ฉลองครบรอบ “100 ปีชาตกาล พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” “40 ปีบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด”

ข่าวบันเทิง Thursday July 28, 2011 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สหมงคลฟิล์ม ***โลเกชั่นงามแปลกตา น่าค้นหาความหมายซ่อนเร้น*** “โลเกชั่นส่วนใหญ่มันก็โดนเลือกมาแล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นเพียงแค่เป็นการไปดูอีกครั้งหนึ่งแค่นั้นเองว่ามันคงสภาพเดิมอยู่หรือเปล่า หลายๆ ที่ก็ยังคงสภาพเดิมอยู่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราศึกษาค้นคว้าไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่บางสถานที่ก็ต้องสร้างอะไรเพิ่มเติมมากมายอยู่เหมือนกัน เราเลือกโลเกชั่น 3 จังหวัด ทั้งที่เชียงใหม่ก็ถ่ายที่ถ้ำหลวงเชียงดาว, วัดอุโมงค์, น้ำตกหมอกฟ้า, ลานบนดอยม่อนแจ่ม ม่อนล่อง ซึ่งบางที่ก็เดินทางค่อนข้างยากลำบาก ที่ลำปางก็ถ่ายที่พระธาตุลำปางหลวง ที่เชียงรายก็ถ่ายที่เวียงป่าเป้า ก็เดินทางไปถ่ายในที่ที่ไม่เคยมีใครขึ้นไปถ่ายเลย ซึ่งสวยงามมาก เพราะตอน ชั่วฟ้าดินสลาย ก็ถ่ายแค่เชียงใหม่, เชียงราย เรื่องนี้โลเกชั่นก็แตกออกไปอีกมากมายและตัวละครเยอะกว่า และมีฉากที่ต้องสร้างเยอะกว่า มันก็ค่อนข้างจะยุ่ง และทีมงานก็เยอะกว่า แต่ก็เป็นไปได้ด้วยดี ทุกอย่างก็ราบรื่นเป็นไปตามที่เป้าหมายวางเอาไว้ แม้กระทั่งมีพายุฝนก็ตาม ตอนแรกคิดว่าจะต้องมีการเลื่อนกำหนดปิดกล้องไปอีก แต่นับว่าเป็นบุญ ทุกอย่างก็สำเร็จไปได้ตามที่ใจปรารถนา คือเรามองว่าฉากอุโมงค์ผาเมือง นอกจากเป็นกำแพงเมืองที่มีอุโมงค์อยู่ข้างใต้ ความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือเหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้พาคนดูเข้าไปในอุโมงค์ เข้าไปสัมผัสถึงจิตใจเบื้องลึกของมนุษย์ทุกคนที่นับวันก็ยิ่งเสื่อมลง เหมือนกับคำสอนของพระที่บอกไว้ว่า ตอนสร้างอุโมงค์ผาเมืองแต่ก่อนก็สร้างไว้อย่างใหญ่โตและแข็งแรงดี นานเข้าก็เสื่อมโทรมไปเหมือนใจคน คือสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจมนุษย์ในยุคที่เสื่อมที่สุดเมื่อมนุษย์ยึดแต่วัตถุ เงินทอง และทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองดูดี มีความสุข คือความเห็นแก่ตัวนั่นเอง ความเห็นแก่ตัวก็ก่อให้เกิดปัญหาระดับประเทศชาติเราก็ได้เห็นๆ กันมา เพราะฉะนั้นจะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สอนเพียงศีลธรรมอย่างเดียวก็ไม่ใช่ มันก็สอนให้คนดูได้รู้ว่าชีวิตคืออะไร เรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร และเราควรจะแก้มันอย่างไร ฉากประหารที่ลานหลวง เราไปถ่ายที่ม่อนแจ่ม คือเรามองว่าให้ดูดีๆ ว่าภาพทำไมต้องอยู่บนเขา ฉากข้างหลังก็เป็นภูเขาที่ซับซ้อน และให้การบนเวที เห็นไหมว่าแต่ละคนดูใหญ่กว่าธรรมชาติ โดยมีภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ ทุกตัวละครจะรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะโจรป่าและเมียขุนศึก แต่จริงๆ แล้วมนุษย์พ่ายแพ้ธรรมชาติ ซึ่งผิดกับที่เราไปถ่ายที่บนยอดเขาที่เวียงป่าเป้า ที่เห็นพระหนุ่มเดินออกจากวัด และดูพระองค์เล็กนิดเดียว ในขณะที่ธรรมชาติดูใหญ่มโหฬาร มนุษย์ก็แค่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็แค่นั้นเอง