นักการศึกษาแนะโรงเรียนเร่งเตรียม 3 อี รองรับแท็บเล็ต

ข่าวทั่วไป Friday August 19, 2011 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ นักการศึกษาแนะโรงเรียนเอกชนควรเร่งเตรียมพร้อมด้วยหลักการ 3 อี ซึ่งได้แก่ E-Subject E-Teacher และ E-School รองรับนโยบายการแจกแท็บเล็ตของรัฐบาล หลังแนวโน้มของประเทศต่างๆในแถบเอเชียที่มีการปรับตัวเพื่อรองรับกับกระแสห้องเรียนเทคโนโลยีเช่นกัน พร้อมเสนอให้รัฐบาลเร่งพัฒนาแอปพลิเคชั่นและเพิ่มโครงข่ายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตขั้นพื้นฐานด้วยไว-ไฟ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อผลประโยชน์อันสูงสุด ทั้งยอมรับการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 15,000 บาท อาจกระทบกับภาระทางการเงินของโรงเรียนเอกชน นายชาญณรงค์ ลักษณียนาวิน ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนในเครือภาษานุสรณ์บางแค กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในพัฒนาการศึกษาถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความสอดคล้องกับกระแสในวงการการศึกษาของโลกและยังเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนโดยตรง เห็นได้จากแนวโน้มของประเทศต่างๆในแถบเอเชียที่มีการปรับตัวเพื่อรองรับกับกระแสห้องเรียนเทคโนโลยี เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพราะประเทศดังกล่าวต่างมองเห็นถึงประโยชน์จากแทบเล็ต ที่นอกจากจะสามารถกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจกับการทดลองเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆแล้ว ยังสามารถใช้แทนหนังสือหรือสมุดจดได้ จนกลายเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษให้น้อยลง ทั้งนี้ โรงเรียนเอกชนต่างๆ ก็มีความพร้อมที่จะรองรับนโยบาย เพราะส่วนใหญ่ต่างก็มีประสบการณ์ด้านการสร้างห้องเรียนเทคโนโลยีมาก่อน ดังเช่น โรงเรียนภาษานุสาณ์บางแค ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างห้องเรียนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ผ่านระบบอีลิงกัวที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยให้นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ได้มีโอกาสเข้าใช้ห้องเรียนอีลิงกัว เพื่อเสริมการเรียนนอกเหนือการเรียนภายในห้องเรียนปกติ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีมาให้แก่นักเรียน คือ การพัฒนาเนื้อหาหรือแอพพลิเคชั่นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้นโยบายดังกล่าวสำเร็จเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อตัวนักเรียนเองอีกด้วย โดยต่างประเทศมีการพัฒนาด้านนี้รุดหน้าไปมาก ในขณะที่ในเมืองไทยยังคงให้ความสำคัญกับฮาร์ดแวร์เป็นหลัก และควรเตรียมโครงข่ายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตขั้นพื้นฐานด้วยไว-ไฟ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ขณะที่ทางโรงเรียนเอง ก็ควรเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายดังกล่าวด้วย หลักการ 3 อี คือ E-Subject หรือเนื้อหาของบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จำเป็นจะต้องพัฒนาเพื่อรองรับกับแทบเล็ตที่กำลังจะเข้ามา โดยโรงเรียนอาจจะต้องมีการนำเข้าซอฟแวร์บทเรียนมาจากต่างประเทศ นำเนื้อหาที่ปรากฏตามพื้นที่สาธารณะทั่วไปมาทำเป็นบทเรียนสำเร็จรูป หรืออาจสร้างขึ้นเองทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับบทเรียนในชั้นเรียน โดยจะต้องคำนึงให้เนื้อหาสอดคล้องกับวัยของเด็กด้วย เช่น ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อาจมีความจดจ่อกับเนื้อหาได้ไม่นาน ก็ควรเป็นเนื้อหาสั้นๆเน้นภาพเคลื่อนไหว และให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ E-Teacher หรือการเตรียมบุคลากรครู โดยครูจะต้องรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบทเรียน และแนะนำให้เด็กนักเรียนใช้แทบเล็ตเพื่อประโยชน์ของการเรียนรู้ด้านการศึกษาอย่างแท้จริง จึงต้องอาศัยครูที่มีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ซึ่งอาจจะต้องมีการอบรมเพื่อเติม หรือ ทำเป็นคู่มือสำเร็จรูปเพื่อความสะดวกสำหรับการปฏิบัติการสอนของครูอาจารย์ และ การปรับโลกทัศน์ สู่การเป็น E-School หรือ โรงเรียนที่มีการใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นกระแสในวงการศึกษาทั่วโลกที่ขณะนี้โรงเรียนต่างๆกำลังปรับตัวให้กลายเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ซึ่งโรงเรียนภาษานุสรณ์บางแค ก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อการนำไปสู่ E-School อยู่เช่นเดียวกัน นายชาญณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม สำหรับกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำให้กับผู้ที่จบปริญญาตรี จำนวน 15,000 บาทนั้น ตนมองว่ามีแนวโน้มจะส่งผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนอย่างแน่นอน เพราะโรงเรียนจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้น สวนทางกับทิศทางการเข้าศึกษาต่อของเด็กนักเรียนที่โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ มีนักเรียนเข้าศึกษาลดลง หรือคงที่ หากเพิ่มเงินเดือนครูทั้งหมดอาจกระทบกับภาระทางการเงินของโรงเรียน จึงน่าจะเป็นการเพิ่มเงินเดือนขึ้นอย่างมีเงื่อนไข เพื่อจูงใจให้ครูปฏิบัติการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นายชาญณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม

แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