คุณแม่คนทำงานวอนขอความเข้าใจจากนายจ้าง ภาวะเศรษฐกิจบีบให้ต้องทิ้งลูกมาทำงานนอกบ้าน

ข่าวทั่วไป Thursday August 11, 2011 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--จ็อบสตรีท การหาพนักงานให้ตรงกับความต้องการไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การเก็บรักษาพนักงานที่ดีไว้ยิ่งยากกว่า องค์กรต่างๆ ในปัจจุบันจึงต้องพลิกแพลงทุกกลยุทธ์ในการเก็บรักษาคนดีและคนเก่งไว้ให้ได้ และหนึ่งในวิธีการยอดนิยมคือเรื่องของการจัดสรรสวัสดิการต่างๆ ที่สามารถดึงดูดใจและดึงพนักงานดาวเด่นไว้ให้ได้ แต่นอกจากจะจัดสรรสวัสดิการเพื่อพนักงานดาวเด่นทั่วๆ ไป แล้ว ผลสำรวจล่าสุดของจ็อบสตรีทดอทคอมหนึ่งในเว็บไซต์จัดหางานที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทยและมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านอาชีพยังชี้ให้เห็นชัดเจนว่าถึงเวลาที่บริษัทต้องปรับปรุงสวัสดิการเพื่อพนักงานหากต้องการจะเก็บรักษาคนดีและเก่งไว้กับองค์กร โดยเฉพาะพนักงานหญิง เนื่องจากปัจจุบันแรงงานสตรีมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกระดับ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเดือนมกราคม 2549 พบว่ามีแรงงานสตรีร้อยละ 45.5 ของแรงงานในระบบทั้งหมดโดยเป็นแรงงาน นอกภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 47.2 ซึ่งเป็นแรงงานสำคัญในด้านการบริการ (โรงแรมและภัตตาคาร) ร้อยละ 61.8 ด้านการศึกษาร้อยละ 59.3 ด้านการผลิตถึงร้อยละ 54.3 การบริหารราชการแผ่นดินและการประกันสังคมร้อยละ 33.0 ทั้งนี้จากการสำรวจผู้หญิงทำงานจำนวน695 คน อายุระหว่าง 21 — 40 ปี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในหัวข้อทัศนคติของผู้หญิงและแม่ในบทบาทของคนทำงานทำให้สามารถสะท้อนมุมมองของผู้หญิงและแม่ในฐานะของคนทำงานได้อย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ผู้หญิงทำงานให้ความสำคัญและต้องการจากองค์กร กลุ่มผู้ที่ทำการตอบแบบสอบถามนั้น 66% เป็นโสด 21% เป็นหญิงที่สมรสและมีบุตรแล้ว 6% เป็นหญิงที่สมรสแล้วแต่ยังไม่มีบุตร อีก 6% หย่าร้างและมีบุตร และ 1% เป็นหญิงที่หย่าร้างแล้วแต่ยังไม่บุตรโดย 36% ให้ความเห็นว่าบริษัทไม่ใส่ใจต่อความต้องการของพนักงานที่มีบุตร 27% ระบุว่าบริษัทใส่ใจความต้องการของพนักงานกลุ่มดังกล่าวและอีก 38% ไม่แน่ใจ64% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าเป้าหมายในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปแน่นอนเมื่อมีบุตร โดยในจำนวนนั้นชี้ว่าภายหลังการมีบุตรสิ่งที่สำคัญในการทำงานคือ เงินเดือนที่สูงขึ้น (35%) ชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงและมีเวลาที่แน่นอน (31%) ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นตามความจำเป็น (23%) การเดินทางที่น้อยลง (7%) และอื่นๆ อีก 4% ได้แก่ ความมั่นคงในการทำงาน สวัสดิการที่ดีขึ้น และวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เมื่อถามต่อไปถึงการจัดชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นให้พนักงานที่มีบุตรของบริษัทต่างๆ 54% ระบุว่าไม่มีการยืดหยุ่น มีเพียง 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าบริษัทมีการจัดสรรเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นให้ นอกจากนั้นยังพบว่าคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ถูกเรียกร้องให้ยังต้องทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดด้วย (18%) สำหรับแผนการประกอบอาชีพภายหลังการแต่งงานหรือมีบุตร 62% ยืนยันว่าจะทำงานต่อไป มีเพียง 2% เท่านั้นที่ระบุว่าจะเลิกทำงานภายหลังการมีบุตร ทั้งนี้เมื่อถามเฉพาะกลุ่มผู้หญิงทำงานที่มีบุตรแล้วพบว่า 78% ไม่ได้หยุดทำงานเมื่อมีบุตร