แต่เรามักจะคิดว่าเราเหนือธรรมชาติ จะพูดไปเมื่อมีแผ่นดินไหวที่ไหนอย่างไรเรายังพ่ายแพ้ หรือสึนามิที่ญี่ปุ่นเราก็พ่ายแพ้หมดเลย นึกว่าตัวเองสูงส่งกว่า โดยเฉพาะเจ้าหลวง เองก็ยังสร้างปะรำพิธีอย่างกับเป็นสวรรค์อยู่บนยอดเขา และจะมีการใช้ Long Shot มากที่จะทำให้เห็นความเวิ้งว้าง เกิดมาแล้วก็เวิ้งว้าง เหมือนตายคนเดียวและต้องเผชิญชะตากรรมอันยิ่งใหญ่มาก มีทหารคอยเฝ้า มีกฎเกณฑ์ของสังคมมาล้อมกรอบตัวละครอยู่หมดเลย ตัวเจ้าหลวงก็เหมือนผู้ที่เสวยสุขกับวัตถุกับเครื่องแต่งกายกับรอบกายที่มีข้าทาสบริวาร เสวยแต่ความสุข แม้กระทั่งว่าตัวเองกำลังให้การพิพากษาอยู่นะ แต่ก็ยังเสวยสุขกับเกียรติยศ ที่มันเป็นกิเลสทั้งหลาย เราจึงจำเป็นต้องสร้างฉากลานหลวงให้เกิดขึ้นบนยอดเขา เพื่อให้ได้ความรู้สึกนี้ ยังมีอีกหลายๆ ฉากที่มีความหมายซ่อนเร้นอยู่ให้ติดตามและตีความได้ ทุกอย่างมีความหมายหมด” ผู้ต้องหา, เหยื่อ และพยานปากเอก ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า (อนันดา เอเวอริงแฮม) - เกิดในตระกูลขุนนาง ถูกอบรมเลี้ยงดูมาในแบบคนชั้นสูง มีการศึกษาดี และหยิ่งทะนงในเกียรติภูมิของตนเยี่ยงขุนนางและนักรบ มีชีวิตที่เป็นระเบียบวินัย และมีหลักเกณฑ์จนทำให้ขาดความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและวิญญาณ ทำให้การตัดสินใจหลายๆ ครั้งในชีวิตของเขาขึ้นอยู่กับความถูกต้องในสังคมมากกว่าความเป็นมนุษย์ “โจทย์ของตัวละครตัวนี้ที่มันแตกต่างไปจากตัวละครอื่นที่เคยเล่นมา คือมันถูกมัดไว้ทั้งเรื่อง ถูกมัดมือถูกปิดปากขยับไม่ได้พูดไม่ได้ คราวนี้วิธีสื่อสารกับคนดูมันก็จะเปลี่ยนไปจากตัวอื่นๆ ที่เคยเล่นมา เรื่องนี้แทบจะไม่มีอะไรเลยสื่อสารกับคนดู อย่างตัวละครที่ไม่พูดจะบอกว่าเขาเป็นตัวละครที่ไม่มีความคิดมันก็ไม่ได้ อย่าเข้าใจว่าการที่ขยับตัวไม่ได้พูดไม่ได้คืออุปสรรค จริงๆ มันเปิดช่องให้เราสื่อสารอีกแบบหนึ่งด้วยซ้ำไป ก็เลยทำให้เรากลับมาโฟกัสเรื่องของไดอะล็อกของตัวละครว่าระหว่างที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอยู่เขาคิดอย่างไร เขารู้สึกอย่างไร เขากำลังพูดอะไรอยู่เนี่ย เราก็คิดว่าทุกๆ เวลาเรากำลังพูดคุยกับตัวละครทุกตัวอยู่ เราก็พึมพำอยู่ในปากเหมือนแบบกูเกลียดมึงมากเลย มึงแย่มาก คือบางทีก็จะให้มันช่วยพูด ให้ความคิดมันเกิดขึ้นมา เก็บกดด้วยนิดหน่อยเพราะคนอื่นเขาพูดอยู่ตลอดเวลา เราอยากจะพูดกับเขามาก” แม่หญิงคำแก้ว (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) - ภรรยาผู้เลอโฉมของขุนเจ้าศึกหล้าฟ้า พื้นเพของหล่อนเป็นเพียงบุตรสาวคนครัวในบ้านของขุนศึกนั่นเอง แต่ด้วยความงามเป็นเลิศของหล่อน ทำให้ขุนศึกเมตตาชุบเลี้ยงเป็นภรรยาอย่างออกหน้าออกตา “เรียกว่าเป็นบทบาทที่เข้มข้นที่สุดในชีวิตที่เคยเล่นมา แล้วเล่นอย่างหมดตัวจริงๆ คราวนี้พลอยใส่เต็มที่ มันจะเน้นเรื่องการแสดงล้วนๆ แล้วก็ความสนุกหลากหลายมันดูแล้วมัน ไดอะล็อค 2 หน้าสุดท้ายของพลอยเป็นที่หลากหลายอารมณ์มาก ร้องไห้ หัวเราะเป็นคนบ้า เหมือนหมาไฮยีน่าเลย ลุกขึ้นมาหัวเราะใส่หน้าผู้ชาย ด่าๆๆ แล้วถุยน้ำลายใส่ มันสะใจมากค่ะ เป็นบทที่ยากจริงๆ” โจรป่าสิงห์คำ (ดอม เหตระกูล) — ขุนโจรที่โหดร้ายที่สุดในยุคสมัย เป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านทุกหัวระแหง