อพท. เดินหน้า สลักคอก” เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา หนุนชุมชน “สลักคอก” ขยายผลพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday August 8, 2011 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--ไอ แอม พีอาร์ วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ได้ส่งผลให้เกิดกระแสความตื่นตัวในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดแนวคิดในเรื่องของเศรษฐกิจระบบนิเวศน์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติของสังคมมากขึ้น ชุมชนบ้านสลักคอก ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีชื่อเสียงจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามเพราะมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น “ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก” โดยมีกิจกรรมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศคือการ “ล่องเรือมาด” และ “พายเรือคายัค” ท่องป่าชายเลน ที่สร้างรายได้ในแต่ละปีให้คนในชุมชนเป็นจำนวนมาก เมื่อความเจริญต่างๆ เข้ามา ผลที่เกิดขึ้นก็คือการขยายตัวของชุมชน ตามมาด้วยปัญหาน้ำเน่าเสียที่ถูกทิ้งมาจากชุมชนและรีสอร์ตต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ หากปล่อยไว้เนิ่นนานโดยไม่คิดแก้ไขธรรมชาติก็จะเสื่อมโทรมลง นักท่องเที่ยวก็จะหายไป องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อ.พ.ท. ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเกาะช้างได้ถูกประกาศเป็น เขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี คิดค้นการบำบัดน้ำเสียด้วยบอลจุลินทรีย์ และได้ทำการทดลองในพื้นที่ บ้านสลักคอก และ บ้านบางเบ้า จนประสบความสำเร็จ โดยตั้งชื่อว่า ดาสต้าบอล (DASTA Ball) และยังร่วมกับชาวบ้านสลักคอก ขยายองค์ความรู้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อให้เกิดความตระหนักในการร่วมกันดูแลอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยล่าสุดได้จัดกิจกรรม “ชวนนักวิทย์เรียนรู้ ชวนสื่อดูประสิทธิภาพ DASTA BALL” เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ และขยายผลการดำเนินงานเพื่อสร้างภาคีเครือข่ายภาคเอกชนอื่นๆ และดึงชุมชนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อเป็นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 84 พรรษา นางจรรยา กิตติวิริยะวงษ์ รองนายก อบต.เกาะช้างใต้ กล่าวว่า ในตำบลเกาะช้างใต้มีปัญหาน้ำเน่าเสียที่ปล่อยออกมาจากธุรกิจโฮมสเตย์และน้ำเสียจากชุมชนชาวประมงพื้นบ้านริมคลองที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทำให้น้ำในคลองมีกลิ่นเหม็น สัตว์น้ำต่างๆ ลดน้อยลงไปพร้อมกับนักท่องเที่ยว “ชาวบ้านจึงร่วมกับทาง อพท. ศึกษาและทดลองนำดาสต้าบอลมาใช้บำบัดน้ำเสีย ผลที่เกิดขึ้นก็คือน้ำในลำคลองไม่มีกลิ่นเหม็น นักท่องเที่ยวก็เริ่มกลับเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญดาสต้าบอลยังเป็นเครื่องมือให้คนในชุมชนได้มาพบปะพูดคุย เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้คนในชุมชนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนมากขึ้น เพราะนอกจากจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวแล้วยังทำให้คนในชุมชนประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านได้อีกยาวนาน” นางจรรยากล่าว นางณัฐวดี กรัญญิรัตน์ ชาวประมงพื้นบ้านบ้านสลักคอก ระบุว่าปัญหาน้ำเน่าเสียที่กระทบต่อระบบนิเวศของป่าชายเลน เกิดจากพฤติกรรมของคนในชุมชนทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อน เมื่อทุกคนหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองโดยลดการปลดปล่อยของเสียลงแหล่งน้ำ และให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการบำบัดน้ำเสียมากขึ้น ป่าชายเลนก็กลับมาใสสะอาดเพียงพอทำให้สัตว์น้ำเข้ามาพักพิงและแพร่ขยายพันธุ์ได้ “ปัจจุบันลำคลองที่ไปยังปากอ่าวสลักคอกมีความใสสะอาดมากขึ้น สัตว์น้ำหลายชนิดในลำคลอง ที่หายไปอย่างปลาดุกทะเลหรือปูดำก็เริ่มพบมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยิ่งกระตุ้นให้เราตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบและดูแลชุมชน เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนดี อาชีพชาวประมงก็จะมีความยั่งยืน เพราะมีสัตว์น้ำนานาชนิดอุดมสมบูรณ์ มีอาหารทะเลสดๆ ไว้บริการนักท่องเที่ยว มีลำคลองที่ใสสะอาดคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนด้วย” นางณัฐวดีกล่าว ด้าน ดร.สุชาดา บุตรนาค นักวิจัยสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. กล่าวภายหลังการศึกษาดูงานร่วมกับทาง อพท. ว่ารู้สึกดีใจที่ได้เห็นว่าชุมชนมีโอกาสได้นำ DASTA BALL ซึ่งเป็นผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อดูแลและบำบัดแหล่งน้ำในท้องถิ่นให้สะอาดมาบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาปรับใช้กับวิถีชุมชน ทำให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “การศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้ทราบว่าในน้ำเค็มก็มีจุลินทรีย์อยู่ นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีจุลินทรีย์อยู่มากมายหลายชนิด และการที่นักวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกับ อพท.พัฒนาดาสต้าบอลขึ้นมาถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น” ดร.สุชาดาระบุ พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า อพท.มีบทบาทที่ทำให้พื้นที่พิเศษเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่เกิดความรัก ตระหนัก และหวงแหนในคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวของตนเอง โดยในปีนี้ทาง อพท. ได้จัดทำ “โครงการ DASTA BALL เฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน “โครงการ DASTA BALLเฉลิมพระเกียรติ ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2553 ไปจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นทั้งนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ อพท.จึงได้ดำเนินการโครงการนี้ขึ้นมาโดยให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนเพื่อนำดาสต้าบอลไปบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนจัดส่งดาสต้าบอลไปให้ใช้ และส่งทีมวิทยากรซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านจากชุมชนบ้านสลักคอกไปอบรมวิธีการผลิตเพื่อให้สามารถทำดาสต้าบอลใช้ได้เองในชุมชน ซึ่ง อพท.เล็งเห็นว่าการนำวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนได้” พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวสรุป. หน่วยงานใดที่สนใจ ขอรับการสนับสนุน DASTA Ball เพื่อบำบัดน้ำเน่าเสียในแหล่งท่องเที่ยว สามารถส่งหนังสือมาได้ที่ สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐-๓๙๕๕- ๒๒๒๒ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0805533283 บริษัท ไอ แอม พีอาร์ จำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