สำหรับผู้ที่หยุดทำงานนั้น 50% หยุดทำงานเป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อเลี้ยงดูบุตรก่อนจะกลับไปทำงานอีกครั้ง สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดสินใจเลิกทำงานเพื่อดูแลบุตรเพียงอย่างเดียวได้คือความจำเป็นทางเศรษฐกิจของครอบครัว (56%) อีก 24% ระบุว่ายังอยากมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน 11% ยังมีความสุขกับงานที่ทำอยู่ และเหตุผลอื่นๆ อีก 9% เช่น ต้องการมีเงินเก็บเพิ่มเติม ต้องการรักษาคุณค่าของตนเองไว้ด้วยการทำงาน และไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ เพื่อเลี้ยงลูกอย่างเดียว นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า “จากผลสำรวจจะเห็นได้ชัดเจนถึงความต้องการของลูกจ้างหญิงเกี่ยวกับทัศนคติในการทำงานภายหลังการแต่งงานและมีบุตร ซึ่งองค์กรเองควรตระหนักและเริ่มทบทวนนโยบายในด้านสวัสดิการต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับลูกจ้างหญิงให้มากขึ้น เนื่องจากจำนวนของพนักงานหญิงมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดูได้จากสัดส่วนของแรงงานหญิงในระบบที่มีมากพอๆ กับแรงงานชาย ทั้งยังเป็นแรงงานที่เราไม่สามารถจะละเลยหรือลดความสำคัญลงได้เลยและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรคำนึงถึงนโยบายการให้สวัสดิการสำหรับคนทำงานที่มีบุตรแล้วด้วย ซึ่งเป็นแผนงานหนึ่งที่สามารถทำให้องค์กรสามารถเก็บรักษาคนดีคนเก่งเอาไว้ได้” จากการสอบถามตัวแทนนายจ้างจาก 284 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กมีพนักงานไม่เกิน 50 คน 39% บริษัทขนาดกลาง มีพนักงานตั้งแต่ 50-200 คน 27% และบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนพนักงานมากกว่า 200 คน อีก 35% พบว่า โดยเฉลี่ยมีพนักงานหญิงในองค์กรประมาณ 50-70% แต่ในองค์กรขนาดเล็กจะมีพนักงานหญิงอยู่ระหว่าง 71-90% เมื่อถามถึงการให้ความสำคัญกับสวัสดิการเพื่อพนักงานหญิง 60% ให้ความสำคัญอยู่ที่ระดับปานกลาง โดย 45% ของบริษัทที่ร่วมตอบแบบสอบถามแจ้งว่าไม่มีการจัดสวัสดิการใดเป็นพิเศษสำหรับพนักงานที่ตั้งครรภ์หรือพนักงานที่มีบุตร ทั้งนี้เมื่อแยกพิจารณาตามขนาดขององค์กรพบว่า 47% ขององค์กรขนาดใหญ่ให้ความสำคัญมากในการจัดสวัสดิการเพื่อพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์ และอีก 50% ให้ความสำคัญในระดับปานกลาง สำหรับสวัสดิการเพื่อพนักงานตั้งครรภ์หรือพนักงานที่มีบุตรที่องค์กรจัดให้พนักงานนั้น33%ขององค์กรที่ตอบแบบสอบถามระบุว่ามีการปรับเวลาให้ยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับพนักงานกลุ่มดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างการเลี้ยงดูบุตรในช่วงทารก-ปฐมวัย 4% ขององค์กรที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าได้จัดสวัสดิการห้องปั๊มนมไว้ให้พนักงาน 2% จัดห้องดูแลเด็กไว้ในสถานที่ทำงาน 3% มอบเงินสวัสดิการเพื่อช่วยค่าเลี้ยงดูบุตร และ 14% ให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือค่าคลอดบุตร การให้สวัสดิการรักษาพยาบาลบุตร การให้ทุนการศึกษา การให้ของขวัญแรกคลอด และการปรับเปลี่ยนหน้าที่ที่เหมาะสมให้กับหญิงมีครรภ์ เป็นต้น เมื่อถามถึงแผนการในการเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานหญิงที่มีบุตร 15% แจ้งว่ามีแผนในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า 8% มีแผนการในระยะยาวคืออีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ 77% ยังไม่มีแผนการเลย นางสาวฐนาภรณ์กล่าวต่อไปว่า “นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่ามีพนักงานหญิงถึง 41% เรียกร้องให้องค์กรอำนวยความสะดวกในการเลี้ยงดูเด็กที่ที่ทำงานด้วย นั่นแสดงได้ชัดเจนว่า คุณแม่ที่ยังต้องทำงานทั้งหลาย ไม่อยากละทิ้งภาระหน้าที่ในการเลี้ยงลูกไป ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากสูญเสียความก้าวหน้าในอาชีพด้วย” “สิ่งที่คุณแม่คนทำงานอยากจะร้องขอต่อนายจ้าง เพื่อช่วยให้เธอยังสามารถทำงานได้อย่างสบายใจคือ เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร (43%) เงินเดือนที่สูงขึ้น (38%) วันหยุดที่เพิ่มขึ้น (34%) ทุนการศึกษาบุตร (33%) ห้องเลี้ยงเด็ก (21%) และอื่นๆ (6%) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจจากนายจ้างในเรื่องของวันลาและความยืดหยุ่นของเวลาการทำงานเพื่อเปิดโอกาสให้เธอได้ทำหน้าที่แม่ได้สมบูรณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความจำเป็นในกรณีที่ลูกป่วย การรับส่งลูก ตลอดจนงานโรงเรียน การประชุมผู้ปกครอง โดย เช่นกรณีที่ลูกป่วย หรือ จำเป็นต้องไปงานโรงเรียนของลูกเป็นต้น” “ทั้งนี้ 46% ของตัวแทนนายจ้างเชื่อมั่นว่าแม้พนักงานจะมีบุตรก็ยังสามารถทุ่มเทให้กับงานได้เต็มที่ และ 70% ของตัวแทนฝ่ายนายจ้างระบุว่าในการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าทำงานนั้น ไม่ได้สนใจว่าจะมีบุตรแล้วหรือไม่ โดยให้ความเห็นว่าการมีบุตรจะทำให้พนักงานมีความรับผิดชอบและมีความอดทนในการทำงานมากขึ้น แม้ว่าในช่วงสามปีแรกของการเลี้ยงดูบุตรอาจจะมีเวลาทำงานไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่นายจ้างต้องเข้าใจและปรับในเรื่องของความยืดหยุ่นของเวลาทำงานให้ลูกจ้างตามสมควร ซึ่ง นายจ้างระบุว่า การปรับเปลี่ยนหรือ โยกย้ายหน้าที่ให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์จะพิจารณาจากลักษณะงานเป็นสำคัญ ในบางตำแหน่งนั้นการมีลูกหรือตั้งครรภ์จะกระทบกับงานแต่สำหรับพนักงานที่ทำงานประจำสำนักงานจะไม่มีผลกระทบอะไร ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้มีข้อกฏหมายกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว เพื่อคุ้มครองสิทธิลูกจ้างหญิง” “เป็นที่น่ายินดีว่าแม้ในปัจจุบันแต่ละองค์กรอาจจะยังไม่ได้ดูแลสวัสดิการให้กับพนักงานที่มีบุตรอย่างจริงจัง แต่ก็พบว่าหลายๆ แห่งไม่ได้ละเลยที่จะพยายามทำความเข้าใจกับบทบาทของคนเป็นแม่ที่ต้องรับภาระงานนอกบ้านด้วย โดยการยืดหยุ่นกฏระเบียบต่างๆ ตามสมควร และมีแนวโน้มว่าองค์กรต่างๆ จะตื่นตัวในเรื่องนี้กันอย่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดสถานที่สำหรับเลี้ยงดูเด็ก และห้องสำหรับให้คุณแม่เก็บน้ำนม ซึ่งเริ่มมีหลายองค์กรทำแล้ว ซึ่งพนักงานเองก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดของนายจ้างด้วยที่อาจจะยังไม่พร้อมเรื่องของสถานที่ บุคลากร และจำนวนพนักงานอาจจะยังไม่มากพอสำหรับการจัดสรรสวัสดิการต่างๆดังกล่าว ซึ่งเราก็หวังว่าคุณแม่คนทำงานทุกคนมีความสุขกับทุกบทบาทที่ได้รับและประสบความสำเร็จกับทั้งบทบาทของแม่และคนทำงาน”นางสาวฐนาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติม เกี่ยวกับจ็อบสตรีทดอทคอม ประเทศไทย จ็อบสตรีทดอทคอมได้ดำเนินงานร่วมกับบริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่งในประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 และมุ่งมั่นที่จะขยายบริการจัดหางานออนไลน์ในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ผู้หางานในประเทศไทยมีโอกาสหาตำแหน่งงานที่ต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ ปัจจุบันให้บริการแก่องค์กรและบริษัทมากกว่า 7,000 แห่ง และผู้หางานมากกว่า 300,000 ราย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์: 02-833-3000 ต่อ 4113หรือ 085 150 7790 โทรสาร : 02-833-3051 Email: titaya.c@jobstreet.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