โดยเฉพาะพวกที่มีฐานะดี เพราะโจรป่าสิงห์คำมักจะปล้นฆ่าเศรษฐีเพื่อนำเงินทองมาแจกจ่ายให้แก่ราษฎรที่ยากไร้ โจรป่ามีรูปร่างกำยำบึกบึนสมชาย มีเสน่ห์เย้ายวนต่อสตรีเพศ สำหรับเขาแล้ว ที่สุดในชีวิตก็คือ เงินทองทรัพย์สมบัติ เหล้า และผู้หญิง “ต้องยอมรับว่าผมอยู่ในวงการนี้มานาน การทำงานกับหม่อมน้อยเรื่องนี้ก็เป็นครั้งแรก หม่อมก็ได้ให้แง่คิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการวางรากฐานของตัวละคร ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่หลายๆ คนมักจะลืม บางทีได้บทมาอ่าน เราไม่คิดหรอกว่าอะไรยังไง แต่หม่อมจะให้แง่มุมที่สะท้อนว่าทำไมคุณถึงเป็นโจร ทำไมเราต้องปล้นก็เราไม่มีจะกิน คือมันจะอ้างอิงไปถึงบางอย่าง ทำไมเราถึงข่มขืน ก็มองย้อนไปว่าเราไม่ได้รับการเหลียวแลจากสาวๆ พอเราได้ขัอมูลต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมามันจะป็นการวางรากฐานของตัวละครขึ้นมา การวางรากฐานของตัวละครมีวิธีที่นำเสนอมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตวิทยา เรื่องของการให้คอมเม้นต์ซึ่งตรงนี้เองที่หม่อมจะเปิดโอกาสให้นักแสดง คุณอยากจะใส่อะไรเพิ่ม คุณคิดว่าเขาควรจะเป็นยังไง มันทำให้ตัวละครเข้าใจได้ง่าย คนที่มาเล่นเองเข้าใจได้ง่ายและยังถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดตัวละครตัวนี้ไปให้คนอื่นๆ ได้เห็นได้รับรู้ได้ดีอีกด้วย” พระหนุ่มอานนทภิกขุ (มาริโอ้ เมาเร่อ) - บุตรชายคนเดียวของเศรษฐีทำกระจกที่เมืองเชียงคำ ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก จนมีความใฝ่ฝันว่าจะบวชเรียนในพระบวรศาสนาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ท่านเป็นผู้พบขุนศึกผู้ตายและภรรยาก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมอันน่าสะเทือนใจ และเป็นเหตุให้ท่านต้องย้อนกลับมามองและเรียนรู้ถึงชีวิตมนุษย์และตัวเองใหม่อีกครั้ง “บทนี้ยากพอตัวเลยครับ ก่อนอื่นเลยโอ้ไม่เคยเล่นหนังพีเรียดมาก่อนเลย แล้วพอได้มาเล่นมันก็เป็นการท้าทายอย่างหนึ่งที่ได้ทำงานกับอาจารย์ของเราก็คือหม่อมน้อยครับ บทพระหนุ่มจะเหมือนโอ้ตรงการมองโลกในด้านดี ตัวพระอานนท์ถ้าหาเหตุผมไม่ได้ก็จะจิตตก แล้วจะรู้สึกแย่ไปหมดเลย นี่คือสิ่งที่ต่างกับตัวโอ้ครับ ถ้าหาคำตอบไม่ได้โอ้ก็จะเฉยๆ ก็จะปล่อยไปแล้วค่อยหาคำตอบไปเรื่อยๆ อีกที แต่พระอานนท์เนี่ยจะไม่ได้เลย คือด้วยความที่พระอานนท์เป็นเหมือนผ้าขาวแล้วพอมีอะไรมากระทบใจของพระอานนท์ให้แปดเปื้อน ทุกอย่างมันจะแย่ไปหมดเลยครับ ทำให้พระอานนท์จิตตกคิดว่าตัวเองโง่ ไม่สามารถจะสั่งสอนใครได้อีกต่อไป” คนตัดฝืน (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) — เป็นคนหน้าซื่อที่ศรัทธาในพระศาสนา แต่ยากจนเพราะมีลูกเล็กๆ หลายคน เขาเป็นคนดีขยันหมั่นเพียรที่จะทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ชายตัดฟืนคนนี้เป็นคนพบศพขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า ทำให้ต้องมาให้การในศาล ซึ่งเป็นเหตุให้เขาได้ร่วมสนทนาถึงคดีนี้กับพระหนุ่มและสัปเหร่อในอุโมงค์ผาเมืองด้วย “เล่นเรื่องนี้ผมค่อนข้างซีเรียสมากนะ ดราม่ามาเลย หม่อมอยากให้เป็นแบบนั้น ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายของผมมาก