายามสร้างรถไฮบริด ซึ่งเราแปลงให้กลายเป็นรถออริจินอลสำหรับพิกซาร์ขึ้นมาครับ” เขากล่าวเสริมว่า “สำหรับตัวละครแต่ละตัว หลังจากที่เรากำหนดแบบดีไซน์ออกมาแล้ว เราก็ได้พัฒนาภาพสามมุม ที่บรรยายพื้นผิวทุกอย่าง หลังจากจอห์นเห็นชอบกับมันแล้ว เราก็หันไปจับงานสร้างโมเดลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราได้ประเมินแบบสเก็ตช์โมเดลและทำให้แน่ใจว่าสัดส่วนและฐานล้อ รวมถึงระยะห่างจากปากถึงตาจะเวิร์ค จากจุดนั้น ทีมงานโมเดลก็เริ่มสร้างรูปทรงจริงๆ และองค์ประกอบพื้นผิวขึ้นมาในพื้นที่สามมิติในคอมพิวเตอร์ครับ” รวมทั้งหมดแล้ว ทีมงานศิลป์และตัวละครของ “Cars 2” ได้ดูแลงานสร้างตัวละครรถ 145 คันและโมเดลรถอื่นๆ อีก 781 คัน โมเดลรถอื่นๆ เหล่านี้ การสร้างตัวละคร 926 ตัวสำหรับภาพยนตร์เรื่องเดียวนับได้ว่าเป็นสถิติสำหรับพิกซาร์ วอร์ดอธิบายว่า “หนึ่งในงานที่เราได้รับมอบหมายมาในช่วงเริ่มแรกในหนังเรื่องนี้คือการค้นคว้าเพื่อทำให้แน่ใจว่าเราจะได้รถที่มีอยู่ในแต่ละประเทศจริงๆ เป็นตัวละครแบ็คกราวน์หรือตัวละครสมทบ ตอนที่คุณไปญี่ปุ่น คุณจะไม่ได้เห็นรถโตโยต้า แคมรี ของอเมริกาเพราะคนญี่ปุ่นไม่ขับรถพวกนั้น พวกเขาขับรถโตโยต้า มาเจสติค พวกมันเป็นรายละเอียดแบบที่เราอยากจะใส่ใจเพื่อที่รถพวกนั้นจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวได้ว่าเราอยู่ไหนกันน่ะครับ” “เราสนุกกันมากกับการออกแบบรถสูตร ที่เป็นที่รักของแฟนๆ ทั่วโลก” วอร์ดกล่าวต่อ “ด้วยความที่เราสร้างลีกแข่งรถของเราเองสำหรับหนังเรื่องนี้ รถของเราก็ถูกเรียกว่ารถสูตร มันเป็นเรื่องเยี่ยมจริงๆ ที่เราได้รถแบบนี้เข้ามาอยู่ในหนังของเรา เป็นการแสดงความคารวะต่อรถสูตร 1 ซึ่งเป็นรถแข่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลกใบนี้ ฟรานเชสโก้ เบอร์นูลลี เป็นหนึ่งในรถคันโปรดของเรา ด้วยดีไซน์แบบล้อยื่นยาวออกไป เมื่อจอห์น เทอร์ทูโรได้ให้ลักษณะแบบอิตาเลียนกับตัวละครตัวนี้อย่างพอเหมาะพอเจาะ เขาก็เป็นตัวแทนของวิถีทางที่ไลท์นิง แม็คควีนเคยเป็นในหนังภาคแรก เขาเป็นรถที่ยังคิดว่าชีวิตเป็นเรื่องของจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเดินทาง เบอร์นูลลีโฟกัสอยู่กับการเอาชนะทุกคนและการทำตัวให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” ชูสเตอร์บอกว่า การสร้างลุคฟรานเชสโก้เป็นความท้าทายสำหรับทีมงาน “ฟรานเชสโก้เป็นแบบดีไซน์ที่สร้างได้ยากที่สุดเพราะระบบกันกระเทือนที่เปิดโล่งของเขาครับ” เขาบอก “ระบบวิศวกรรมที่เราต้องสร้างขึ้นเพื่อเขาเป็นอะไรที่เข้มข้นมาก แต่ผมชอบฟรานเชสโก้ครับ” “รถสูตรมีหน้ายาวครับ” ชูสเตอร์บอก “เราก็เลยต้องขยายรูปทรงของเขาเพื่อให้ตรงตามความต้องการของเรา ลักษณะทางกายภาพแบบที่เราจะได้จากการเคลื่อนไหวของฟรานเชสโก้ต้องอาศัยความอุตสาหะอย่างหนักแต่สุดท้ายมันก็ออกมาดูดี เขาสามารถแสดงท่าทีสุดโต่งพวกนี้ได้ดีจริงๆ” วอร์ดกล่าวว่า เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการแข่งรถจำเป็นต้องอาศัยการค้นคว้าที่เฉพาะเจาะจงอย่างมาก แต่ทีมงานก็ไม่ปริปากบ่นเลย “การดูการแข่งรถก็เป็นเรื่องหนึ่ง” วอร์ดบอก “แต่การได้อยู่ในรถและรู้สึกถึงแรง G-Force การหักเลี้ยว การเร่งความเร็วของรถแข่งจริงๆ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย” ผลก็คือ อนิเมเตอร์หลายคนได้ไปสมัครเรียนขับรถ แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น “เราอยากจะเข้าชมการแข่งขันเพื่อดูฝูงชน และแฟนๆ และเราก็อยากได้ยินเสียงตอนที่อยู่ในการแข่งขัน ที่คุณจะไม่ได้รับฟังจากการดูคลิปวิดีโอด้วย” วอร์ดบอก เขาเองก็ได้ไปชมการแข่งขันจริงๆ กับทีมงานถ่ายทำหลายคนเช่นกัน “มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ที่คุณอาจไม่ได้เห็น ซึ่งเราก็อยากจะดูช่วงเวลาเหล่านั้น สำหรับหนังเรื่องนี้ เราได้ไปชมการแข่งรถสูตร 1 ในโมนาโก ซึ่งก็คือการแข่งขันโมนาโก กรังปรีซ์ มีคนทุกหนทุกแห่ง คุณจะได้ยินเสียงรถสะท้อนกับผนังเหมือนกับพวกวิญญาณโหยหวน มันน่าทึ่งมากครับ” อีกสิ่งหนึ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและผู้คลั่งไคล้รถของพิกซาร์ชื่นชอบที่สุดคือรถสายลับ “ฟินน์ แม็คมิสไซล์เป็นรถที่เจ๋งที่สุดในเรื่องเพราะเขาทำอะไรต่อมิอะไรได้ตั้งมากมาย” วอร์ดอธิบาย “เขาเปลี่ยนเป็นไฮโดรฟอยล์และเรือดำน้ำ และมีอุปกรณ์เจ๋งๆ มากมาย นอกจากนี้ ที่ล้อเขายังมีการติดแม่เหล็กที่ทำให้เขาสามารถไต่ผนังเหล็กได้ ฟินน์เป็นงานออกแบบของเรา ที่เราทำให้แน่ใจว่าจะมีลุคแบบยุโรปยุคหกสิบ เราทำการค้นคว้ามากมายและส่งต่อมันให้กับเจย์ ชูสเตอร์และทีมออกแบบตัวละคร เรากลับไปกลับมาบ่อยๆ เพื่อทำให้แน่ใจว่ามันจะดูสมจริงครับ” การศึกษาของชูสเตอร์รวมถึงการคิดหาสถานที่ที่จะติดอุปกรณ์สายลับเข้าไปในฟินน์และฮอลลีย์ ชิฟท์เวล “เราไม่อยากออกแบบฟินน์มาเป็นสายลับหรอกครับ” เขาอธิบาย “เราอยากให้เขาเป็นรถสปอร์ตสัญชาติอังกฤษ ที่ออกแบบมาอย่างหรูหรามีระดับ จากยุคหกสิบ เราได้ค้นคว้ารถประเภทนี้จากยุคสมัยนั้นอย่างหนัก และเราก็นำทุกสิ่งจากรถที่เราชื่นชอบมารวมกันเป็นฟินน์ครับ” เช่นเดียวกับฟินน์ แม็คมิสไซล์ ฮอลลีย์ ชิฟท์เวลเองก็ถูกออกแบบโดยทีมงานที่พิกซาร์ด้วยเช่นกัน “ฮอลลีย์พัฒนาขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วมากครับ” ชูสเตอร์บอก “ผมเข้ามาในบ่ายวันอาทิตย์และขีดๆ เขียนๆ ภาพร่างจากสิ่งที่จอห์นบอกว่าเขาอยากให้ฮอลลีย์ออกมาเป็นแบบไหน เธอเป็นรถรุ่นใหม่ ผมได้สร้างเธอขึ้นจากรถซูเปอร์คาร์สมัยใหม่ทุกแบรนด์ทั่วโลก มันมีรถซูเปอร์คาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ผู้ผลิตสร้างขึ้นมาแบบจำกัดจำนวน ผมวาดแบบสเก็ตช์นี้ขึ้นมา และในวันถัดมา พอจอห์นได้เห็นมัน เขาก็บอกว่า ‘ใช่เลย’ น่ะครับ” แน่นอนว่า ฮอลลีย์เองก็มียุทโธปกรณ์ทันสมัย ซึ่งรวมถึงกล้องตรงไฟหน้า ปืนที่ซ่อนไว้ เครื่องมือช็อคไฟฟ้า และแขนกลยืดได้ “จริงๆ แล้ว เธอบินได้ครับ” ชูสเตอร์บอก “เธอมีปีกที่จะงอกออกมาจากขอบบังโคลน และฝาด้านหลังของเธอก็จะกลายเป็นตัวควบคุมระดับตรงปีกด้านหลังที่มีลูกสูบเครื่องยนต์เจ็ท เธอมีสันดาบท้ายที่ปรากฏอยู่ในท่อไอเสียด้วยครับ” ชูสเตอร์กล่าวว่า งานนี้แม้ว่าจะท้าทายแต่ก็คุ้มค่าด้วย “รถทุกคันต่างก็มีระบบวิศวกรรมของตัวเองและจำเป็นต้องอาศัยการแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง มันเป็นทั้งความท้าทายและความสุข เพราะมันเกิดจากการที่ผมเติบโตขึ้นภายในวัฒนธรรมรถ และด้วยความเข้าใจทุกแง่มุมของการออกแบบและวิศวกรรม ผมก็เลยไม่เคยคิดว่าผมจะสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ผมได้เรียนรู้มาในดีทรอยท์ ในการใส่เอาเทคนิควิศวกรรมเข้าไปในตัวละครแบบนี้น่ะครับ” พิกซาร์เร่งเครื่องสำหรับภาพยนตร์ที่ท้าทายที่สุดจนถึงปัจจุบัน “Cars 2” รวมความท้าทายด้านเทคนิค โลกของคอมพิวเตอร์ อนิเมชัน ได้พัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงห้าปีนับตั้งแต่ “Cars” เปิดตัวในปี 2006 สำหรับ “Cars 2” ผู้กำกับควบคุมฝ่ายเทคนิค อาพูร์วา ชาห์และทีมงานเทคนิคที่น่าทึ่งที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ได้ออกแบบกลไกอนิเมชันสำหรับรถเหล่านี้ใหม่ด้วยตัวเองและใช้เครื่องมือและโปรแกรมแบบใหม่ แม้กระทั่งมีฟาร์มเรนเดอร์ (จำนวนคอมพิวเตอร์ที่ถูกใช้เพื่อเรนเดอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้) จะมีขนาดใหญ่เกือบเป็นสามเท่าของที่ใช้ใน “Toy Story 3” การจัดการเรื่องเวลาและทรัพยากรก็ยังคงเป็นความท้าทายดังจะเห็นได้จากการที่การสร้างเฟรมทั่วๆ ไปก็ยังคงใช้เวลาโดยเฉลี่ย 13 ชั่วโมง “ในแง่ของสโคปแล้ว ‘Cars 2’ เป็นหนังที่ซับซ้อนที่สุดที่พิกซาร์เคยสร้างมา” ชาห์บอก “หนังเรื่องนี้เป็นการเดินทางรอบโลกและสถานที่ทุกแห่งที่เราพาผู้ชมไปก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ทุกประเทศต่างก็มีตัวละครแบ็คกราวน์หลายร้อยคันที่แตกต่างกันออกไป การทำให้แน่ใจว่าเราจะมีคลังทรัพยากรที่สามารถสนับสนุนจำนวนมหาศาลแบบนั้นและรักษาระดับคุณภาพสูงสุดสำหรับผลที่ออกมาเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” “สำหรับบรรดารถ” ชาห์บอก “ไอเดียคือการมีไลน์ผลิตสำหรับกระบวนการสร้างกลไกให้กับรถแต่ละคัน เราเริ่มต้นจากโมเดลมาตรฐาน ก่อนจะเสริมแต่งลักษณะต่างๆ เข้าไปให้รถทุกคัน รถแต่ละคันจะแตกต่างกันด้วยระบบกันสะเทือนและลักษณะทางเครื่องยนต์กลไกของพวกเขา รถเก่าจะมีระบบกันสะเทือนที่หลวมกว่า และคุณก็จะได้ความรู้สึกที่ว่าพวกเขาอยู่บนถนนมาได้ซักพักแล้ว หนึ่งในความล้ำสมัยของหนังเรื่องนี้คือระบบขับรถจริงๆ ว่ารถขยับยังไง ไปที่ไหน เราอยากได้ระบบควบคุมขั้นสูง ที่จะช่วยเสริมสร้างระดับความซับซ้อนเข้าไปอีกน่ะครับ” สำหรับเส้นทางแข่งรถในลอนดอน พิกซาร์ต้องสร้างภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมเกือบ 20 ไมล์ขึ้นมา ชาห์กล่าวว่า “เราเริ่มต้นด้วยแผนที่และเลย์เอาท์จริงๆ ของกรุงลอนดอน แม้ว่าโลกของเราจะเป็นโลกล้อเลียน