สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กำหนดนโยบายขับเคลื่อนปี 54-55 เน้น 3 ภาคส่วน ภาครัฐ ภาคสังคม ภาคประชาชน เผยผลประกอบการครึ่งปีหลังจับจ่ายคึกคัก สิ้นปีเติบโต 7-8%

ข่าวทั่วไป Wednesday July 27, 2011 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปรับระบบจัดผังองค์กรสมาคมฯ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็วมีระบบ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกำหนดนโยบายขับเคลื่อนปี 54-55 เน้น 3 ภาคส่วนหลัก ภาครัฐ ภาคสังคม และภาคประชาชน เผยข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งปี53 ที่ผ่านมามียอดขายรวม 1.3 ล้านล้านบาท คาดครึ่งปีหลังในปี 54 นี้ ผู้บริโภคจะมีการจับจ่ายคึกคัก ประกอบกับปัจจัยบวกเอื้ออำนวย สิ้นปีเติบโตได้ 7-8% นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยอย่างเป็นทางการถึงผลการดำเนินงานของสมาคมฯว่า “ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการบริหารงานตามแนวนโยบายของสมาคมฯ ซึ่งได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงานที่ถือได้ว่าเป็นงานหลักและเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการนั่นคือ การจัดระบบองค์กรของสมาคมฯ ได้จัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ จากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของแต่ละท่าน เพื่อประโยชน์ในการประสานงาน และความร่วมมือกันของสมาชิก การจัดระบบดังกล่าวนอกจากจะทำให้เกิดความรวดเร็วและความคล่องตัวแล้ว การติดต่อกับลูกค้าโดยตรงจะทำให้ได้ข้อมูลที่ตรง เป็นความจริงและชัดเจน ได้ข้อมูลครอบคลุมภาพรวมของค้าปลีกทั้งระบบ สามารถสะท้อนภาพรวมของค้าปลีกในเชิงมหภาค รวมถึงสามารถให้ความช่วยเหลือสมาชิกอย่างรวดเร็ว มีระบบ นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบข้อมูลธุรกิจค้าปลีก ซึ่งได้ทำการพัฒนาข้อมูลผ่านระบบเว็บไซต์ของสมาคมฯ www.thairetailers.com เริ่มเปิดใช้ประมาณต้นเดือนกันยายนนี้ สำหรับแนวทางบริหารงานตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารปี 2553-2555 ทั้ง 7 ข้อ ปัจจุบันบางนโยบายได้ดำเนินการแล้วเสร็จดังนี้ 1.นโยบายการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในวงการค้าปลีก ดำเนินการไปแล้ว 2 เรื่อง หลักได้แก่ 1.1 ด้านระบบรักษาความปลอดภัย (Loss Prevention) มุ่งเน้นส่งเสริมพัฒนาคุณภาพบุคคลากร เสริมทักษะใหม่ๆ ด้วยการจำลองสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์หรือความไม่สงบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ เหตุการณ์ความไม่สงบจากปัญหาการเมืองในรูปแบบต่างๆ เหตุการณ์แผ่นดินไหว ไฟไหม้ หรือ น้ำท่วม เป็นต้น 1.2 ด้านทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมทักษะ ให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน 2.การพัฒนาและปรับปรุงระบบข้อมูลธุรกิจค้าปลีก นโยบายในข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ ตามที่ได้แจ้งให้ทราบแล้วในข้างต้น ได้แก่ การพัฒนาระบบข้อมูลผ่านระบบ Website ของสมาคมฯ 3.ส่งเสริมความร่วมมือสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกกับภาครัฐ โดยสมาคมฯ มุ่งเน้นให้การสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการช่วยลดค่าครองชีพประชาชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 3.1 ร่วมมือการจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกในราคา 7 บาท 3.2 ร่วมมือจำหน่ายข้าวอาหารเมนูธงฟ้า, การจัดรายการธงฟ้ากับกระทรวงพาณิชย์ 3.3 ร่วมมือตรึงราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน 3.4 รณรงค์ไม่บรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในตระกร้าสินค้าปีใหม่ 3.5 รณรงค์ติดป้ายแจ้งวันหมดอายุของสินค้าในตระกร้าปีใหม่ เป็นต้น 4.ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็ก (SME) นโยบายในข้อนี้ถือเป็นแผนงานนโยบายขับเคลื่อนหนึ่งใน 3 ข้อ ที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนในการดำเนินงานปี 2554-2555 5.ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ค้าปลีกและคู่ค้า สมาคมฯ ได้วางแผนงานการจัดกิจกรรมสำคัญต่างๆ เปิดโอกาสให้ทั้งสมาชิกและคู่ค้าได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ต่างๆ และเพื่อความสัมพันธ์อันดีในการทำธุรกิจร่วมกัน อาทิ การจัดงานสัมมนาว่าด้วยเรื่องของการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community ) ข้อได้เปรียบ และเสียเปรียบ พร้อมทั้งการเสริมกลยุทธ์และสร้างความพร้อม ซึ่งได้กำหนดจัดในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ 6.การคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค สมาคมฯ ให้ความสำคัญและเน้นหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ตระหนักเสมอว่าการทำธุรกิจนั้นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคสูงสุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การไม่ฉกฉวยประโยชน์ในการจำหน่ายน้ำตาลทราย และน้ำมันปาล์ม ซึ่งได้ร่วมจัดแคมเปญการตลาดให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องในภาวะค่าครองชีพสูง 7.พัฒนาสมาคม ด้วยการเพิ่มจำนวนสมาชิก ซึ่งในปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฯ ณ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 มีจำนวน 108 ราย เป็นสมาชิกสามัญ จำนวน 40 ราย และสมาชิกสมทบ จำนวน 68 ราย นางสาวบุษบา กล่าวต่อ “นอกจากนโยบายบริหารทั้ง 7 ข้อข้างต้นแล้ว ในฐานะประธานสมาคมฯ ยังได้กำหนดแผนงานนโยบายขับเคลื่อนปี 2554-2555 ที่ต้องการเน้นย้ำใน 3 ภาคส่วนหลัก 1. ภาครัฐ - สานต่องานและนโยบายภาครัฐ ในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า อาทิ - เรื่องปัญหาสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่มีความจำเป็น อาทิ ข้าว น้ำตาล น้ำมันปาล์ม ฯลฯ - เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มองถึงการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคน ตามความต้องการของประเทศ ด้วยการสร้างมาตรฐานกรอบคุณวุฒิการศึกษาของค้าปลีก ให้เทียบเท่ากับบุคลากรของประเทศอื่นได้ 2.ภาคสังคม - สมาคมฯ จะเข้าไปช่วยเหลือสังคม รวมถึงสมาชิกสมาคม และผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย (SME) อาทิ - การทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบที่สมาคมฯ มีความรู้ และความชำนาญ - ให้ทักษะความรู้ กับผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ในการปรับตัวเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีก 3.ภาคประชาชน — สร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้แก่ประชาชน - ธุรกิจค้าปลีกให้ความสำคัญแก่ผู้บริโภคเป็นหลัก ทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ และเป็นที่พึ่งของประชาชน - มีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ตั้งอยู่ในมาตรฐานที่ดี เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค - ไม่เอาเปรียบ หรือ หลอกลวงผู้บริโภค - คัดสรรสินค้าที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภคเสมอ สินค้าดีมีคุณภาพ - เปลี่ยนคืนสินค้าได้ ตามความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า -สร้างความเจริญให้กับสังคม ด้วยการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ และความสะดวกสบายให้กับประชาชน สำหรับผลประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งในปี 53 ที่ผ่านมามียอดขายรวม 1.3ล้านล้านบาท ในขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 54 นี้ โดยภาพรวมยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน เนื่องจากเราใช้ฐานข้อมูลตัวเลขจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่คาดการณ์ว่าสิ้นปี 54 นี้ จะเติบโตได้ 7-8% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ราคาพืชผลการเกษตรดีเกือบทุกรายการ ตั้งแต่ ยาง ข้าว น้ำมันปาล์ม อ้อย ถั่วเหลือง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐ(รัฐบาลชุดเดิม) มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การปรับเงินเดือนข้าราชการ ส่งผลต่อการเพิ่มอำนาจในการซื้อเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงปัจจัยทางการเมืองเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้เกิดกระแสเงินสะพัดในธุรกิจค้าปลีกประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท เมื่อการเมืองเริ่มนิ่ง เศรษฐกิจก็เริ่มขับเคลื่อนเดินหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็เพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแผนงานนโยบายของแต่ละบริษัทที่ได้วางไว้ ซึ่งคาดว่าในปีนี้ธุรกิจค้าปลีกจะมีการขยายตัวมากกว่า 500,000 ตารางเมตร นางสาวบุษบา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก หากการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจเดินหน้า รัฐให้การสนับสนุน ไม่เกิดปัญหาภัยธรรมชาติ และปัจจัยลบอื่นๆ คาดโตได้ตามเป้าหรืออาจสูงกว่าเป้าที่วางไว้แน่นอน เห็นได้ชัดจากผลประกอบการของสมาคมฯ ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาในปี 54 นี้ มีอัตราเติบโตสูงมากถึง 10-15%” ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด โทร.02 101 8466 แฟกซ์. 02 101 8468 โยธิน ธรรมจำรัส (โย) 02 101 8467 ประภาพร นามวงศ์ (น้องเล็ก) กฤตยาวีร์ สุมาลี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