ผมคิดว่าเป็นหนังเรื่องที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเล่นมาเลย แต่ผมก็กลัวคนดูจะไม่เชื่อจากหน้าของผมนะ กลัวจะไม่เชื่อความเป็นคนซีเรียสของผมในเรื่อง หม่อมน้อยอยากให้หม่ำเปลี่ยนบุคลิก แต่ไม่รู้คนดูจะรับผมได้หรือเปล่านะ แต่จากเนื้อหนังทั้งหมดเนี่ย เป็นหนังที่ดีสำหรับผมเลยล่ะ หม่อมเป็นผู้กำกับที่ทำงานละเอียด ไม่แปลกเลยที่หนังหม่อมจะได้รางวัลอยู่ตลอด หม่อมน้อยแกพิถีพิถันและละเอียดในการกำกับมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงหรือมุมกล้องไม่ปล่อยแม้แต่เม็ดเดียว ผมได้ความรู้จากแกมากๆ เลย สมกับเป็นปรมาจารย์ทางการแสดงของนักแสดงชั้นนำหลายคนในวงการ ผมพูดได้ว่าการร่วมงานกับหม่อมน้อยในเรื่องนี้ เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก เหมือนผมได้ด๊อกเตอร์ทางการแสดงจากมหาวิทยาลัยหม่อมน้อยเลย” สัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) - เป็นสัปเหร่อแก่ที่อาศัยอยู่ในอุโมงค์ผาเมือง ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน มีความคุ้นเคยทั้งคนเป็นและคนตาย จึงมีความเข้าใจวิถีทางชีวิตของมนุษย์ได้อย่างดีในทุกแง่มุม เขามักจะมองโลกและใช้ชีวิตอย่างเป็นกลาง จึงทำให้เขาสามารถวิเคราะห์นิสัยมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ “สัปเหร่อเรียนรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในคดีนี้ไปพร้อมกับคนดู และวิเคราะห์ทำความเข้าใจชีวิตได้มากที่สุด สิ่งที่ผมประทับใจมากๆ ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพก็คือ สิ่งที่หม่อมพยายามให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพุทธบูชา เป็นธรรมมะที่สอนคน เป็นความรู้สึกที่ผมชอบมากๆ ในเรื่องนี้ครับ” บันทึกผ่านอุโมงค์ผาเมือง จริงๆ แล้วเรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” เป็นเรื่องจำลองของโลกในยุคปัจจุบันนี้เอง คือเมื่อมนุษย์เป็นทาสวัตถุ ทาสเงิน และทาสเกียรติยศ และก็มีอัตตาสูงคือยึดตัวตนเท่านั้นเป็นเรื่องสำคัญ ปากท้องเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญโดยไม่นึกถึงการให้ซึ่งกันและกัน ไม่เคยคิดถึงการบริสุทธิ์ของจิตใจ อะไรฉกฉวยได้ฉกฉวยเอา ศาสนาก็ทำบุญไปงั้นๆ ทุกคนก็อยู่กับธุรกิจส่วนตัวตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน เงินคือพระเจ้า ตอนนี้มันเหมือนกับเป็นยุคเสื่อมที่สุดของโลก ซึ่งมันก็เป็นแก่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าทำไมตัวละครทั้ง 3 ถึงให้การว่าตัวเองเป็นผู้ผิดหมด มันก็ง่ายๆ คือทุกคนก็อัตตาสูง มักจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีให้กับตัวเอง ก็ไม่แตกต่างอะไรจากมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวงการบันเทิงที่ออกสื่อต่างๆ เพื่อพูดถึงภาพลักษณ์ตัวเองในแง่ที่อยากจะให้คนอื่นเห็นตัวเองเป็นเช่นไร มนุษย์เราก็มีทั้งดีและไม่ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ มนุษย์อยากจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เป็นฮีโร่ให้ทุกคนกล่าวขวัญถึงไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง คุณเก่งมาก รวยมาก มีอำนาจมาก ขอให้เป็นคนพิเศษของประเทศเข้าว่า เขาก็จะมีความสุขในเบื้องหลังความพิเศษเหล่านั้น จะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์สักคนเดียว การชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการเกิดเป็นคนไม่มีใครสมบูรณ์ และความสมบูรณ์เป็นไปได้แค่ความคิดฝันเท่านั้น ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสมมติขึ้น การเล่าแต่ละครั้งเป็นเรื่องคิดฝันของแต่ละตัวละครที่อยากให้คนอื่นมองตัวเองเป็นเช่นนั้นในบทบาทที่ตัวเองต้องการ อีกประเด็นหนึ่งคือต้องฟัง มันเป็นหนังไดอะล็อก ความคมคายของไดอะล็อก ความลึกซึ้ง ความหมายที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจอะไร คือถ้าฟังก็จะสนุกกับบทสนทนา ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยศิลปะหลายๆ ด้านมาประกอบกัน ไม่ใช่ศิลปะภาพยนตร์ที่ว่ากันด้วยภาพเพียงอย่างเดียว บทสนทนาก็มีความหมาย สีก็มีความหมาย บรรยากาศก็สื่อความหมาย ศิลปะการแสดงที่สูงส่งที่มีทั้งธรรมชาติและไม่ธรรมชาติก็มีความหมาย คือเหมือนเป็นศิลปะชิ้นหนึ่งที่ไม่ต้องคิดมากนัก แค่นี้ก็จะดูหนังสนุก และก็มีหลากหลายรสชาติ สนุก ตลก ตื่นเต้น บู๊ รัญจวนจิต มีทุกอารมณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มันดูไม่ยาก แต่คุณเป็นคนช่างสังเกตหรือเปล่า ถ้าคุณมัวดูแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณจะไม่ได้อะไรจากมันเลย แต่สำหรับเราในแง่คนที่ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ คนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าอยากเข้าวัด อยากทำบุญ แค่นี้เราก็ถือว่าการทำหนังเรื่องนี้ของเราประสบความสำเร็จแล้ว เกร็ดภาพยนตร์ 1) ภาพยนตร์เรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” (2554) ดัดแปลงจากบทละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” (2454-2538) ซึ่งเรียบเรียงและดัดแปลงจากเรื่องสั้น 2 เรื่อง คือ “Rashomon” (ประตูผี) และ “In a Grove” (ในป่าละเมาะ) ของนักประพันธ์ยอดฝีมือชาวญี่ปุ่น “ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ” (2435-2470) อันเป็นที่มาของภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องดังก้องโลกอย่าง “Rashomon” (2493) ผลงานการกำกับลำดับที่ 11 ของ “อากิระ คุโรซาวา” (2453-2541) จักรพรรดิแห่งภาพยนตร์ญี่ปุ่นนั่นเอง 2) สู่การเขียนบทสุดละเมียดและกำกับอย่างสุดวิจิตรตระการตาของผู้กำกับชั้นครู “ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล” เป็นผลงานลำดับที่ 10 ถัดจากภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอย่าง เพลิงพิศวาส (2527), ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529), ฉันผู้ชายนะยะ (2530), นางนวล (2530), เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532), ความรักไม่มีชื่อ (2533), มหัศจรรย์แห่งรัก (2538), อันดากับฟ้าใส (2540) และ ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) 3) ละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกแสดงอย่างเป็นทางการถึง 4 ครั้ง ในรอบ 27 ปี ดังนี้ - ครั้งแรก (10 มีนาคม พ.