ทีวีไกด์รายการ “องค์กรเกื้อแผ่นดิน ตอน : จากตำนานวีรชน สู่ตำบลคนพอเพียง

ข่าวบันเทิง Wednesday August 10, 2011 17:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--โมเดิร์นไนน์ทีวี เกาะภูเก็ต ได้รับการขนานนามว่า ไข่มุกแห่งท้องทะเลอันดามัน ด้วยชายหาดที่งดงามติดอันดับโลก ทำให้นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาพร้อมด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล แต่เบื้องหลังความศิวิไลซ์ของเกาะภูเก็ต กลับหมักหมมไปด้วยปัญหาที่ทับถมไว้ยาวนาน สถิติของอาชญากรรม อุบัติเหตุ และคดียาเสพติดพุ่งสูงขึ้นพร้อมกับอัตราค่าครองชีพ การบุกรุกที่สาธารณะและการทำลายฐานทรัพยากรเพื่อสร้าง รีสอร์ทและโรงแรมระดับห้าดาวกลายเป็นความทุกข์ระยะยาวของคนท้องถิ่น ในขณะที่เกาะภูเก็ตต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อกลายเป็นอาณาจักรของนักท่องเที่ยว แต่ใครจะคาดคิดว่า ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ที่ถูกเรียกอย่างเหยียดหยันว่าเป็น “เศษหาด” ที่ไร้ค่า เพราะรกชัฏไปด้วยป่าโกงกางและชายหาดสีโคลน ยังมีชุมชนคนชายขอบ ตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลป่าคลอก ยึดอาชีพทำการประมงชายฝั่งยังชีพ หาดเลนแห่งนี้ได้ซุกซ่อนขุมทรัพย์ล้ำค่าที่สามารถหล่อเลี้ยงผู้คนทั้ง 9 หมู่บ้านของตำบลป่าคลอกมายาวนานหลายชั่วอายุคน นั่นก็คือแหล่งกำเนิดและระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของฝั่งทะเลอันดามัน ที่มาของชื่อตำบลป่าคลอก ตั้งขึ้นจากผลพวงของสงคราม 9 ทัพ ระหว่างอาณาจักรพม่าและอาณาจักรไทย ที่ผู้คนถูกนำมาเผาทั้งเป็นที่ตำบลแห่งนี้ จนกระทั่งท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรได้นำไพร่พลเข้าสู้จนชนะศึกเมืองถลาง แม้จะผ่านมากว่า 200 ปี แต่สงครามที่ตำบลป่าคลอก ก็ยังไม่ยุติลง ศัตรูที่เข้ามาคุกคาม ได้เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นแม่ทัพนายทุนที่ถือเงินตราแทนอาวุธ ไล่แย่งชิงและกวาดต้อนเอาที่ทำกินและฐานทรัพยากรของคนป่าคลอกทั้ง 9 ชุมชน แต่เลือดนักสู้อันเข้มข้นของคนอันดามัน จากจิตวิญญาณที่สืบทอดมาจากเหล่าวีชนคนกล้า ทำให้คนป่าคลอกจับมือกันลุกขึ้นสู้กับอำนาจมืดของกลุ่มนายทุนอย่างองอาจ กระทั่งสามารถปกป้องป่าชายเลนและฟื้นฟูฐานทรัพยากรไว้เป็นสมบัติของสาธารณชนมาจนถึงทุกวันนี้ ย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ชุมชนป่าคลอกก็มีชะตากรรมไม่ต่างจากทุกหย่อมหญ้าบนเกาะภูเก็ต พื้นที่ป่าชายเลนถูกรุกล้ำเพื่อสร้างรีสอร์ทและทำนากุ้ง ส่วนทางฝั่งน่านน้ำ กองทัพเรืออวนรุนก็เข้ามารุกราน กวาดต้อนเอาทรัพยากรสัตว์น้ำไปอย่างไม่เลือกหน้า ทำให้วงจรชีวิตของคนป่าคลอกถูกตัดขาดสะบั้นลง จนกระทั่งคนตำบลป่าคลอกกลุ่มหนึ่งได้ลุกขึ้นกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ด้วยการก่อตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งบ้านป่าคลอก” เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชน ผลจากการร่วมกันดูแลป่าชายเลนและฝั่งทะเล ทำให้ชุมชนบ้านป่าคลอกได้รับพระราชทาน "ธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต" จากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในปี พศ. 2547 แต่การขับเคลื่อนงานอนุรักษ์เกือบต้องหยุดชะงักลง เมื่อ จุรินทร์ ราชพล แกนนำชุมชนถูกลอบสังหาร ความตายของชาวบ้านนักอนุรักษ์หนึ่งคน ได้กลายเป็นเชื้อไฟแห่งความกล้า ทำให้คนทั้งตำบลป่าคลอก ร่วมลุกขึ้นสู้จนสามารถขยายเครือข่ายกลายเป็นกลุ่มอนุรักษ์ภาคประชาชน ที่ร่วมกันคิด แยกกันทำ ด้วยหัวใจที่เป็นหนึ่งเดียวกัน คือความสำนึกรักในแผ่นดินถิ่นเกิด ยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งของคนตำบลป่าคลอก เริ่มจากใช้ต้นทุนฐานทรัพยากรและต้นทุนมนุษย์มาร่วมพัฒนาตำบลไปพร้อมความเข้มแข็งของหลักศาสนา และการเชื่อมร้อยศักยภาพของภาคีเครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่ นำมาสร้างพลังในการพัฒนาเป็นแผนแม่บทชุมชน ที่มุ่งเน้นการสร้างคนเป็นหัวใจสำคัญ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การร่วมเดินไปกับโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียงของตำบลป่าคลอก ได้สร้างแกนนำชุมชนและครัวเรือนอาสาที่กลายมาเป็น คนต้นแบบ ที่คนป่าคลอกเรียกว่า “ทีมงานมนุษย์ทองคำ” กระจายกำลังกันทำ หน้าที่ตามความถนัด โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง ยังได้ติดอาวุธทางปัญญาให้คนในชุมชน ด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้คนในชุมชน พออยู่ พอกิน และไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐาน การมีต้นแบบแห่งการอุทิศตนและการเสียสละของประชาชนคนตัวเล็กๆ ของคนตำบลป่าคลอก ได้หลอมรวมจิตสำนึกรักบ้านเกิดของพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากการสร้างวิถีพอเพียงมาเป็นฐานที่มั่นของการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์แล้ว คนตำบลป่าคลอกยังใช้วัฒนธรรมของชาวใต้ในการหล่อหลอมจิตสำนึกรักบ้านเกิด ให้เยาวชนคนอนุรักษ์รุ่นต่อไป ติดตามภารกิจแห่งจิตสำนึกรักบ้านเกิดของคนตำบลป่าคลอกได้ใน : จากตำนานวีรชน สู่ตำบลคนพอเพียง องค์กรเกื้อแผ่นดิน วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2554 (วันแม่แห่งชาติ) เวลา 10.00 น.ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