แต่เราก็อยากจะให้มันสมจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในหนังเรื่องนี้ เราได้สร้างพืชพันธุ์และอาคารของเราในลักษณะพื้นฐานเพื่อที่เราจะสามารถประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้ครอบคลุมอาณาบริเวณที่กว้างขวางได้ นอกจากนี้ เรายังใช้วิธีการใหม่ในการสร้างน้ำเพื่อที่เราจะได้มีอำนาจควบคุมเพิ่มขึ้นสำหรับการที่เรือจะเคลื่อนไหวและตอบสนองต่อแอ็กชันน่ะครับ” สำหรับผู้กำกับภาพฝ่ายกล้อง เจเรมี ลาสกี้ ผู้รับผิดชอบการจัดฉากและการเคลื่อนไหวของภาพยนตร์เรื่องนี้ ความท้าทายคือการบันทึกความใหญ่โตของโลกใบนี้และการทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าโลกของรถเหล่านี้มีอาณาเขตกว้างขวางกว่าในเฟรมนั้น “หนังทุกเรื่องที่เราสร้างขึ้นที่พิกซาร์เป็นวิวัฒนาการครับ” เขากล่าว “เราค่อยๆ ผลักดันความสามารถของกล้องให้ปรับเปลี่ยนตามเนื้อหา สำหรับ ‘Cars 2’ เราได้นำสิ่งที่เราเรียนรู้จากหนังภาคแรกในแง่ของการถ่ายทำรถยนต์ การทำให้รถพวกนั้นให้ความรู้สึกเหมือนตัวละครและการใช้หลักการถ่ายทำเหล่านั้นที่พัฒนาขึ้นมา ตอนนี้ กล้องให้ความรู้สึกติดดินและสมจริงมากขึ้นกว่าใน ‘Cars’ ภาคแรก และเราก็ได้ขยายภาษาของเราในแง่ของการถ่ายทำการแข่งขันและการชิงไหวชิงพริบของสายลับเพื่อทำให้มันตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น หนังเรื่องนี้จะต้องให้ความรู้สึกเหมือนภาคแรก แต่ดียิ่งขึ้น เราต้องยกระดับหนังขึ้นเรื่อยๆ ครับ” “สิ่งหนึ่งที่เราได้พบใน ‘Cars’ ภาคแรกก็คือมันมีมุมมองและเลนส์ที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ที่เวิร์คสำหรับตัวละครเหล่านี้” ลาสกี้บอก “ในการใช้สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในภาคที่แล้วเป็นจุดเริ่มต้น เราก็ได้ท้าทายตัวเองในการจัดวางตำแหน่งสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่น่าสนใจ ในแบบที่จะทำให้รถเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ รถจะน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในตอนที่มันแล่น ในภาคนี้ เราขยับกล้องอยู่บ่อยๆ และทุกสิ่งก็ถูกผลักดันเพื่อให้เห็นว่ามันจะน่าตื่นเต้นและมีความเคลื่อนไหวได้มากมายขนาดไหน เรานำตัวละครที่ทุกคนรักไปอยู่ในสถานการณ์สุดโต่งในฉากสวยๆ และเราก็ผลักดันเรื่องราวแสนสนุก สุดเจ๋งนี้ไปอีกในทุกๆ ระดับครับ” จากมุมมองด้านภาพแล้ว ลาสกี้ภูมิใจกับฉากแข่งรถลำดับที่สองของเรื่อง ที่เกิดขึ้นตามริเวียราของอิตาลี ในเมืองปอร์โต คอร์ซา มากที่สุด ลาสกี้อธิบายว่า “ฉากนี้ยาว 12 นาทีและประกอบไปด้วย 250 ช็อต ซึ่งเป็นฉากใหญ่สำหรับเรา มันประสานเนื้อเรื่องสำคัญๆ เข้าด้วยกันในขณะเดียวกัน มันมีเรื่องราวการแข่งรถของไลท์นิง มีเรื่องของเมเตอร์ที่เข้าไปสอดแนมในคาสิโน ที่ซึ่งผู้ร้ายและลูกสมุนของเขามาพบปะกันอย่างลับๆ เพื่อปรึกษาหารือถึงแผนการชั่วร้ายของพวกเขา และแน่นอนว่ามีฟินน์และฮอลลีย์พยายามจะหยุดยั้งพวกเขา มันเป็นความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ที่จะจัดการเรื่องพวกนี้ในเรื่องของโครงสร้างและภาพเพื่อที่แอ็กชันจะสามารถดำเนินต่อได้ และเราก็จะกลับไปกลับมาระหว่างฉากพวกนี้เพื่อทำให้มันดำเนินต่อกันอย่างไหลลื่น มันให้ความรู้สึกน่าตื่นเต้น และความตึงเครียดก็จะทวีสูงขึ้นเมื่อคุณรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นน่ะครับ” สำหรับ “Cars” ภาคแรก ลาสกี้และทีมงานของเขาได้ปรึกษากับอาร์ตี้ เคมป์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากฟ็อกซ์ สปอร์ต ในการบันทึกความตื่นเต้นของการแข่งรถ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการวางตำแหน่งกล้องในการถ่ายทอดสดของเขา ในโลกเสมือนของคอมพิวเตอร์ อนิเมชัน กล้องจะถูกวางลงตรงไหนก็ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ตากล้องต้องบาดเจ็บหรืออุปกรณ์พังเสียหาย ดังนั้น ความเป็นไปได้ก็เลยทั้งน่าสนใจและไร้ขีดจำกัด ลาสกี้กล่าวเสริมว่า “เราอยากให้ภาพใน ‘Cars 2’ ให้ความรู้สึกของการแข่งขันบนท้องถนนหรือการแข่งขันรถสูตร 1 จริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือนกับสิ่งที่คุณจะไม่ได้จากการดูการแข่งขันพวกนี้ในโทรทัศน์ เราอยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าผู้ชมกำลังแข่งไปกับรถพวกนี้จริงๆ น่ะครับ” ที่พิกซาร์ หน้าที่ของผู้กำกับภาพจะถูกแบ่งออกเป็นสองงานหลักๆ นั่นคือกล้องและแสง ผู้ที่ทำหน้าที่เดียวกับลาสกี้ในเรื่องของแสงคือชารอน คาลาฮัน ผู้เคยร่วมงานกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์มาแล้วในภาพยนตร์สามเรื่องก่อนหน้านี้ “หนังเรื่องนี้มีโลเกชันต่างประเทศที่เหลือเชื่อมากมาย” คาลาฮันบอก “มันเกิดขึ้นในยุโรปและเอเชียและเราก็อยากจะสร้างให้เกิดความรู้สึกจากสถานที่เหล่านั้น แทนที่จะให้ความรู้สึกเหมือนว่าเรายังอยู่กันในเรดิเอเตอร์ สปริงส์ เราอยากให้เมเตอร์รู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง โลกพวกนี้ไม่ได้เหมือนกับเรดิเอเตอร์ สปริงส์เลย พวกมันมีประกายแวววับ มีสีสันเจ๋งๆ และฮิปสุดๆ เราอยากให้เมเตอร์ดูโดดเด่นท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ และแสงก็ช่วยเราได้ในเรื่องนี้ค่ะ” “วิธีการให้แสงของเราจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาค่ะ” เธอกล่าวต่อ “สโคปของหนังเรื่องนี้เป็นตัวพิสูจน์เรื่องนี้ในทุกๆ แผนก ไม่ใช่เฉพาะแผนกแสงเท่านั้น เรามักจะคิดหาวิธีที่จะทำให้ได้ดีกว่านี้เสมอ ทุกสิ่งในหนังเรื่องนี้เหนือกว่าสิ่งที่เราเคยทำมาก่อนเสียอีก เราใช้เซ็ทอัพแสงมาสเตอร์ แสง และพื้นผิวสะท้อนเงามากกว่าที่เคยมีการทำมาด้วย” สำหรับซีนต่างๆ ในปารีส คาลาฮันได้แสดงความคารวะต่อ “Ratatouille” ด้วยการใช้แสงอ่อนๆ ที่นุ่มนวลในแบบที่คล้ายคลึงกัน ในการเสริมสร้างความสมจริง จูเลียน ชเรเยอร์ นักวาดภาพแสงมาสเตอร์ ผู้ทำงานใน “Cars 2” มาจากปารีสและเคยทำงานใน “Ratatouille” ด้วยเช่นกัน “ฉันบอกเขาว่า เขาจะยังทำงานไม่เสร็จจนกว่าเขาจะเริ่มคิดถึงบ้านน่ะค่ะ” เช่นเดียวกับ ทีมงานแสงชาวอังกฤษหลายคนก็ได้ทำงานในฉากลอนดอน ซึ่งมืดหม่นแต่ก็ไม่หดหู่ คาลาฮันบอกว่า “ทีมงานที่เป็นชาวอังกฤษบอกฉันว่า ‘คุณต้องทำให้มันมืดหม่นนะ’ ฉันก็แบบ ‘แหงล่ะ คุณคาดหวังอะไรอีกล่ะ’ น่ะค่ะ” ส่วนหนึ่งของซีเควนซ์ที่ท้าทายที่สุดสำหรับคาลาฮันและทีมงานของเธอคือฉากยามราตรี ฉากเปิดเรื่องสายลับที่เต็มไปด้วยแอ็กชันของเรื่องในใจกลางมหาสมุทร ที่มีแสงสะท้อนบนผิวน้ำ และซีนในโตเกียว ที่มีป้ายนีออนส่องแสงแวววาวจำเป็นต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและการผสมผสานกลไกแสงเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ตามต้องการ คาลาฮันกล่าวเสริมว่า “สโคปของหนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นในทุกๆ แผนก ไม่ใช่แค่แผนกแสงเท่านั้น มันมีช็อตฝูงชนมากกว่าที่เราเคยทำมาก่อน สิ่งที่ฉันชอบที่สุดเกี่ยวกับ ‘Cars 2’ ก็คือเรามีภาพที่หลากหลายมาก รถไฟสายลับดูแตกต่างจากเครื่องบินสายลับ เรามีภาพภายในและภายนอกมากมาย เรามีทั้งกลางวัน กลางคืนและอากาศที่เปลี่ยนแปลง มันเต็มไปด้วยรายละเอียดด้านภาพและสีสันสดใส แต่ก็มีซีนที่ใช้สีสันที่เคร่งขรึมและจำกัดมากกว่าด้วยค่ะ” “จอห์นเป็นผู้กำกับที่น่าทึ่ง” เธอกล่าวเสริม “เขามักจะมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในหัวว่าเขาอยากจะเห็นอะไร เขารู้ว่าเขาอยากให้สิ่งต่างๆ ออกมาเป็นยังไง ว่าประเด็นเรื่องราวของเขาคืออะไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเขาและอะไรที่ไม่สำคัญ ดังนั้น มันก็เลยมีความกระจ่างชัดที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการถ่ายทำทั้งหมดและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนก้าวไปไกลเกินขอบเขตของสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะทำน่ะค่ะ” “นักแสดงรถ” คันสำคัญและผู้เข้าแข่งขัน ใครเป็นใครใน “Cars 2” ขบวนรถจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์ ไลท์นิ่ง แม็คควีน (ไลท์นิ่ง) (ให้เสียงโดย โอเว่น วิลสัน) ไลท์นิ่ง แม็คควีน หมายเลข 95 ที่ผ่านชีวิตรถแข่งมือใหม่ไปสู่การเป็นรถแข่งดาวรุ่งพุ่งแรงและพลเมืองเต็มขั้นของเรดิเอเตอร์สปริงส์ ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นคนดังระดับโลกจากการเป็นแชมป์ 4 สมัยของการแข็งขันพิสตันคัพ หลังจากชัยชนะครั้งล่าสุด เขาได้กลับไปใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายกับ แซลลี่ หวานใจของเขา, เมเทอร์ เพื่อนซี้, และครอบครัวชาวเรดิเอเตอร์สปริงส์ของเขา แต่การพักผ่อนหลังฤดูการแข่งขันของเขาต้องจบลงอย่างคาดไม่ถึง เมื่อเมเทอร์ได้จัดแจงส่งไลท์นิ่งเข้าร่วมแข่งขังรายการ เวิล์ด กรังด์ปรีซ์ การแข่งขันระดับโลกที่แบ่งออกเป็น 3 สนามแข่งที่จะพาเขาไปตระเวนรอบโลก หลังจากการยกเครื่องทำสีและการติดไฟหน้าของจริงเสร็จเรียบร้อย ไลท์นิ่งได้มุ่งหน้าสู่ญี่ปุ่น อิตาลี และอังกฤษ ไปพร้อมกับเมเทอร์ สู้การผจญภัยครั้งสำคัญในชีวิต