ศ. 2508) หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำแสดงโดย สุพรรณ บูรณะพิมพ์, อาคม มกรานนท์, อาจิต รัศมิทัต, สาหัส บุญ-หลง, มาลี เวชประเสริฐ, มนัส บุณยเกียรติ, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช - ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2515) ที่หอประชุมเอยูเอ จัดโดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำแสดงโดย จันทรา ชัยนาม ฯลฯ กำกับการแสดงโดย เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง (นักวิจารณ์ละครและภาพยนตร์ “มุมสูง” นิตยสารมติชนรายสัปดาห์ในปัจจุบัน) - ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2529) ที่โรงละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำแสดงโดย อรชุมา ยุทธวงศ์, ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง, ม.ร.ว. อุษณิษา สุขสวัสดิ์ ฯลฯ กำกับการแสดงโดย อะสา สะกอสกี้ (นักแสดงละครบรอดเวย์จากนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา) - ครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2535) ที่มณเฑียรทองเธียเตอร์ โรงแรมมณเฑียร นำแสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, ธัญญา โสภณ, รวิวรรณ จินดา, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ฯลฯ กำกับการแสดงโดย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (ออกแสดงในโรงละครอาชีพครั้งแรก ทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์ ยาวนานถึง 3 เดือน รวม 72 รอบ) 4) ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง “Rashomon” ของผู้กำกับอากิระ คุโรซาวา ออกฉายครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2493 ก่อนที่จะเดินทางไปฉายประกวดและคว้ารางวัลจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส” ที่ประเทศอิตาลี พ.ศ. 2494 และเข้าฉายที่สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2494 ก่อนที่จะได้เข้าชิงและคว้ารางวัลอีกหลายสถาบัน รวมถึง “รางวัลออสการ์เกียรติยศ” (Honorary Award) เมื่อปี พ.ศ. 2495 อีกด้วย 5) ระดมทีมนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็น มาริโอ้ เมาเร่อ, อนันดา เอเวอริงแฮม, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, ดอม เหตระกูล, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, รัดเกล้า อามระดิษ และนักแสดงสมทบอีกมากมายมาประชันบทบาทสุดเข้มข้นเป็นครั้งแรก ในเรื่องราวสนุกชวนติดตามที่สอดแทรกเนื้อหาสาระไปตลอดทุกอณูภาพยนตร์ 6) “อุโมงค์ผาเมือง” เลือกสรรค์อย่างละเอียดและถ่ายทำในหลากหลายสถานที่สวยงามแปลกตาที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์ไทย อาทิเช่น ถ้ำเชียงดาว, วัดอุโมงค์, น้ำตกหมอกฟ้า, ม่อนล่อง, ม่อนแจ่ม ดาราเทวี จ. เชียงใหม่, พระธาตุลำปางหลวง จ. ลำปาง และเวียงป่าเป้า จ. เชียงราย 7) ผ่านการสร้างสรรค์จากทีมงานเบื้องหลังมืออาชีพในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบงานสร้างอย่างวิจิตรตระการตาในทุกฉาก, การกำกับภาพและจัดแสงสุดละเมียดงดงามในทุกเฟรมภาพ, งานออกแบบเครื่องแต่งกายล้านนาสุดประณีตทุกชุด, การเมคอัพสุดบรรจงในทุกตัวละคร รวมถึงดนตรีประกอบสุดขลังทุกบรรยากาศภาพยนตร์ เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดและตราตรึงผู้ชมไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องอย่างสุดประทับใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