ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ “ส้มโอไทย” เอกลักษณ์แห่งพันธุกรรม ของผลไม้ขึ้นชื่อ

ข่าวทั่วไป Monday November 19, 2007 15:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สกว.
ดีเอ็นเอ สารพันธุกรรมของสิ่งที่มีชีวิต (มนุษย์ สัตว์และพืช) ที่ลูกได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อหนึ่งส่วนและจากแม่อีกหนึ่งส่วนดีเอ็นเอ จึงเป็นตัวกำหนดข้อมูลในการสร้างสารชีวโมเลกุล ดังนั้นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงและชั้นต่ำจึงมีดีเอ็นเอ เป็นรหัสหรือแบบพิมพ์ในการสร้างและมีดีเอ็นเอเป็นรหัสเฉพาะตัว ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สายพันธุ์ จากความจำเพาะที่มีอยู่ในชุดดีเอ็นเอ แต่ละหน่วยนี้เอง เรียกว่า ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA Fingerprint) ซึ่งจะมีความหลากหลายมาก โดยเฉพาะในพืชอย่าง “ส้มโอ” ผลไม้ขึ้นชื่อ ของไทย
รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ที่ปรึกษาชุดโครงการวิจัย “ส้มโอ” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกส้มโอเกือบทุกจังหวัด แต่แหล่งปลูกเริ่มแรกนั้นจะพบบริเวณลุ่มน้ำสำคัญ เช่น ท่าจีน (นครชัยศรี) แม่กลอง และปากพนัง ซึ่งพันธุ์ที่ปลูกนั้นมีหลากหลายขึ้นอยู่กับแหล่งที่ปลูกและความต้องการของตลาดท้องถิ่นและต่างประเทศเป็นหลัก
สำหรับวิธีจำแนกพันธุ์ส้มโอ เบื้องต้นอาจจะใช้ลักษณะภายนอก เช่น ลักษณะของทรงต้น รูปร่างของใบ รูปทรงของผล สีของเปลือกและเนื้อผล แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น พันธุ์เดียวกันอาจมีทรงผลต่างกันระหว่างผลจากต้นที่มีอายุมากและต้นที่เริ่มให้ผลผลิต หรือลักษณะอื่น เช่น ทรงพุ่ม ขนาดใบ สีของเนื้อผล รสชาติ การติดผลมากหรือน้อย อายุการเก็บเกี่ยว และฤดูการออกดอก ซึ่งลักษณะทางกายภาพเหล่านี้ อาจเป็นผลจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่แตกต่างกัน ทำให้การจำแนกพันธุ์ด้วยวิธีนี้คลาดเคลื่อนและสืบค้นแหล่งที่มาได้ยาก ดังนั้นจึงมีการนำเทคนิคทางด้านชีววิทยาโมเลกุล (molecular biology) มาประยุกต์ใช้ในการจำแนกพันธุ์ส้มโอ
การจำแนกดีเอ็นเอเป็นเทคนิคด้านชีววิทยาโมเลกุลอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเทคนิคขั้นสูงที่จะนำมาประยุกต์ในการจำแนกชนิดของพันธุ์ โดยเทคโนโลยีด้านดีเอ็นเอ มีหลายเทคนิค เช่น เทคนิคเอเอฟแอลพี(AFLP) เทคนิคอาร์เอพีดี(RAPD)และการใช้เครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์ (microsatellite) ดังนั้นการจะเลือกใช้เทคนิคใดมาประยุกต์เพื่อจำแนกชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของสิ่งมีชีวิต ทุนวิจัย และข้อมูลทางชีวสารสนเทศ (Bioinformatics)
สำหรับเทคนิคการใช้เครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์ (microsatellite markers) นั้น จะใช้แยกขนาดของดีเอ็นเอที่มีการเรียงตัวของลำดับเบสซ้ำๆกันแทรกอยู่ทั่วไปในดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตชั้นสูง โดยเรียกดีเอ็นเอชนิดนี้ว่า microsatellite DNA ซึ่งสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน ก็ยังมีความแตกต่างในความยาวของลำดับเบสที่ซ้ำกันนี้ กรณีการศึกษาเครื่องหมายนี้ใน “ส้มโอ” ก็ยังไม่มีงานวิจัยโดยตรง เพียงแต่มีการนำงานวิจัยของส้ม มะนาวและพืชตระกูลส้มชนิดอื่นๆมาประยุกต์
งานวิจัย “ลายพิมพ์ดีเอ็นเอของพันธุ์ส้มโอไทยโดยใช้เครี่องหมายไมโครแซทเทลไลท์” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งเน้นการจำแนกชนิดพันธุ์ส้มโอของไทยเพื่อแสดงสิทธิครอบครอง เนื่องจากมีการตั้งสมมติฐานว่า ส้มโอมีแหล่งกำเนิดในเอเซียอาคเณย์และโดยเฉพาะประเทศไทย และนอกจากนี้ยังพบว่าส้มโอในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่มีสายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อการส่งออกไม่เกิน 10 ชนิด
รศ.ดร.อำไพวรรณ กล่าวอีกว่า งานวิจัยนี้จึงได้ประยุกต์ใช้เทคนิคเครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์ (microsatellite markers) ซึ่งใช้แยกความแตกต่างทางพันธุกรรมของส้มและมะนาว มาเป็นแนวทางในการวิจัยพันธุ์ส้มโอ เพื่อทำให้ได้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอเฉพาะของส้มโอแต่ละพันธุ์ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบและเป็นฐานข้อมูลพันธุกรรมของส้มโอไทย
โดยนักวิจัยคาดหวังว่า เมื่องานวิจัยเสร็จสิ้นจะสามารถใช้วิธีการจำแนกพันธุ์ส้มโอโดยใช้ไมโครแซทเทลไลท์จากงานวิจัยนี้ ที่มีความถูกต้องแม่นยำและสามารถพยากรณ์ความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการได้ และฐานข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอของพันธุ์ต่าง ๆ ที่เป็นเอกสารอ้างอิง จะสามารถใช้เป็นสิ่งยืนยันลักษณะจำเพาะของส้มโอสายพันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกในประเทศไทยได้
นอกจากนี้ผลความสำเร็จจากงานวิจัย จะนำมาใช้ประโยชน์ในพัฒนาสายพันธุ์ส้มโอไทย ผลไม้ไทยที่มีศักยภาพของการส่งออกมากในอันดับต้นๆ และใช้ตรวจสอบข้อมูลพันธุกรรมของส้มโอไทยเพื่อการจดทะเบียนและคุ้มครอง และเป็นการป้องกันคู่แข่งทางการค้าในอนาคต ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของผลไม้เศรษฐกิจชนิดนี้ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