แต่การที่จะต้องชิงชัยกับเหล่ารถแข่งที่เร็วที่สุดในโลกนั้นได้ทดสอบมากกว่าเทคนิคการแข่งขันของเขา เมื่อไลท์นิ่งตระหนักว่าเพื่อนซี้ตาโตของเขาอาจไม่เหมาะกับการเป็นหัวหน้าหน่วยพิทหรือเป็นตัวแทนของเขาในการแข่งขันระดับประเทศ เมเทอร์ (ให้เสียงโดย แลร์รี่ เดอะ เคเบิลกาย) เรดิเอเตอร์ สปริงส์ ในตอนนี้ได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดฮิต เมเทอร์-รถลากสนิมเขรอะจึงมีหลายบทบาทหน้าที่ ตั้งแต่เจ้าของบริการรถลาก “โทว เมเทอร์ โทว์วิ่ง แอนด์ ซาเวจ”, นักเล่าเรื่องตัวยง และเป็นเสมือนจิตวิญญาณของเมืองนี้อีกด้วย แต่บทบาทที่ชอบที่สุดคือการเป็นเพื่อนซี้ของ ไลท์นิ่ง แม็คควีน เมเธอร์เห็นถึงคุณค่าในทุกๆวันทุกๆเสี้ยวนาทีที่เขาได้ร่วมทางไปกับไลท์นิ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังรอคอยอย่างตื่นเต้นที่จะได้ร่วมสนุกกับเพื่อนของเขาเมื่อไลท์นิ่งได้กลับมาพร้อมกับถ้วยพิสตันคัพใบล่าสุด เมเทอร์ผู้มีชีวิตชีวา, ซื่อสัตย์ และรักพวกพ้อง รีบเข้าปกป้องเพื่อนของเขา ซึ่งในที่สุดแล้วกลับทำให้ไลท์นิ่งต้องเข้าสู่การแข็งขันรถยนตร์ระดับโลก เวิล์ด กรังค์ปรีซ์ เมื่อไลท์นิ่งได้ชวนเมเทอร์มาร่วมเป็นสมาชิกในทีมพิทของเขา เมเธอร์ตัดสินใจออกจากเมืองคาบูเรเตอร์เป็นครั้งแรกในชีวิต ไม่นานหลังจากที่พวกเขาถึงโตเกียว เมเธอร์ได้รู้ว่าโลกภายนอกต่างจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์มาก และคงต้องใช้เวลาซักพักกว่าที่เขาจะเคยชินกับมัน แต่เมื่อเขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสายลับอเมริกัน เขากลับหลงไหลไปกับการผจญภัยอันแสนตื่นเต้นของเขาเอง ทั้งการที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนรักในการแข่งขันทั่วโลกและบทบาทใหม่ของการเป็นซูเปอร์สปายสายลับระดับโลก ทำให้เมเทอร์ต้องลงเอยด้วยการซิ่งสุดชีวิตบนถนนในโตเกียวและยุโรป ควบคู่ไปกับทีมสายลับจากสหราชอาณาจักรและเหล่าวายร้ายระดับโลก ซัลลี่ (ให้เสียงโดย บอนนี่ ฮันท์) ซัลลี่ สาวสวยปอร์เช่ 911 คาเรร่า สีน้ำเงิน เจ้าของร้าน “โคซี่โคน” และโรงแรม “วีล แวกอน” ในเรดิเอเตอร์ สปริงส์ และควบตำแหน่งหวานใจของไลท์นิ่ง แม็คควีนอีกด้วย เธอรอคอยการกลับมาจากการแข่งพิสตัน คัพครั้งล่าสุดของ ไลท์นิ่ง เพื่อที่จะได้มีเวลาไปขับรถเล่นอีกครั้งกับ“เจ้าสติ๊กเกอร์” ฉายาน่ารักๆที่ซัลลี่ใช้เรียกไลท์นิ่งด้วยความรัก เมื่อไลท์นิ่งตอบรับที่จะเข้าร่วมแข็ง เวิล์ด กรังด์ปรีซ์ ในคืนแรกที่เขากลับมาถึง ซัลลี่ยังคงมีใจที่จะสนับสนุนนักแข่งคนเก่งของเธอและยังโน้มน้าวให้ไลท์นิ่งพาเมเทอร์ เพื่อนรักของออกเดินทางครั้งสำคัญไปด้วยกัน ถึงแม้ว่าซัลลี่จะถูกทิ้งให้อยู่ที่เรดิเอเตอร์สปริงส์ และเธอก็คลั้งไคล้รถแข่งฟอร์มูล่า วัน จากยุโรป แต่ก็ไม่มีใคที่จะทำให้เครื่องยนต์เธอคำรามได้อย่างไลท์นิ่ง แม็คควีน ลุยจิ (ให้เสียงโดย โทนี่ ชาลูบ์) ลุยจิ พลเมืองชาวเรดิเอเตอร์สปริงส์ คือรถยนตร์เฟียต 500 ผู้ใจกว้าง, ตลก, และตื่นตัวตลอดเวลา ผู้ชำนาญเรื่องยางละเจ้าของร้าน ลุยจิ คาซา เดลลา ไทส์ เขาและลูกน้องคู่ใจ กุยโด้ ได้ร่วมมือกับ ไลท์นิ่งและเมเทอร์ ในฐานะสมาชิกของทีม ไลท์นิ่ง แม็คควีน ในการแข่งขัน เวิล์ด กรังด์ปรีซ์ นอกจากนี้ลุยจิยังคงคลั้งไคล้ทุกอย่างที่เป็นของอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรถแข่งเฟอร์รารี เมื่อการแข่งขันได้พาเขากลับมาถึงบ้านเกิดอย่าง พอร์โต คอร์ซา ประเทศอิตาลี ลุยจิก็ลิงโลด แนะนำหมู่บ้านและถนนหนทางที่มีเสน่ห์ของอิตาลีให้กับทีมงานชาวเรดิเอเตอร์สปริงส์ทันที ครอบครัวของเขาต่างต้อนรับสมาชิกชาวเรดิเอเตอร์สปริงส์ด้วยความรักอย่างอบอุ่นสุดซาบซึ้งใจในสไตล์อิตาเลี่ยน “อมอร์!” กุยโด้ (ให้เสียงโดย ควาโรนิ) กุยโด้ รถยกอิตาเลี่ยนคันจิ๋ว คือเสาหลักของร้าน คาซา เดลลา ไทส์ เขาเป็นทั้งผู้ช่วยและเพื่อนซี้ของลุยจิ ทั้งคู่ต่างเป็นแฟนพันธุ์แท้ของรถแข่งเฟอร์รารีในเมืองคาบูเรเตอร์ กุยโด้เป็นรถที่พูดภาษาอังกฤษน้อยมาก นอกจากคำว่า “เข้าพิท” คือกำลังสำคัญที่น่าจดจำในฝีไม้ลายมือการเปลี่ยนยางในพิทระหว่างการแข่งขัน การเป็นส่วนหนึ่งของทีมไลท์นิ่ง แม็คควีน กุยโด้ต้องแสดงถึงพลังความรวดเร็วและเทคนิคการเปลี่ยนยางในการแข่งขันระดับโลก และบางทีเขา “อาจจะ” ได้เห็นเฟอร์รารีก็เป็นได้ ฟิลมอร์ (ให้เสียงโดย ลอยด์ เชอร์) ฮิปปี้สุดชิลประจำเรดิเอเตอร์สปริงส์ รถตู้โฟล์ค วาเกน ปี1960 ผู้รักสันติภาพ และซาร์จ เพื่อนที่อาศัยอยู่บ้านติดกัน ที่มีวลีเด็ดของทั้งคู่ที่ว่า “ฮิปปี้ ยังไงก็เป็นฮิปปี้” ที่ร้านยอดนิยมของเขา ฟิลมอร์ ออแกนนิค ฟูเอล เขาขายน้ำมันที่เขากลั่นเองพร้อมกับบังโคลนลายผ้ามัดย้อมแบบโบฮีเมี่ยน แต่พอได้รู้ว่าจะมีการแข่งเวิล์ดกรังด์ปรีซ์ที่ใช้เฉพาะน้ำมัน อัลลินอล เท่านั้น ฟิลมอร์ถึงกับลงทุนปิดร้านเพื่อลงชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันให้กับทีมไลท์นิ่ง แม็คควีน ผู้ที่เดินทางจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์มาด้วยคือซาร์จ (พากย์เสียงโดยพอล ดูลีย์), แม็ค (พากย์เสียงโดยจอห์น แรทเซนเบอร์เกอร์), ราโมน (พากย์เสียงโดยชีค มาริน), โฟล (พากย์เสียงโดยเจนนิเฟอร์ ลูอิส), เชอริฟฟ์ (พากย์เสียงโดยไมเคิล วอลลิส) และลิซซี (พากย์เสียงโดยแคทเธอรีน เฮลมอนด์) สายลับชั้นยอด ฟินน์ แม็คมิสไซล์ (ให้เสียงโดย ไมเคิล เคน) ฟินน์ แม็คมิสไซล์เป็นสายลับผู้ดีขั้นเทพ ถึงแม้ว่าเขาจะมีเสน่ห์ดูดีแค่ไหน แต่ความสามารถในการสะกดรอย ความเฉลียวฉลาดและประสบการณ์ภาคสนามของเขาต่างหากที่ทำให้เขาหลบหลีกการโจมตีที่คาดไม่ถึงจากพวกเหล่าร้าย และหนีไปได้อย่างลอยนวล แบบดีไซน์ของฟินน์ทั้งเพรียวบาง เหนือกาลเวลา แต่เขาก็เตรียมพร้อมสำหรับการรับมือสถานการณ์ยุ่งยากด้วยเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ซูเปอร์เจ๋ง ซึ่งรวมถึงตะขอเกี่ยวด้านหน้าและด้านหลัง ปืนยิงมิสไซล์ ระเบิดแม่เหล็กและเครื่องฉายโฮโลกราฟฟิคหลอกตา ในฐานะมือโปรในแวดวงสายลับนานาชาติ ฟินน์เชื่อว่าเกิดการสมคบคิดกันขึ้นระหว่างการแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ผลงานชั้นเลิศเกี่ยวกับการแข่งโชว์ทั่วโลกของเขาทำให้เขาต้องชนกับเมเตอร์ ผู้ซึ่งเขาเข้าใจผิดว่าเป็นสายลับอเมริกันอัจฉริยะที่ปลอมตัวมา ฮอลลีย์ ชิฟท์เวลล์ (ให้เสียงโดย เอมิลี มอร์ติเมอร์) ฮอลลีย์ ชิฟท์เวลล์เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสาวสวยชาวอังกฤษ ผู้ผันตัวเองกลายเป็นสายลับฝึกหัด ผู้ประจำการอยู่ในโตเกียว ด้วยความที่มีการศึกษาสูงและความคิดที่เฉียบคม เธอก็เลยรู้ซึ้งถึงกลเม็ดเด็ดพรายทั้งหมดในหนังสือ หรือจะพูดให้ถูกก็คือ เธอพึ่งพาทุกกลยุทธในหนังสือคู่มือสายลับต่างหากล่ะ เธอมีเครื่องมือสายลับที่ล้ำสมัยที่สุดอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นกล้องลับ อาวุธลับ ไปจนถึงแขนกลสำหรับส่องทางไกลและภาพดิสเพลย์โฮโลกราฟฟิค ฮอลลีย์เป็นสายลับที่มีแรงจูงใจสูง แต่ด้วยความที่เธอเพิ่งจบใหม่สดๆ ร้อนๆ ประสบการณ์ที่เธอมีจึงมีแค่บทเรียนในโรงเรียนแทนที่จะเป็นสถานการณ์ในชีวิตจริง เมื่อฟินน์ แม็คมิสไซล์ สายลับระดับโลกผู้คร่ำหวอดในวงการมานาน ต้องการใช้ความชำนาญด้านเทคนิคของฮอลลีย์ในปฏิบัติการลับสุดยอดของเขา เธอก็พบว่าตัวเองต้องเจอกับ เมเตอร์ รถใสซื่อที่ถูกดึงเข้ามาพัวพันกับวังวนปริศนา ผู้รู้สึกประทับใจกับความงดงามของเพื่อนใหม่คันนี้เหลือเกิน ซิดเดอเลย์ (ให้เสียงโดย เจสัน ไอแซ็กส์) ซิดเดอเลย์ เป็นเครื่องบินเจ็ทสายลับสองเครื่องยนต์ของอังกฤษ ด้วยความยาวตั้งแต่หัวจรดปลาย 176 ฟุตและความยาวปีกที่กว้างถึง 157 ฟุต ซิดเดอเลย์ที่มีลำตัวเครื่องสีเงินเพรียวลมได้แหวกผ่านน่านฟ้านานาชาติด้วยความเร็ว 1 มัค ที่ทำลายสถิติ ด้วยอุปกรณ์สายลับไฮเทค ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีอำพรางตัว เครื่องมือป้องกันตัวและอุปกรณ์ช่วยในการเผาไหม้เครื่องยนต์ ซิดเดอเลย์จึงเป็นคู่หูการปราบเหล่าร้ายที่ทรงประสิทธิภาพของฟินน์ในการเดินทางรอบโลก บรรดาสายลับชั้นยอดใน “Cars 2” ยังรวมถึงร็อด “ทอร์ค” เร้ดไลน์ (พากย์เสียงโดยบรูซ แคมป์เบลล์) ด้วย การแข่งขันเริ่มแล้ว ไมลส์ แอ็กซ์เลร็อด (ให้เสียงโดยเอ็ดดี้ อิซซาร์ด) เซอร์ไมลส์ แอ็กซ์เลร็อด เป็นอดีตบารอนน้ำมัน ผู้ขายกิจการทิ้ง และเปลี่ยนตัวเองเป็นรถไฟฟ้าและอุทิศชีวิตตัวเองไปกับการค้นหาแหล่งพลังงานใสสะอาดแห่งอนาคต และท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ได้ค้นพบสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นเชื้อเพลิงที่รถทุกคันควรจะใช้ นอกจากนี้ แอ็กซ์เลร็อดยังเป็นรถที่อยู่เบื้องหลังการแข่งเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ซึ่งครอบคลุมสามประเทศ ที่เขาได้สร้างขึ้นเพื่อล่อใจบรรดานักแข่งชั้นนำของโลกด้วย แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นเพียงข้ออ้างในการโชว์อัลลินอล เชื้อเพลิงใหม่ที่วิเศษสุดของเขาต่างหากล่ะ ฟรานเซสโก้ เบอร์นูลลี (ให้เสียงโดยจอน ทูเทอร์โร) ฟรานเซสโก้ เบอร์นูลลีเติบโตขึ้นในเงาของสนามแข่งมอนซาอันโด่งดังในอิตาลี