“โอม” วีระ นากระโทก : นักศึกษาพันธุ์ใหม่ เรียนรู้จากชุมชน ... เพื่อเติบโตสู่ภายใน

ข่าวทั่วไป Friday July 29, 2011 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล การเรียนรู้ที่แท้จริงคืออะไร?... การศึกษาจากในชั้นเรียนแค่นั้นเพียงพอแล้วหรือเปล่า? คำตอบที่ได้เห็นจะ "ไม่" แล้วการศึกษาจากโจทย์ปัญหา การเรียนรู้จากชุมชน สังคม และชีวิตจริงล่ะจะช่วยเติมเต็มช่องว่างการเรียนรู้นี้ของเยาวชนได้หรือไม่? เรื่องราวของ “โอม” วีระ นากระโทก นักศึกษาพันธุ์ใหม่ ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง หนึ่งในแกนนำอาสาสมัครของศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจช่วยให้คำตอบ ... โอมเล่าว่า ปัจจุบัน เขารับผิดชอบดูแลแหล่งเรียนรู้บ้านดินและวิถีพึ่งตนเองที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้โอมเคยทำงานอาสาสมัครทำกิจกรรมสันทนาการโครงการสร้างสุขภาวะให้เด็กชาวเขาในภาคเหนือ และอีกโครงการที่ทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี คือ โครงการ "กล้าใหม่...ใฝ่รู้" สนับสนุนโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเขาและเพื่อนๆ ได้เข้าไปทำเตาเผาขยะให้กับชุมชนในจังหวัดลำปางเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะที่พัวพันบั่นทอนคุณภาพชีวิตชาวบ้าน จนวันนี้โอมได้ก้าวมาเป็นกำลังสำคัญในกลุ่มแกนนำอาสาสมัครที่วิทยาเขตลำปาง ทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมที่นักศึกษาสนใจ ช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชน ตลอดจนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น การถอดบทเรียนจากการทำงาน หรือรวบรวมอาสาสมัครในการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนโดยรอบ ข้อดีจากการเข้าร่วมโครงการ "กล้าใหม่...ใฝ่รู้" หนุ่มน้อยรายนี้เผยว่า ทำให้เขาได้มีโอกาสทำงานกับชุมชนในชนบทเป็นครั้งแรกของชีวิต และถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญในชีวิตของเขาที่ได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชน พูดคุยกับคนในท้องที่ และได้ทำงานร่วมกัน การทำงานในลักษณะเช่นนี้เองทำให้โอมได้รับความรู้ใหม่ๆ จากชุมชนเติมเต็มสิ่งที่ได้ศึกษามาแล้วจากในห้องเรียนก่อนหน้านี้ สิ่งที่โอมคิดว่าเป็นความสำเร็จของการทำงาน หาใช่รางวัลการันตี หากแต่คือ “ความรักกันฉันท์ครอบครัว” ที่เกิดขึ้นในหมู่เพื่อนๆ ที่ทำงานร่วมกัน เพราะมิตรภาพถือเป็นความสุขอย่างยิ่ง คนรุ่นใหม่ อย่าง "โอม" เชื่อว่าต้องใช้ “ใจ” ในการทำงานมากกว่าการออกคำสั่ง เพราะทุกคนต่างต้องการทำสิ่งที่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกันการทำงานร่วมกับคนหมู่มากก็ทำให้เขารู้จักเรียนรู้เพื่อเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น หากไม่มีการทำงานเป็นหมู่คณะที่ดี โอมคิดว่าจะไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้มากเช่นนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ ความ “ศรัทธา” ที่มีต่อการทำงาน เพราะทำให้เขาพร้อมจะทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ และแก้ไขปัญหาทุกอย่างผ่านความศรัทธา เกิดจากศรัทธาที่มีต่อสิ่งที่ทำ สิ่งที่จะทุ่มเทให้ โดยใช้ความศรัทธาแก้ปัญหาทุกอย่าง รวมถึง “ทีมเวิร์ค” ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการขวยขวายรักษ์เรียนรู้อยู่เสมอก็ช่วยพัฒนาศักยภาพและทำให้เข้าใจตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ โอมสะท้อนว่า