ที่ซึ่งเขาและผองเพื่อนมักจะแอบแล่นไปตามสนามแข่งเพื่อทดสอบฝีมือกับทางโค้งยกระดับในพิสต้า ดิ อัลต้า เวโลซิต้าที่มีชื่อเสียงเสมอ เขาประสบความสำเร็จในการลงแข่งระดับมือสมัครเล่นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นแชมเปี้ยนฟอร์มูลาระดับโลก สาวๆ คลั่งไคล้ล้อที่เปิดกว้างของเขา ส่วนเด็กๆ ก็เทิดทูนจิตวิญญาณที่อยากเอาชนะของเขา ในขณะที่เพื่อนพ้องนักแข่งต่างก็ริษาความเร็วของเขา แต่แฟนที่ชื่นชอบฟรานเซสโก้มากที่สุดก็คือตัวเขาเอง ตามที่ปรากฏชัดด้วยหมายเลขรถแข่งของเขา ในฐานะรถแข่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุโรป ฟรานเซสโก้ หมายเลขหนึ่ง เป็นตัวเก็งในการแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์ครั้งนี้ และทำให้เขาเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของไลท์นิง แม็คควีนซะด้วย ลูอิส แฮมิลตัน หมายเลข 2 (ให้เสียงโดยลูอิส แฮมิลตัน) ลูอิส แฮมิลตัน แชมเปี้ยนแกรนด์ ทัวริง สปอร์ตหมายเลข 2 ที่ขึ้นชื่อด้านความเพรียวลมและความเร็ว เป็นรถแข่งที่มุ่งมั่นในการคว้าชัยชนะมาเกือบตลอดชีวิตน้อยๆ ของเขา เช่นเดียวกับรถรุ่นใหม่ไฟแรงคันอื่นๆ ลูอิสใช้เวลาในวัยเด็กไปกับการเข้าเรียน การฝึกคาราเต้และการคว้าแชมป์คาร์ทติ้งของอังกฤษได้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ปัจจุบันนี้ รถอังกฤษชื่อดังคันนี้ก็ยังพกพาคติการทำงานที่เยี่ยมยอดและความมั่นใจที่นุ่มนวลของเขาลงสนามแข่ง ที่ซึ่งความสำเร็จพิเศษสุดของเขาจากสถิติไร้พ่ายในสนามจูเนียร์และโปรได้เป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของเขาได้เป็นอย่างดี ด้วยธีมสีเหลืองดำเมทัลลิคที่โดดเด่น ลูอิสจะเป็นตัวแทนของเกาะอังกฤษในการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ครั้งนี้ นอกจากนี้ ตัวรถของเขายังติดธงชาติเกรนาดา บ้านเกิดของครอบครัวเขา ผู้อพยพมายังอังกฤษในยุค 50s ด้วย ทักษะด้านเทคนิคที่ไม่มีใครเทียบได้ ความเร็วตามธรรมชาติและทัศนคติเยือกเย็นที่ได้จากคาราเต้ของเขาทำให้เขากลายเป็นคู่แข่งที่ทรงพลัง คาร์ลา เวโลโซ หมายเลข 8 คาร์ลา เวโลโซ ผู้ลงชิงชัยในการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ มาจากริโอ เดอ จาไนโร ประเทศบราซิล ดิวาสาวชาวลาติน ผู้อ่อนหวานแต่ทรงพลังคันนี้ สามารถเต้นได้ตลอดทั้งคืนที่ “คาร์นิวาล” แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของเธอบนสนามแข่งมากกว่า หลังจากที่ทำลายสถิติที่สนามแข่งอินเตอร์ลากอสในท้องถิ่น เธอก็ถูกเลือกให้ร่วมทีมแข่งขันความอดทน 24 ชั่วโมงในยุโรป ที่ซึ่งเธอมักจะคว้าตำแหน่งหนึ่งในสามได้อย่างสม่ำเสมอ ในโลกของกรังปรีซ์ เลอ มอเตอร์ โปรโตไทป์ สัญชาติบราซิล ผู้หยิ่งทะนงคันนี้เป็นสาวสวยเพียงหนึ่งเดียวในสนามแข่ง และคาร์ลาก็พร้อมแล้วที่จะพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า หมายเลข 8 จะคว้าชัยชนะกลับประเทศบ้านเกิดให้ได้ เจฟฟ์ กอร์เว็ตต์ (ให้เสียงโดยเจฟฟ์ กอร์ดอน) เจฟฟ์ กอร์เว็ตต์ เป็นหนึ่งในรถแข่งอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน รถคอร์เว็ตต์ C6.R หมายเลข 24 ที่มีลวดลายแถบและดวงดาวตามธงชาติประเทศเขา ได้พิสูจน์ความสามารถของเขาในการประสบความสำเร็จในสนามแข่งแกรนด์ ทัวริง สปอร์ต หลังจากที่ย้ายจากบ้านเกิดในวัลเลโจ, แคลิฟอร์เนีย ไปยังอินเดียนา เพื่อให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับโลกรถแข่ง ความสามารถของกอร์เว็ตต์ในการเร่งความเร็วตั้งแต่อายุยังน้อยก็มักจะดึงดูดสายตาผู้ชมเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาลงแข่ง สถิติชัยชนะและการครองตำแหน่งแชมป์ของเขาไม่มีใครเทียบได้ ทำให้เขาเป็นคู่แข่งที่น่านับถือ และเป็นตัวอันตรายของแท้ ในการแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ผู้แข่งขันรายอื่นๆ ได้แก่: - แม็กซ์ ชเนลล์ หมายเลข 4 จากเยอรมนี รถเปิดประทุนคาร์บอนไฟเบอร์ชนะเลิศการแข่งขันที่มอเตอร์เฮมริงมากกว่ารถเวิลด์ ทอร์ค แชมเปี้ยน ลีค คันไหนๆ ในประวัติศาสตร์ - มิเกล คามิโน หมายเลข 5 จากสเปน รถแข่งที่คร่ำหวอดในสังเวียน รันนิง ออฟ เดอะ บุลโดเซอร์ เป็นผู้เข้าแข่งขันที่ดุดันในสนามแข่งแกรนด์ ทัวริง สปอร์ตด้วยเช่นกัน - ราอุล ซารูล์ หมายเลข 6 จากฝรั่งเศส “รถแรลลีที่เยี่ยมที่สุดในโลก” รถคันแรกที่ชนะการแข่งขันแรลลีติดต่อกันเก้าครั้ง จะครองสนามในส่วนของถนนดินลูกรัง - ชู โทโดโรกิ หมายเลข 7 จากญี่ปุ่น รถเลอ มอเตอร์ โปรโตไทป์ แชมเปี้ยนซูซูกะ เซอร์กิต มีลวดลายมังกรคาริวสีแดงเพลิง ที่บางคนบอกว่าน่าจะข่มขวัญผู้เข้าแข่งขันรายอื่นได้ - ไนเจล เกียร์สลีย์ หมายเลข 9 จากอังกฤษ รถแข่งแอสตัน มาร์ติน DB9R เป็นผู้คว้าชัยในการแข่งขันเริ่มต้นเกือบทุกครั้งในแกรนด์ ทัวริง สปอร์ต ซึ่งรวมถึงการติดอันดับหนึ่งในสามที่เนอร์เบิร์กริงและเลอ มองส์ - ริป คลัทช์คอนสกี้ หมายเลข 10 จากสาธารณรัฐนิว เรียร์เรนเดีย เรื่องราวซินเดอเรลลาของการแข่งขันครั้งนี้อาจทำให้ประเทศของเขาปรากฏอยู่บนแผนที่ก็เป็นได้ ผู้ที่ร่วมอยู่ในโลกการแข่งขันด้วยได้แก่: ดาร์เรลล์ คาร์ทริป (ให้เสียงโดยดาร์เรลล์ วัลทริป) ดาร์เรลล์ คาร์ทริป เป็นแชมเปี้ยนเจ้าของพิสตัน คัพหลายสมัย ผู้ผันตัวกลายเป็นผู้รายงานการแข่งขัน เชฟโรเล็ต มอนติคาร์โล หมายเลข 17 จากเคนตั๊กกี้คันนี้ โด่งดังจากการให้ความเห็นแบบลูกทุ่งของเขา ซึ่งสร้างความเพลิดเพลินให้กับแฟนๆ ถ้วยพิสตันคัพด้วยอารมณ์ขัน เสน่ห์และประโยคติดปากของเขา “บูกิตี้ บูกิตี้ บูกิตี้! ไปแข่งกันดีกว่าพวก!” เขาคร่ำหวอดอยู่ในสนามและห้องเครื่องมานานหลายปีและเขาก็จะเล่าเรื่องทุกอย่างให้คุณฟังได้ สุภาพบุรุษแดนใต้คันนี้รู้ดีว่า อะไรคือสิ่งจำเป็นต่อชัยชนะและเขาก็วางแผนที่จะใช้ประสบการณ์มากล้นของเขาในการแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์ครั้งนี้ เดวิด ฮ็อบส์แค็ป (ให้เสียงโดยเดวิด ฮ็อบส์) เดวิด ฮ็อบส์แค็ป รถ 1963 จากัวร์ ไลท์เวท อี-ไทป์ คันสีเขียวเข้ม ผู้ซึ่งเดิมมาจากรอยัล ลีมิงตัน สปา ประเทศอังกฤษ เป็นรถแข่งที่โด่งดังไปทั่วโลก อาชีพรถแข่งตลอด 30 ปีของเขาครอบคลุมทั่วโลกและการแข่งขันทุกประเภท บัดนี้ เดวิดได้แบ่งปันความรู้ที่มีค่านั้นในฐานะผู้ประกาศ ซึ่งเขาเป็นที่รู้จักดีจากการสร้างอารมณ์ขันผ่อนคลายระหว่างการถ่ายทอดสดการแข่งขัน อดีตแชมเปี้ยน ที่ได้ออกสตาร์ทนำหน้า 20 ครั้งในการแข่งขันทเวนตี้โฟร์ เอาเวอร์ส ออฟ เลอ มองส์ การเล่าเรื่องของเขามาจากประสบการณ์ส่วนตัว เดวิด ที่เป็นผู้รายงานข่าวที่แตกต่างจากผู้รายงานข่าวทั่วๆ ไป แทบอดทนรอไม่ได้ที่จะให้ความรู้และความบันเทิงแก่ผู้ชมการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ เบรนท์ มัสแตงเบอร์เกอร์ (ให้เสียงโดยเบรนท์ มัสเบอร์เกอร์) เบรนท์ มัสเบอร์เกอร์เป็นนักข่าวคนดังของอเมริกา ด้วยคำอวดอ้างสรรพคุณที่ว่า “รถที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโรงรถ” รถ 1964? ฟอร์ด มัสแตง ที่ตื่นเต้นง่ายคันนี้ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์การแพร่ภาพการแข่งขันรถยนต์ทางโทรทัศน์ และมีส่วนเชื่อมโยงกับช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดในกีฬาสมัยใหม่ ที่การแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ เบรนท์จะรายงานความเป็นไปบนสนามด้วยการวิเคราะห์อย่างเจาะลึกและความกระตือรือร้นที่ไม่มีใครเทียบได้ จอห์น ลาสเซไทร์ (ให้เสียงโดยจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์) ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าการแข่งขันระดับสูงจะถูกผลักดันจากบรรดารถที่อยู่เบื้องหลังรถแข่ง ผู้ที่ร่วมทีมในเวิลด์ กรังปรีซ์ ด้วยก็คือจอห์น ลาสเซไทร์ ผู้เป็นหัวหน้าช่างเครื่องเบื้องหลัง เจฟฟ์ กอร์เว็ตต์ หมายเลข 24 แชมเปี้ยนชาวอเมริกา ผู้เป็นตัวเก็งในการแข่งขันระดับโลกครั้งนี้ พวกเหล่าร้าย ศาสตราจารย์ซี (ให้เสียงโดยโธมัส เครทช์แมนน์) ศาสตราจารย์ซี หรือ “ท่านศาสตราจารย์” เป็นนักออกแบบอาวุธที่ทั่วโลกต้องการตัว ที่อยู่ในร่างเล็กๆ ที่ซับซ้อนแบบเยอรมัน เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ที่สวมแว่นโมโนเคิล ผู้วางแผนจะทำลายการแข่งเวิลด์กรังด์ปรีซ์ แม้ว่าแรงจูงใจที่แท้จริงของเขาจะยังไม่ชัดเจน ศาสตราจารย์ซีก็เต็มใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อกำจัดเสี้ยนหนาม และทำให้ “โปรเจ็กต์” ของเขาเดินหน้าตามกำหนดการณ์ให้ได้ เกรม (ให้เสียงโดยโจ แมนเทกา) เกรมเป็นรถ AMC เกรมลินสีส้มสนิมเขรอะ และมีรอยบุบ หลังจากดีไซน์ของเขาถูกมองว่าล้าหลัง และถูกเรียกว่า “เฉิ่ม” ซะด้วยซ้ำไป เกรมก็ถูกฝังชิปตัวใหญ่ที่กันชน ซึ่งทำให้เขาเข้าไปพัวพันกับวงการสายลับระดับโลก ในฐานะสมุนของศาสตราจารย์ซี จอมวายร้าย เกรมและเอเซอร์ คู่หูของเขาก็พยายามจะป่วนงานเวิลด์กรังด์ปรีซและรถแข่งที่มีชื่อเสียงที่ลงชิงชัยในครั้งนี้ เมื่อเกรมและเอเซอร์เข้าใจผิดคิดว่าเมเตอร์เป็นสายลับอเมริกันที่มีข้อมูลลับสำคัญ สองคู่ซี้ก็วิ่งวนทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งเมเตอร์ไม่ให้ทำลายแผนชั่วของพวกเขา เอเซอร์ (ให้เสียงโดยปีเตอร์ จาค็อบสัน) เอเซอร์มักรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นรถนอกคอกเสมอ รถ AMC เพเซอร์เก่าคร่ำคร่าคันนี้ร่วมกับพลพรรครถ “เฉิ่ม” ทำหน้าที่เป็นสมุนของศาสตราจารย์ซี จอมโฉด ผู้มีเป้าหมายใหญ่ในการสร้างความวุ่นวายให้กับงานเวิลด์กรังด์ปรีซ์ที่เป็นที่สนใจทั่วโลก และเป้าหมายหลักของเขาก็บังเอิญเป็นเมเตอร์ ผู้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสายลับซะด้วย เอเซอร์พยายามสุดแรงเกิดเพื่อจะเป็นรถเข้มแข็ง เพียงแต่เขากระตือรือร้นมากเกินไปหน่อยก็เท่านั้นเอง นักแสดงรถจากทั่วโลก ลุงโทโปลิโน (ให้เสียงโดยฟรังโก้ เนโร) ในหมู่บ้านซานตา รูโอตินา ใกล้ๆ กับปอร์โต้คอร์ซา ประเทศอิตาลี คุณลุงโทโปลิโน ลุงที่รักของหลุยจี้ ใช้ชีวิตอยู่กับมามา โทโปลิโน ภรรยาที่รักของเขา ลุงโทโปลิโนเป็นเจ้าของร้านขายยางในหมู่บ้าน ที่ซึ่งเขาได้สอนทุกอย่างให้กับหลุยจี้และกุยโด้ เพราะลุงโทโปลิโนเต็มไปด้วยคำแนะนำดีๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องยางเท่านั้น มามา โทโปลิโน (ให้เสียงโดยวาเนสซา เร้ดเกรฟ) สำหรับรถทุกคันที่รู้จักเธอ มามา โทโปลิโน ป้าของหลุยจี้ เป็นแม่ครัวมือทอง ที่มีน้ำมันเลิศรสที่สุดในหมู่บ้านซานต้า รูโอตินา ใกล้ๆ กับปอร์โต้คอร์ซา ประเทศอิตาลี แม้ว่าเธอจะมีความสัมพันธ์ที่รักใคร่และดุเดือดกับลุงโทโปลิโน สามีของเธอ เธอก็แสดงความรักและเอื้ออาทรกับทั้งครอบครัวและเพื่อนๆ ของเธอด้วยการให้พวกเขาได้ลิ้มลองน้ำมันจานเด็ดของเธอ ทอมเบอร์ (ให้เสียงโดยมิเชล มิเคลิส) ทอมเบอร์เป็นรถฝรั่งเศสคันน้อย ที่มีดีไซน์สามล้อแบบแปลกประหลาด ที่ไม่ค่อยจะมั่นคงซักเท่าไหร่ ซึ่งก็เหมาะกันดีกับชื่อของเขา ที่มีความหมายว่า ล้ม แหละนะ เขารับซื้อขายแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนรถยนต์ในตลาดปารีส แม้ว่าแหล่งที่มาที่น่าสงสัยของสินค้าเขาจะทำให้เขาต้องไปรู้จักมักจี่กับฟินน์ แม็คมิสไซล์ สายลับอังกฤษโดยไม่เต็มใจก็ตาม พระราชินี (ให้เสียงโดยวาเนสซา เร้ดเกรฟ) เมื่อการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์รอบสุดท้ายเกิดขึ้นในท้องถนนอันเก่าแก่ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระราชินีก็ยินดีอย่างเงียบๆ ที่พระองค์ได้รับคำเชิญให้เป็นประธานตรงเส้นชัย โดยเซอร์ไมลส์ เอ็กเซลร็อด พระราชินี ผู้มีสีฟ้าหรูหรามีระดับที่สุด และไม่เคยปราศจากมงกุฏประดับอัญมณี เป็นจุดศูนย์รวมของความดีงามและขัตติยะประเพณี แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะไม่ชื่นชอบการแข่งขันระดับโลก! แคร็บบี้ (ให้เสียงโดยซิก ฮันเซน) แคร็บบี้เป็นเรือเล็กจากซีแอตเติล ที่หยาบกระด้างจากช่วงเวลาหลายปีที่เขาตกปลาอยู่ในท้องทะเลแบริง ที่คลื่นลม ปั่นป่วน ด้วยเชื้อเพลิงจากนอร์วีเจียนไหลเวียนอยู่ในเครื่องยนต์ของเขา เรือสีขาว ขอบน้ำเงินเข้มลำนี้ก็ถูกจดทะเบียนอย่างเป็นทางการว่าเป็นนอร์ธเวสเทิร์น แม้ว่าเพื่อนๆ และผู้เข้าแข่งขันรายอื่นๆ จะเรียกเขาว่าแคร็บบี้ก็ตาม ความยาวลำเรือ 103 ฟุตตั้งแต่หัวเรือถึงหางเรือของเขามักจะอัดแน่นไปด้วยกระชังจับปู จนกระทั่งรถสีฟ้าลึกลับจ้างเขาให้เดินทางไปยังสถานที่ที่ห่างไกลใจกลางมหาสมุครแปซิฟิค โดยไม่มีเหตุผล แต่เขาก็ไม่แคร์หรอกตราบใดที่เขาได้รับค่าจ้างน่ะนะ รถหลากหลายสัญชาติของ “Cars 2” ยังรวมถึงโอคุนิ, คิงพิน โนบุนางะ, พิเนียน ทานากะ, เซน มาสเตอร์, ท็อปเปอร์ เด็คคิงตัน ที่สาม, ชอนซี แฟร์ส, ร้อยโทไฮเกียร์, เจ้าชายวีลเลียมและ ฯลฯ การเร่งความเร็ว: การสร้างภาพอนิเมชันและการพากย์เสียงตัวละคร ผู้มีพรสวรรค์บังคับพวงมาลัย “Cars 2” การเนรมิตชีวิตให้กับตัวละครรถใน “Cars 2” จำเป็นต้องอาศัยการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างการพากย์เสียงชั้นเยี่ยมและอนิเมชันชั้นยอด โอเวน วิลสันและแลร์รี เดอะ เคเบิล กายกลับมาพากย์เสียงบทเดิม ไลท์นิง แม็คควีน และเมเตอร์ของพวกเขาอีกครั้ง และไมเคิล เคนและเอมิลี มอร์ติเมอร์ ก็ได้เปิดซิงการพากย์เสียงให้กับพิกซาร์ครั้งแรกในบทสายลับอังกฤษ ฟินน์ แม็คมิสไซล์และฮอลลีย์ ชิฟท์เวล ในขณะที่จอห์น เทอร์ทูโรเข้ามาพากย์เสียงฟรานเชสโก้ เบอร์นูลลี “Cars 2” ได้ต้อนรับนักพากย์หน้าเดิมจาก “Cars” และทีมนักพากย์หน้าใหม่ ทีมผู้สร้างรู้สึกเสียใจไปกับการสูญเสียสมาชิกที่ทรงคุณค่าสองคนของ “Cars” ซึ่งก็คือพอล นิวแมนและจอร์จ คาร์ลิน เสียงและจิตวิญญาณของฟิลมอร์ได้รับแรงบันดาลใจจาก “The Hippy Dippy Weatherman” โดยจอร์จ คาร์ลิน และพิกซาร์ก็ได้แสดงความเคารพต่อนักแสดงตลกที่ไร้คู่แข่งผู้นี้ด้วยการเลือกลอยด์ เชอร์ ผู้เลียนแบบตัวละครไอคอนของคาร์ลินให้มาพากย์เสียงฟิลมอร์ใน “Cars 2” ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์พบอีกวิธีหนึ่งที่จะยกย่องนิวแมน “ด็อค ฮัดสันคือพอล นิวแมนครับ” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “ตัวละครตัวนี้ถูกเขียนขึ้นหลังจากที่ได้ยินเขาพูดถึงความรักในการแข่งรถของเขา ดังนั้นในหนังเรื่องนี้ พวกเขาก็เลยเปลี่ยนชื่อพิสตัน คัพเสียใหม่เพื่อด็อค ฮัดสัน กลายเป็นฮัดสัน ฮอร์เน็ท เมโมเรียล พิสตัน คัพ ไลท์นิง แม็คควีนชนะเลิศการแข่งขันครั้งแรกและเปลี่ยนออฟฟิศของด็อคให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์การแข่งขันฮัดสัน ฮอร์เน็ท เราได้แสดงความคารวะต่อด็อค ฮัดสัน ซึ่งก็เป็นการแสดงความคารวะต่อพอล นิวแมนด้วยเช่นกันครับ” “เรามีนักแสดงชั้นเยี่ยมค่ะ” ผู้อำนวยการสร้างเดนิส รีมบอก “และพวกเขาก็ทำให้ชีวิตอนิเมเตอร์ง่ายขึ้นเยอะกับการพากย์ของพวกเขา” ซูเปอร์ไวซิง อนิเมเตอร์ เดฟ มัลลินส์และชอว์น เคราส์ ได้รับหน้าที่ในการดูแลทีมงานอนิเมเตอร์กว่า 60 ชีวิตในการเนรมิตชีวิตให้กับตัวละครหลากหลาย ที่มีสีสันสดใสเหล่านี้ “Cars” ทำให้ทีมงานมีกฎบางอย่างเอาไว้ใช้สำหรับ “Cars 2” ด้วย เคราส์กล่าวว่า กฎเหล่านั้นเป็นพื้นฐานสำคัญก็จริง แต่พวกเขาก็แหกกฎบางข้อด้วย “มันมีกฎเป็นตัวตั้งต้นเอาไว้ เพราะเราไม่อยากจะคิดมันขึ้นมาใหม่ แต่เราก็มักจะแหกกฎทุกข้อ ใน ‘Cars’ จอห์น [ลาสเซ็ทเตอร์] อยากให้รถเป็นเหมือนรถที่หนักสองตัน ที่โดยมากจะไม่กระโดดไปมา แต่แม้ว่าเราจะงัดกฎนิดๆ ใน ‘Cars 2’ เราก็มักจะปฏิบัติต่อตัวละครเหล่านั้นเหมือนเป็นรถจริงๆ ครับ” มัลลินส์กล่าวเสริมว่า “กับตัวละครเหล่านี้ คุณจะต้องตระหนักว่ารถเป็นก้อนเหล็กที่แข็งแกร่ง และยิ่งคุณใช้มันในรูปแบบนั้นได้มากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งให้ความรู้สึกเหมือนรถจริงๆ มากเท่านั้น ยิ่งเรางอมันและทำให้มันเหมือนคนมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ชมก็จะรู้สึกเชื่อมโยงกับมันน้อยลงไปเท่านั้น ที่พิกซาร์ เรามักจะพยายามซื่อตรงต่อวัตถุดิบที่มาของตัวละครเสมอเพื่อทำให้พวกเขาดูสมจริง เราใช้การแสดงจากดวงตาและปากบ่อยๆ ครับ มันเหมือนกับการนำคนมาตัดตรงส่วนคางและข้อเท้าแล้วเอาส่วนหัวไว้ตรงเท้า ในตอนแรก คุณจะรู้สึกอึดอัดกับตัวเลือกที่คุณมี แต่แล้วมันก็เหมือนกับศิลปะที่ดีที่สุด ขีดจำกัดนั้นก็จะทำให้คุณมีอิสระในการค้นพบสิ่งต่างๆ ที่คุณไม่เคยลองมาก่อน การสร้างภาพอนิเมชันตัวละครเหล่านี้เป็นเรื่องของการแสดงจากส่วนหัวครับ การคิดหาวิธีที่จะแสดงซีนจากส่วนไหล่ขึ้นไป มันท้าทายก็จริง แต่มันก็คุ้มค่าอีกด้วย คุณสามารถโยนลูกเล่นแบบธรรมดาๆ ทิ้งไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้นิ้ว หรือภาษากาย แล้วมาคิดหาวิธีที่จะสร้างการแสดงที่ดีที่สุดขึ้นมาให้ได้ครับ” เคราส์กล่าวว่า “ความท้าทายในการสร้างอนิเมชันสำหรับรถยนต์คือการนำอากัปกิริยาที่เราจะทำด้วยไหล่หรือมือของเรา ไปใช้กับรถของตัวละคร ล้อหน้าอาจจะเป็นมือ เป็นไหล่หรือเป็นเท้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากจะทำอะไรกับมัน ในขณะที่ล้อหลังมักจะเป็นขา พอคุณเข้าใจคำศัพท์พวกนี้แล้ว ทุกอย่างก็จะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ระบบการขับเป็นอีกสิ่งหนึ่ง และสามารถเพิ่มระดับความซับซ้อนเข้าไปด้วยการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้มันเคลื่อนไปข้างหน้าได้น่ะครับ” “อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำกับ ‘Cars 2’ ที่ช่วยอนิเมเตอร์ได้มากคือการทำให้ตัวเลขการควบคุมมีน้อยลง” มัลลินส์กล่าว “กลไกสำหรับตัวละครหลักใน ‘Cars’ ภาคแรกมีปุ่มควบคุมอนิเมชัน 3,500 จุด เพราะเราพยายามจะทำการยืดหรือการหดทั้งหมดที่เราคิดว่าจำเป็น หนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่ผมกับชอว์นทำในหนังเรื่องนี้คือการถอดปุ่มควบคุมอนิเมชันออก 800 จุดจากตัวกลไก ซึ่งมันก็จะทำให้อนิเมเตอร์อยู่กับโมเดล เพราะพวกเขาจะไม่ใช้ปุ่มควบคุมที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งมันก็ทำให้แบบโมเดลเร็วขึ้นเยอะเลยครับ” ไลท์นิง แม็คควีน ระหว่างประชาสัมพันธ์ “Cars” ในปี 2006 โอเวน วิลสัน (“Midnight in Paris,” “The Big Year”) ได้เข้าชมการแข่งขันกรังปรีซ์ในสเปนกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ “ภาพน่าตื่นตาตื่นใจและเสียงของการแข่งรถสูตร 1 เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อครับ” โอเวนบอก “ผมเองกลายเป็นแฟนรถแข่งไปเลยหลังจากที่ได้พบนักแข่งนาสการ์หลายคนในภาคแรก” วิลสันกล่าวว่า ไลท์นิง แม็คควีนได้เติบโตขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ยังคงมีทัศนคติแบบรถแข่งเหมือนเดิม “ในตอนที่หนังเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้น ผมแฮปปี้กับการใช้ชีวิตอยู่ในเรดิเอเตอร์ สปริงส์ และการที่ได้ใช้เวลาอยู่กับแซลลีและทุกคน” เขาบอก “ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับตัวละครของผมคือการที่เขาได้เรียนรู้บทเรียนมาจากภาคแรก ตอนนี้ เขาติดดินมากขึ้น แต่ฟรานเชสโก้ [เบอร์นูลลี] ปลุกไฟของเขาให้ลุกโชนขึ้นมาและกลับเข้าสู่โหมดแข่งขันอีกครั้งครับ” ฟรานเชสโก้ไม่ใช่รถเพียงคันเดียวที่ปลุกไฟให้กับไลท์นิง “เมเตอร์เป็นเหมือนพวกลูกหมาไม่รู้จักโต ที่คุณรัก และมันก็ภักดีและรักคุณมากน่ะครับ” วิลสันบอก “แต่เขาก็ทำให้ผมแทบบ้าเหมือนกัน เขามีความปรารถนาดีก็จริง และการพยายามจะช่วยของเขากลับสร้างปัญหามากขึ้นไปอีก” สิ่งที่สร้างปัญหาให้กับทีมอนิเมชันคือการเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในแบบดีไซน์ของไลท์นิง “ใน 'Cars 2' เขาจะต้องลงแข่งในตอนกลางคืน เราก็เลยต้องเอาสติกเกอร์ของเขาออกและใส่เอาไฟหน้าเข้าไป” เคราส์บอก “เราต้องคิดหารูปทรงสำหรับไฟหน้าของเขาให้ได้ เพราะรอยยิ้มกว้างอาจปรากฏในไฟหน้าพวกนั้นได้ ดังนั้น การหาตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญครับ” วิลสันกล่าวว่า ความใส่ใจในรายละเอียดคือสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ของพิกซาร์แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ “ผมคิดว่า 'Cars' และหนังพิกซาร์เรื่องอื่นๆ ได้รับความนิยมสูงเพราะมันมีธีมที่เป็นสากลและบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นในรูปแบบที่โดดเด่นและเต็มไปด้วยอารมณ์ ที่ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว ด้วยคุณภาพที่เหมือนกับเป็นงานแฮนด์เมดน่ะครับ หนังของพวกเขาแตกต่างจากหนังของคนอื่นๆ พิกซาร์ดูเหมือนจะแคร์เรื่องของการบอกเล่าเรื่องราวออกมาอย่างเหมาะสมมากกว่าคนอื่นๆ อีกครับ” เมเตอร์ สำหรับแลร์รี เดอะ เคเบิล กาย การพากย์เสียงเมเตอร์เป็นเรื่องตามธรรมชาติ “สำหรับผมแล้ว เมเตอร์เป็นตัวละครสุดเจ๋งเพราะเขาเป็นเมเตอร์เสมอไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนก็ตาม” นักแสดงหนุ่มกล่าว “ผมเองก็เป็นตัวเองไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม และผมก็สบายใจกับการได้เป็นตัวของตัวเอง ผมชอบผู้คนและผมก็เป็นมิตรเพราะนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ในการรับบทเมเตอร์ ผมพยายามจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เขาเจอ ถ้าผมอยู่ในห้องน้ำแบบญี่ปุ่นพวกนั้น แล้วน้ำเริ่มพุ่งใส่ผมจากทุกทิศทุกทางล่ะก็ ผมก็คงจะสติแตกเหมือนกับเขาแน่ๆ” ไม่เพียงแต่แลร์รี เดอะ เคเบิล กายจะเข้าใจความรู้สึกของเมเตอร์เท่านั้น แต่เขายังเคยพบกับความสับสนด้านอาหารแบบที่รถลากผู้น่ารักคันนี้เจอด้วย “เมเตอร์คิดว่า วาซาบิ ที่เผ็ดๆ นั่นแหละครับ เป็นไอศกรีม” แลร์รีเล่า “ดังนั้น ในตอนที่พวกเขาป้ายวาซาบิให้เขาแค่นิดหน่อย เขาก็แบบ 'เชอะ ขี้ตืดจัง ขอเยอะๆ หน่อยสิ!' มันเป็นฉากที่ตลกมากครับ มีครั้งหนึ่ง ผมได้กินวาซาบิไป มีคนบอกผมว่ามันเป็นของหวานที่อร่อยมากๆ ผมก็เลยทามันเหมือนกับเป็นเยลลี ผมลงเอยด้วยการกรอกน้ำเข้าปากตลอด 15 นาทีหลังจากนั้นเลยล่ะครับ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมสนุกกับการพากย์เสียงบทนี้เพราะผมได้ใส่เอาความเป็นตัวเองเข้าไปครับ” แลร์รี เดอะ เคเบิล กาย ดาราจากรายการ “Only in America with Larry the Cable Guy” ทางฮิสทอรี แชนแนล และนักแสดงตลกสแตนด์อัพ ผู้ประสบความสำเร็จ เนรมิตชีวิตให้กับเมเตอร์ในแบบที่ไม่มีใครสามารถทำได้และบอกว่า เขาเป็นหนึ่งในแฟนของแฟรนไชส์เรื่องนี้ “ถ้าคุณบอกผมเมื่อนานมาแล้วว่าผมจะได้อยู่ในหนังบล็อกบัสเตอร์ และได้แสดงประกบพอล นิวแมนในหนังเรื่องหนึ่ง แล้วก็ประกบไมเคิล เคนในอีกเรื่องหนึ่ง ผมคงจะบอกว่าคุณบ้าไปแล้วแน่ๆ” แลร์รีบอก “ผมชื่นชอบการได้ร่วมงานกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์และทุกคนที่พิกซาร์เพราะพวกเขาเป็นคนดีและรู้วิธีการเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ลูกๆ ผมชอบดู 'Cars' และภาคใหม่นี้ก็จะเป็นภาคที่แอ็กชันที่สุดครับ” ฟินน์ แม็คมิสไซล์ จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์รู้ดีว่าใครที่เขาต้องการสำหรับการพากย์เสียงสุดยอดสายลับผู้ดี ด้วยผลงานภาพยนตร์สายลับอย่าง “The Fourth Protocol” และ “Harry Palmer” รวมไปถึงการแสดงใน “The Ipcress File” และ “Billion Dollar Brain” ไมเคิล เคนจึงเป็นตัวเลือกที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับบทนี้ “ขณะที่เรากำลังพัฒนาบทฟินน์ แม็คมิสไซล์ขึ้นมา ผมก็นึกถึงไมเคิล เคนเสมอๆ เพราะหนังสายลับเยี่ยมๆ ที่เขาเคยเล่น” ผู้กำกับบอก “เสียงของเขามีคุณสมบัติบางอย่างแบบสายลับอังกฤษที่ดูดี มีระดับ และเมื่อเขาตอบตกลง เราก็ไม่อยากจะเชื่อว่าเราจะได้ร่วมงานกับเซอร์ไมเคิล เคน! เขาเป็นหนึ่งในนักแสดงที่น่าทึ่งที่สุดเท่าที่ผมเคยร่วมงานด้วย และอนิเมเตอร์ก็ชื่นชอบการดูฟุตเตจอ้างอิงจากเซสชันบันทึกเสียงและผลงานเก่าของเขา แล้วตอนนี้ พอคุณได้เห็นฟินน์ แม็คมิสไซล์บนหน้าจอ คุณก็จะได้เห็นไมเคิล เคน รอยยิ้มของเขา ท่าทีสุภาพของเขา ความเจ๋งที่แข็งแกร่งของเขา เขาเหมาะกับตัวละครตัวนี้และรถคันนี้อย่างสมบูรณ์แบบเลยครับ” เมื่อเคนได้รับโทรศัพท์จากลาสเซ็ทเตอร์ที่ถามเขาว่า เขาสนใจที่จะพากย์เสียง “Cars 2” รึเปล่า เขาก็บอกว่า “ผมไม่อยากจะเชื่อเลย ผมพูดกับภรรยาผมว่า ‘พวกเขาอยากให้ผมพากย์เสียงใน “Cars 2” แน่ะ พวกเขาอยากให้ผมพากย์เสียงสายลับ!’ ผมเคยรับบทสายลับมาก่อน ผมก็เลยรู้ว่าจะต้องทำยังไง ตอนที่ผมได้ดู 'Cars' ภาคแรก ผมทึ่งกับเทคโนโลยีของเรื่อง และก็ไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อน ผมก็เลยตั้งหน้าตั้งตารอที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของภาคสองนี้ครับ” เคนกล่าวว่า เขาชื่นชอบสิ่งที่ทีมงานพิกซาร์ทำกับบทบาทนี้เป็นพิเศษ “การได้เห็นตัวเองเป็นรถเป็นครั้งแรกเป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก เสียงผมเหมาะกับรถสปอร์ตอังกฤษคันน้อยมากๆ และสีฟ้าก็เป็นสีโปรดของผมด้วย ฟินน์ แม็คมิสไซล์เป็นชื่อที่วิเศษสุดสำหรับรถสายลับอังกฤษ สิ่งที่เขาสามารถทำได้ทำให้สายลับคนอื่นๆ เหมือนแมรี ป็อปปินส์เลยล่ะครับ หนังเรื่องนี้ทั้งสนุกและน่าตื่นเต้น และคุณก็จะนั่งสงสัยว่าพวกเขาทำมันได้ยังไง เหมือนกับตอนที่ดูภาคแรกครับ” เสียงของเคนกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับทีมงานอนิเมชันด้วยเช่นกัน ซูเปอร์ไวซิง อนิเมเตอร์ เคราส์กล่าวว่า “พูดถึงความฝันแล้ว ไมเคิล เคนเป็นคนที่น่าทึ่งมาก ในการพัฒนาตัวละครฟินน์ขึ้นมา ผมต้องไปขุดภาพถ่ายเก่าๆ จากผลงานเรื่องก่อนๆ ของเขามาดู เขามีความหนักแน่นจริงจังในดวงตาและการแสดงของเขา มันมีสองสิ่งที่เราโฟกัสกับมันตอนที่เราพยายามจะเข้าถึงจิตวิญญาณของรถพวกนี้ นั่นคือดวงตากับปาก และไมเคิลก็เยี่ยมมากเพราะเขามีรอยยิ้มที่มีเสน่ห์จริงๆ พอเขาโกรธ ปากเขาจะเชิดขึ้น เราจับจุดตรงนั้นและใช้มันในหลายๆ ช็อต ในช็อตของฟินน์ คุณจะสังเกตเห็นได้ว่าเราใช้ฟันบนหลายฉาก และมันก็จะมีรอยย่นตรงมุมตอนที่มุมปากเขากระตุก เสียงของเขาและการพากย์เสียงของเขาทำให้เกิดโทนเสียงที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ที่ช่วยเสริมสร้างมิติให้กับตัวละครตัวนี้ มันจะมีความรู้สึกของประสบการณ์ที่คุณจะได้ยินจากเสียงของเขา ซึ่งเพอร์เฟ็กต์เลยสำหรับบทฟินน์ แม็คมิสไซล์ครับ” ฮอลลีย์ ชิฟท์เวล ทีมผู้สร้างได้เลือกนักแสดงหญิง เอมิลี มอร์ติเมอร์ (“Lars and the Real Girl,” “Shutter Island” และ “My Idiot Brother” ที่กำลังจะลงโรง) ให้มาพากย์เสียงสายลับหน้าใหม่ ฮอลลีย์ ชิฟท์เวล “ฉันตื่นเต้นสุดๆ เลยที่ได้อยู่ในหนังของพิกซาร์ค่ะ” มอร์ติเมอร์บอก “มันอาจไม่เพียงพอถ้าจะบอกว่าฉันเป็นแฟนอยู่แล้วก่อนที่ฉันจะได้รับข้อเสนอให้มาพากย์เสียง 'Cars 2' ฉันชื่นชมกับการสร้างหนังพิกซาร์ที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ และบทภาพยนตร์ของเรื่องก็วิเศษสุด มันมีการเล่าเรื่องที่น่าอัศจรรย์และไดอะล็อคที่งดงามค่ะ” มอร์ติเมอร์ได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการขัดเกลาตัวละครของเธอ “ส่วนหนึ่งของกระบวนการอนิเมชันคือการใส่เอาบุคลิก การเคลื่อนไหวและตัวตนของคุณในฐานะนักแสดงเข้าไปในตัวละครค่ะ” เธอบอก “ระหว่างสองสามเซสชันแรก