ผลจากการเรียนรู้นอกห้องเรียนนี้ทำให้เขามีโอกาสได้ทำงานในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาเรียนรู้ว่าชุมชนส่วนใหญ่นั้นมี “ทุนทางสังคม”อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทุนทางปัญญา ทุนวัฒนธรรม หรือทุนมนุษย์ ซึ่งช่วยให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งหน่วยงานรัฐแต่เพียงอย่างเดียว หากมี “กระบวนการ” สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างคนในชุมชนก็จะสามารถมองเห็นแนวทางในการจัดการปัญหาในชุมชนของตนเองได้ รวมทั้งจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนแต่ปฏิวัติความคิดและความเชื่อที่เขาเคยมีมาก่อนหน้านี้ "ก่อนหน้านี้ที่ ผมเคยคิดว่าชุมชนต้องเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว เช่น การบริจาคสิ่งของต่างๆ เป็นผลมาจากความคิดที่ว่าคนเมืองมีศักยภาพมากกว่าชนบท แต่ในความเป็นจริงแล้วคนในพื้นที่เองก็มีความคิดที่ดี มีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน การให้ความเชื่อเหลือโดยที่ผู้รับไม่ต้องการอาจเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ก็เป็นได้ จากจุดนี้เอง ถ้าจะมองว่าคนชนบทด้อยกว่าคนในเมืองก็คงหนีไม่พ้นความจริงที่ว่าคนชนบทระยะหลังมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้น้อยกว่า" อีกบทเรียนและประสบการณ์สำคัญที่ตอกย้ำความจริงเรื่องที่โอมพูดมานี้ ยังเป็นตอนที่ทำเตาเผาขยะในชุมชน โอมพบว่าภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นมีดีกว่าที่เขาเองและเพื่อนๆ ช่วยกันสืบค้น คิดวิเคราะห์ และวางแผนกันไว้มาก เตาเผาที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่ได้มาจากความคิดของนักศึกษาอย่างพวกเขาเพียงอย่างเดียว แต่มีความคิดของคนในพื้นที่เป็นหลัก เป็นวิธีการที่ชาวบ้านผสมภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเกิดจากการสั่งสมมานานและมีความเหมาะสมมากกว่าลำพังทฤษฎีต่างๆ ที่เขาเคยร่ำเรียนในตำราเป็นไหนๆ นอกจากนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมดังกล่าวยังช่วยให้คนในพื้นที่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมากขึ้นด้วย "แรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของผม ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่ให้อิสระในการทำสิ่งต่างๆ โดยมีเงื่อนไขอย่างเดียวคือต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ครอบครัวมีส่วนอย่างมากในการให้คำแนะนำในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชน แล้วอีกส่วนที่มีความสำคัญคือ เพื่อนอาสาสมัครซึ่งร่วมด้วยช่วยกันทำงาน รวมถึงคนในพื้นที่ชุมชนที่เขาได้เข้าไปทำงานด้วย ก็เป็นแรงใจสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้นได้อย่างแท้จริง" โอมกล่าว ทั้งนี้ เรื่องราวของ “โอม” ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างคนหนุ่มสำนึกใหม่ ที่ไม่เพียงแต่รอคอยการเรียนรู้จากในห้องเรียน แต่ยังเสาะแสวงหาการเรียนรู้ชีวิตจาก งานรับใช้สังคม ที่พาให้เขาไปพบกับโจทย์ปัญหาของชุมชน ที่ผลสะท้อนของมันยังทำให้เขา "ได้รับ" การเติมเต็มทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนโลกทัศน์ใหม่ๆ ต่อชีวิต และต่อสังคม ซึ่งไม่อาจหาซื้อได้จากที่ไหน และเป็นกระแสใหม่มาแรงสำหรับการเรียนรู้ของเยาวชนไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบัณฑิตเพื่อเป็นพละกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศในศตวรรษใหม่อย่างแท้จริง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