คุณทำแค่อ่านบทแล้วหวังว่ามันจะออกมาดีที่สุด แต่พอผ่านไปเรื่อยๆ มันก็จะกลายเป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไป และอาศัยความร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ และคุณก็จะเข้าใจเซนส์ของเรื่องราวและตัวละคร คุณจะกล้าทดลองกับการแสดงของคุณมากขึ้น เมื่อมีแค่คุณกับคนหนึ่งคนหรือสองคนในห้อง เมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่ในกองถ่ายหนัง ฉันสามารถทดลองตะโกนหรือกระซิบได้ และฉันก็สนุกกับกระบวนการทั้งหมดจริงๆ ค่ะ” ผลน่ะหรือ? ตัวละครที่ผู้ชมจะหลงรักยังไงล่ะ “รถของพิกซาร์เป็นที่รักของทุกคน แต่การมีตัวละครหญิงแกร่งในหนังก็เป็นเรื่องเยี่ยมเหมือนกันค่ะ” นักแสดงสาวบอก “เธอเป็นรถไฮเทค ซูเปอร์โซนิคของแท้ แต่เธอก็เป็นรถจริงๆ ด้วยเหมือนกัน ฉันชอบการผสมผสานความมั่นใจมหาศาลและความสามารถมากมายของเธอเข้ากับช่วงเวลาของความตื่นตระหนกและสับสนอย่างสิ้นเชิงค่ะ” มัลลินส์ตั้งข้อสังเกตว่า “เอมิลีทั้งวิเศษสุดและมีเสน่ห์เหลือเกิน เธอให้อะไรเรามากมายในการพากย์เสียงและวิธีการพากย์เสียงของเธอก็เป็นพื้นฐานให้กับอนิเมเตอร์อย่างดี เธอทำให้ฮอลลีย์ให้ความรู้สึกของการเป็นสายลับหน้าใหม่ ใจกล้า ผู้สบายใจกับการเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลมากกว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนาม การแสดงของเอมิลีช่วยเสริมสร้างตัวละครตัวนี้ได้จริงๆ และเราก็ชื่นชอบการสร้างภาพอนิเมชันคู่ไปกับเสียงของเธอ” อนิเมเตอร์ จู๊ด บราวน์บิลล์ ชาวอังกฤษทางตะวันตกเฉียงใต้ ผู้เป็นสมาชิกใหม่ของทีมพิกซาร์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลหลายๆ ฉากของฮอลลีย์ “มันเยี่ยมจริงๆ ที่ได้ดูเซสชันบันทึกเสียงของเอมิลี มอร์ติเมอร์ แค่ได้ยินสำเนียงอังกฤษน่ะค่ะ” บราวน์บิลล์บอก “ฉันได้เห็นคนหลายคนที่ฉันรู้จักในอังกฤษในตัวเธอ และฉันก็เห็นตัวเองในเธอด้วยเหมือนกัน” บราวน์บิลล์ได้ใส่เอาบุคลิกลักษณะที่เฉพาะเจาะจงบางอย่างเข้าไปในตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอคุ้นเคยด้วย “ฉันรู้สึกว่าฮอลลีย์น่าจะมีการเคลื่อนไหวที่กระชับฉับไวกว่า สบตาน้อยกว่า เธอจะพยักหน้าและส่ายหน้าบ่อยๆ เให้ความรู้สึกของความประหม่า เคอะเขิน ซึ่งจะก่อให้เกิดความตึงเครียดมากกว่าตัวละครสบายๆ อย่างเมเตอร์ เพราะเธอเป็นรถที่สร้างสรรค์ จริงจังและมีประสิทธิภาพ เธอเป็นสายลับนี่คะ” ฟรานเชสโก้ เบอร์นูลลี ดาวเด่นแห่งโลกรถแข่งมีแฟนๆ ติดตามทั่วโลก และเขาก็เป็นแฟนหมายเลขหนึ่งของตัวเอง “ฟรานเชสโก้เป็นตัวละครที่ตลกค่ะ” รีมบอก “เขามีนิสัยเชิดหยิ่งและภาคภูมิใจในตัวเองสุดๆ การพูดคุยกันระหว่างไลท์นิง แม็คควีนและฟรานเชสโก้ตลอดเรื่องทั้งตลกและสนุกสนานค่ะ” “เขาเป็นรถที่ตลกมากครับ” ลาสเซ็ทเตอร์พูดถึงฟรานเชสโก้ “เขาหลงตัวเอง เป็นรถที่มีล้อยื่นมาข้างหน้า และในโลกของยานยนต์แล้ว รถที่มีล้อแบบนั้นจะเป็นเหมือนพวกคนชั้นสูงที่ไม่เคยต้องแต่งตัวด้วยตัวเอง เขาพูดถึงตัวเองในแบบบุคคลที่สาม เขาตลกมากครับ คนที่พากย์เสียงฟรานเชสโก้ เบอร์นูลลีคือจอห์น เทอร์ทูโร และเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม นี่เป็นหนึ่งในตัวละครที่สนุกสนานที่สุดเท่าที่เราเคยสร้างขึ้นมาเลยนะครับ” “เขาเป็นรถคู่แข่งของไลท์นิง แม็คควีนครับ” เทอร์ทูโรบอก “เขาเป็นรถแข่งอิตาเลียน แถมมีล้อแบบยื่นออกมาข้างหน้า เขาเป็นรถที่เชิดหยิ่ง มั่นใจในตัวเองและหลงตัวเอง เหมือนอย่างที่ผมอยากจะเป็น เราจะพบว่า เขาคิดว่าเขาเป็นรถแข่งที่เร็วที่สุดในโลก เขาเป็นเหมือนนกยูงนิดๆ แต่เขาก็มีอารมณ์ขันและเป็นตัวละครที่ตลกจริงๆ ครับ” รีมกล่าวว่า “ฉันตั้งหน้าตั้งตารอที่จะได้ดูซีนของฟรานเชสโก้ค่ะ บางทีอาจเป็นเพราะฉันนึกถึงภาพจอห์น เทอร์ทูโรตอนที่ฉันดูซีนพวกนั้นก็ได้ เพราะมันตลกจริงๆ ฉันคิดว่าตัวละครตัวนี้จะต้องได้รับความนิยมสูงแน่ๆ” เทอร์ทูโร (“The Big Lebowski,” “The Taking of Pelham 123,” “Transformers: Dark of the Moon”) กล่าวว่า เขาได้รับความช่วยเหลือในการตีความบุคลิกของฟรานเชสโก้ “ผมขโมยบางส่วนมาจากนิสัยของเพื่อนผม” เขาบอก “เขาเป็นคนช่างประชด ตลกขบขันและอบอุ่น คุณต้องใช้พลังงานมากมายเพราะคุณต้องทำทุกอย่างด้วยเสียงครับ” ในฐานะรถสูตรล้อยื่น ฟรานเชสโก้ทำให้ทีมงานอนิเมชันต้องคิดหนัก “สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟรานเชสโก้คือเราต้องมีส่วนกันชนปิดล้อเอาไว้เสมอ” มัลลินส์บอก “เพื่อที่เราจะสามารถซ่อนความลับเล็กๆ เอาไว้ใต้นั้นได้ เพราะโครงช่วงล่างจะขยับและยืดออกไป และสิ่งที่คุณจะได้เห็นก็จะมีแค่โครงรถ ดวงตา ปาก และได้เห็นล้อหมุน สำหรับฟรานเชสโก้ เราได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างล้อรถและตัวรถ มันเป็นหนึ่งความท้าทายชิ้นใหญ่ของการคิดหาวิธีที่จะสนับสนุนทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวรถ” โลกของ “Cars” ในแบบ 3D: มิติใหม่สำหรับการแข่งรถสุดมันส์ เทคโนโลยี 3D ชวนผู้ชมอินไปกับเรื่อง หนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในโลกบันเทิงนับตั้งแต่ “Cars” ภาคแรกเข้าฉายในปี 2006 คือเทคโนโลยีแสดงภาพแบบ 3D ดิจิตอล และ “Cars 2” ก็เป็นภาพยนตร์พิกซาร์เรื่องที่สามที่ใช้ฟอร์แมตยอดนิยมนี้ ผลงานเรื่องล่าสุดจากดิสนีย์/พิกซาร์เรื่องนี้ (หลังจาก “Up” และ “Toy Story 3”) เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสความสนุกสนานและความตื่นเต้นของการได้อยู่ในการแข่งขัน และดำดิ่งไปกับสิ่งแวดล้อมที่ออกแบบอย่างงดงามและเรนเดอร์ได้อย่างละเอียดละออของเรื่อง “ผมอาจจะชื่นชอบ 3D มากกว่าผู้กำกับคนอื่นๆ” ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์บอก “ผมถ่ายรูปแต่งงานของตัวเองเป็น 3D ด้วยซ้ำไป หนังสั้นเรื่อง "Knick Knack” ที่เราสร้างขึ้นในปี 1989 ถูกสร้างในระบบ 3D ก่อนที่จะมีโรงหนัง 3D เสียอีก แล้วผมก็รู้สึกมาตลอดด้วยว่าสื่อคอมพิวเตอร์ อนิเมชันของเราถูกทำมาเข้าคู่กับ 3D ได้อย่างพอดิบพอดีครับ” “จริงๆ แล้ว 'Cars 2' ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึง 3D" ลาสเซ็ทเตอร์กล่าวต่อ "และสำหรับหนังของพิกซาร์แล้ว 3D ไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพที่จะลอยเตะตาคุณ แต่เป็นเรื่องของการสร้างโลกที่น่าเชื่อและดึงดูดมากขึ้น เหมือนกับหน้าต่างที่มองไปสู่โลกใบนั้น คุณจะอินไปกับมัน และผมก็คิดว่าในตอนที่คุณได้ดู 'Cars 2' ใน 3D มันจะมีการใส่ความคิดลงไปในองค์ประกอบมากมาย เช่นสิ่งที่มันเงา เราก็จะทำให้มันแวววับ หรูหรา เซ็กซีและเจ๋ง มันผ่านกระบวนการความคิดมาแล้วว่าแสงจะช่วยเพิ่มเรื่องของมิติเข้าไปใน 3D อย่างมาก ทั้งถนนที่เปียกชื้น รถที่เงาวับ ตึกที่เป็นประกาย มันว้าวเลยล่ะครับ!” แบรด ลูอิส ผู้กำกับร่วมกล่าวเสริมว่า "เราได้สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นโดยการใช้ประโยชน์จากสื่อ 3D จอห์นทึ่งกับการที่ 3D สามารถยกระดับหนังบางประเภทขึ้นมาได้ ใน 'Cars 2' บ็อบ ไวท์ฮิลล์ ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายสเตอริโอสโคปิค 3D ของเรา ทำงานกับแทร็คคู่ขนานขณะที่หนังเดินหน้าไป และท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนก็คิดกันว่ามันจะออกมาเป็นยังไงบ้างในรูปแบบ 3D แต่ก่อน 3D จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายกระบวนการของเรา แต่มันก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกบูรณาการเข้าไป ในตอนที่เราได้เห็นสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะดูอลังการใน 3D เราก็เริ่มสำรวจวิธีการต่างๆ ที่จะขยับกล้อง เพื่อทำให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก มันเป็นสิ่งที่อยู่ในสายตาของเราขณะที่เราสร้างหนังพวกนี้อยู่ 3D สามารถเพิ่มความลึกและมิติ และทำให้เรื่องราวมีเซนส์ของดรามามากขึ้นอีกครับ" “Cars 2” จะเข้าฉายในระบบ IMAX? 3D ในโรงภาพยนตร์บางแห่ง ซึ่งจะสร้างเสริมประสบการณ์ความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ และโดดเด่นเหนือใคร “Cars 2” ภูมิใจนำเสนอศิลปินคนดังจากอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ศิลปินนานาชาติช่วยเนรมิตชีวิตให้กับการผจญภัยรอบโลก นอกจากจะอัดแน่นไปด้วยสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก การแข่งรถความเร็วสูง การจารกรรมข้ามชาติและเรื่องราวมิตรภาพที่น่าประทับใจแล้ว “Cars 2” ยังนำเสนอดนตรีประกอบจากฝีมือคอมโพสเซอร์เจ้าของรางวัลออสการ์และแกรมมี ไมเคิล จิอัคคิโน และบทเพลงจากร็อคเกอร์อัลเทอร์เนทีฟเจ้าของรางวัลแกรมมี วีซเซอร์, นักร้องคันทรีฮิต แบรด เพสลีย์, นักร้อง/นักแต่งเพลงยอดนิยมชาวอังกฤษ ร็อบบี้ วิลเลียมส์, ซูเปอร์สตาร์ชาวฝรั่งเศส เบนาบาร์ และเกิร์ลแบนด์จากแดนซากุระ เพอร์ฟูม ศิลปินนานาชาติเหล่านี้ได้ช่วยกันรังสรรค์บทเพลงประกอบคลอไปกับช่วงเวลาที่เหล่าตัวละคร “Cars” ออกถนนใหญ่เพื่อร่วมผจญภัยครั้งสำคัญในทั่วโลก “Cars 2” เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สี่ของพิกซาร์ที่จิอัคคิโนได้แต่งดนตรีประกอบให้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เขาเคยแต่งดนตรีประกอบเรื่อง “The Incredibles,” “Ratatouille” และ “Up” รวมทั้งภาพยนตร์ขนาดสั้นอีกหลายเรื่องให้กับสตูดิโอแห่งนี้มาแล้ว "ไมเคิลแต่งดนตรีประกอบสุดเจ๋งให้กับหนังเรื่องนี้ครับ" ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์บอก "เราไม่อยากจะได้ดนตรีประกอบหนังสายลับทั่วๆ ไป เราอยากให้มันเป็นอะไรที่แตกต่าง เป็นรูปแบบใหม่ไปเลยน่ะครับ" “จอห์น [ลาสเซ็ทเตอร์] รู้เรื่องราวนี้ดีครับ" จิอัคคิโนบอก "เขารู้ดีว่าตัวละครของเขาขาดอะไรและต้องการอะไร วิธีการคุยเรื่องดนตรีของเราคือคุยกันเรื่องอารมณ์ ถ้าเมเตอร์รู้สึกเหมือนถูกโดดเดี่ยว ผมก็จะแปลงความรู้สึกนั้นให้เป็นดนตรี ผมชอบการได้ร่วมงานกับทีมงานที่พิกซาร์เพราะพวกเขาคุยกันในแง่ของเรื่องราว และนั่นก็เป็นวิธีการทำงานที่ผมชื่นชอบครับ" สำหรับฉากเปิดเรื่องที่เกิดขึ้นใจกลางมหาสมุทร และเป็นการเปิดตัวสายลับผู้ดี ฟินน์ แม็คมิสไซล์ จิอัคคิโนได้ดึงประสบการณ์จากความชื่นชอบสมัยเด็กมาใช้ "หนังเริ่มต้นบนเรือ และคุณก็ไม่รู้จักใครเลย 'เมเตอร์อยู่ไหน ไลท์นิงล่ะ' ประมาณนั้นน่ะครับ" คอมโพสเซอร์คนดังบอก "พอผมได้เห็นซีนนั้น มันก็ทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ผมอายุ 10 ขวบ ขี่จักรยานไปพลาง ฟังดนตรีเซิร์ฟร็อค ที่หนักกีตาร์ ไปพลาง ผมเปิดเพลงที่ผมแต่งขึ้นให้จอห์นฟัง แล้วเขาก็บอกเลยว่ามันเพอร์เฟ็กต์ และมันก็กลายเป็นต้นแบบให้กับหนังทั้งเรื่องครับ" นอกจากนี้ จิอัคคิโนยังได้แต่งเพลงฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “Mon coeur fait vroum” (“My Heart Goes Vroom”) ซึ่งขับร้องโดยเบนาบาร์ นักร้อง/นักแต่งเพลงชื่อดังชาวฝรั่งเศส ที่เป็นการแนะนำกรุงปารีสด้วยเสียงดนตรี เนื้อเพลงของเพลงนี้แต่งโดยจิอัคคิโนและสก็อตต์ แลงโท ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยโบเลม แลมฮีน อัลบัมแรกของเบนาบาร์ ที่วางจำหน่ายในปี 2001 ได้เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีที่ประสบความสำเร็จของเขา ในปี 2006 อัลบัม “Reprise de Negociations” ของเขาติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ในยุโรป และนำไปสู่รางวัลใหญ่ของอุตสาหกรรมดนตรีมากมายในปีนั้น ผู้ที่ขับร้องเพลงป๊อปยอดนิยมจากปี 1984 “You Might Think” (ที่แต่งโดยริค โอคาเซ็คและขับร้องโดยเดอะ คาร์ส) เสียใหม่ในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองคือวงร็อคอัลเทอร์เนทีฟอเมริกัน เจ้าของยอดขายมัลติแพลตินัม วีซเซอร์ วีซเซอร์เริ่มเข้าสู่วงการในปี 1992 และจนถึงปัจจุบัน ก็ได้ออกอัลบัมมาเก้าชุดแล้ว “เพลงนี้จะเล่นในซีนที่ไลท์นิง แม็คควีนและเมเตอร์ไปญี่ปุ่นกันครับ” ไบรอัน เบลล์แห่งวงวีซเซอร์บอก “ซึ่งเป็นเรื่องเยี่ยมสำหรับพวกเราเพราะมันสะท้อนถึงประสบการณ์ของพวกเราในญี่ปุ่น มันมีเรื่องของคัลเจอร์ ช็อคนิดๆ น่ะครับ” “ริค [โอคาเซ็ค] ได้อำนวยการผลิตอัลบัมสองชุดของเรา และเราก็เป็นแฟนของเดอะ คาร์สด้วย” เบลล์เล่าต่อ “ดังนั้น การคัฟเวอร์เพลงนี้ก็เลยน่าตื่นเต้นเป็นสองเท่าสำหรับเรา นอกจากนั้น เรายังพบด้วยว่าจอห์น [ลาสเซ็ทเตอร์] เป็นแฟนวีซเซอร์และอยากให้เราอัดเพลงนี้จริงๆ เขาอยู่ในสตูดิโอกับพวกเราด้วยและเขาก็มีพลังงานที่น่าทึ่งจริงๆ ครับ” ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการคันทรีเจ้าของหลายรางวัลแกรมมี และผู้ครองตำแหน่งเอนเตอร์เทนเนอร์แห่งปีจากสมาคมดนตรีคันทรี แบรด เพสลีย์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลิตซาวน์แทร็ค “Cars” ภาคแรกด้วยเพลง “Behind the Clouds” (เขียนร่วมกับแฟรงค์ โรเจอร์ส) และ “Find Yourself” กลับมาอีกครั้งพร้อมกับสองเพลงใหม่สำหรับ “Cars 2” ลาสเซ็ทเตอร์กล่าวว่า “ผมกับแบรดกลายเป็นเพื่อนรักกันระหว่างการถ่ายทำ ‘Cars’ สำหรับ ‘Cars 2’ เขากับร็อบบี้ [วิลเลียมส์] ได้จับมือกันแต่งเพลงร็อคแอนด์โรลสุดเจ๋งขึ้นมา มันแตกต่างจากเพลงที่แบรดแต่งตามปกติอย่างมาก แต่เขาและร็อบบี้ก็ได้สร้างสรรค์เพลงสุดวิเศษที่ถ่ายทอดมิตรภาพระหว่างแม็คควีนและเมเตอร์ออกมาในช่วงเอนด์เครดิตได้” เพสลีย์กล่าวเสริมว่า “เพลงนี้เป็นเพลงที่ผมได้ร่วมงานกับร็อบบี้ วิลเลียมส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่มีพรสวรรค์มากที่สุดเท่าที่ผมเคยพบ เป็นความคิดของจอห์นที่จะนำโลกทั้งสองใบนั้นมารวมกัน การผสมผสานมุมมองดนตรีอังกฤษและอเมริกันเข้าด้วยกันน่ะครับ เราทั้งคู่ต่างก็ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน และการได้เห็นในสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณถูกบีบให้ต้องไปสู่ที่ใหม่ๆ ก็เป็นแก่นของ ‘Cars 2’ จริงๆ ครับ มันสอดคล้องไปกับเรื่องราวสุดๆ” เพลง “Collision of Worlds” ถูกแต่งและขับร้องออกมาเป็นเพลงคู่ระหว่างเพสลีย์และวิลเลียมส์ นักร้อง/นักแต่งเพลงมากความสามารถ ผู้โด่งดังอย่างเหลือเชื่อในฐานะศิลปินเดี่ยวและในฐานะสมาชิกของวงเทค แด็ด วิลเลียมส์มียอดขายอัลบัมกว่า 57 ล้านก็อปปี้ทั่วโลกและเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทำยอดขายอัลบัมได้สูงสุดตลอดกาลของอังกฤษ “มันเป็นเพลงสากลที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังครับ มันคงไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีเรื่องราวนี้” วิลเลียมส์บอก “แบรดปรากฏตัวขึ้นพร้อมกีตาร์และความเข้าใจคร่าวๆ ว่าเขาต้องการให้เพลงนี้ออกมาเป็นยังไง เขาดีดคอร์ดสองสามคอร์ดให้ผมฟัง แล้วเราก็ช่วยกันคลำทางไปจนเกิดเป็นเพลงนี้ขึ้นมา มันเป็นการสอดประสานกันกลับไปกลับมาระหว่างประเทศสองประเทศที่พูดภาษาเดียวกัน แต่ไม่เข้าใจกัน จนกระทั่งตอนนี้ครับ” เพลงที่สอง “Nobody’s Fool” ถูกแต่งและขับร้องโดยเพสลีย์ “มันได้รับแรงบันดาลใจจากซีนที่ชวนหัวใจสลายมากที่สุดในหนังเรื่องนี้” เพสลีย์บอก “เมเตอร์รู้ตัวว่าทุกคนคิดว่าเขากำลังสวมบทบาทคนโง่ และเขาก็เกิดรู้แจ้งเห็นจริงว่าเขาไม่ได้สวมบทบาทซักหน่อย แต่เขาเป็นแบบนั้นจริงๆ ต่างหาก เมเตอร์ตระหนักดีว่าตัวเองเป็นใครและมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับผมครับ” ซิงเกิลฮิตของวงเกิร์ลแบนด์ญี่ปุ่น เพอร์ฟูม “Polyrhythm” จะปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ในตอนที่ไลท์นิง และเมเตอร์เข้าร่วมงานเลี้ยงกาลาในคืนเปิดการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ในกรุงโตเกียว “Cars 2” ทั้งดนตรีและภาพยนตร์ จะแล่นเข้าโรงภาพยนตร์ในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2011 ซาวน์แทร็คจากวอลท์ ดิสนีย์ เรคคอร์ดส์ จะวางจำหน่ายในวันที่ 14 มิถุนายน พิกซาร์มาถึงหลักไมล์สำคัญ สตูดิโอเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 25 ปี ด้วยภาพยนตร์ที่เหลือเชื่อ 12 เรื่องและภาพยนตร์ขนาดสั้นและโฆษณาแปลกใหม่ ที่บรรเจิดไปด้วยจินตนาการหลากหลาย ตลอดระยะเวลา 25 ปี พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ ได้สร้างสถิติที่น่าอิจฉาและไร้ใครเทียมในบ็อกซ์ ออฟฟิศ และได้พลิกโฉมวิธีการสร้างภาพยนตร์และการสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมทั่วโลก “ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันผ่านมา 25 ปี และเราทำหนังกันมา 12 เรื่องแล้ว” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “มันเยี่ยมเลยนะครับ ‘Cars’ ภาคแรกเข้าฉายในตอนที่เราครบรอบ 20 ปี และ ‘Cars 2’ ก็เข้าฉายในตอนครบรอบ 25 ปี ผมภูมิใจในพิกซาร์มากๆ ผมภูมิใจกับหนังทุกเรื่องและตัวละครทุกตัวของเรานั่นแหละครับ สิ่งที่มีความหมายสำหรับผมมากที่สุดคือผู้ชม ทุกครอบครัว คอหนังทุกคน ที่เราได้สร้างความบันเทิงให้พวกเขา นั่นเป็นสาเหตุที่เราทำในสิ่งที่เราทำ เพียงเท่านั้นจริงๆ ครับ มันเป็นเรื่องของการสร้างหนังที่มีคุณภาพสูงสุด ไม่ใช่เพียงแค่หนังอนิเมชันเท่านั้น แต่เป็นหนังที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ อย่างแท้จริงและลึกซึ้ง นั่นเป็นเป้าหมายของเราครับ เราก็แค่สร้างหนังในแบบที่เราอยากจะดูเท่านั้นเอง” พิกซาร์เดินทางมาไกลนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นในปี 1986 ในตอนที่สตีฟ จ็อบส์ซื้อแผนกคอมพิวเตอร์ กราฟฟิคจากลูคัสฟิล์ม ลิมิเต็ดด้วยเงิน 10 ล้านเหรียญและสตูดิโอแห่งใหม่นี้ก็ถูกตั้งชื่อว่า “พิกซาร์” ภายใต้การนำของเอ็ด แคทมุลล์, จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์และทีมนักเล่าเรื่อง อนิเมเตอร์และช่างเทคนิคพรสวรรค์ สตูดิโอแห่งนี้ยังคงยกระดับการสร้างภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ความรักที่ผู้ชมทั่วโลกมีต่อภาพยนตร์พิกซาร์ก็ยังคงจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและ “Cars 2” ก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่พิกซาร์ภาคภูมิใจที่สุดจนถึงปัจจุบัน
แท็ก ประกัน   สนั่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