การเผชิญหน้าของม้าแรงสายพันธุ์แกร่ง : ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ปะทะรถจักรไอน้ำ

ข่าวยานยนต์ Wednesday August 24, 2011 15:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน หากคุณสงสัยว่ารถที่มีแรงบิดสูงถึง 470 นิวตัน-เมตร สามารถทำอะไรได้บ้าง คำตอบหนึ่งก็คือการลากรถจักรไอน้ำที่มีน้ำหนักมากถึง 160 ตัน! ฟอร์ดจัดการทดสอบสมรรถนะของฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ในช่วงบ่ายวันหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย ด้วยการท้าพิสูจน์สมรรถนะของเรนเจอร์ ใหม่ ว่าจะสามารถลากรถจักรไอน้ำระดับตำนาน R711 ออกมาจากโรงเก็บรถจักรไอน้ำได้หรือไม่ และผลการทดสอบก็ปรากฏว่า แม้จะต้องใช้พละกำลังมหาศาลในการขับเคลื่อนไปบนถนนที่ไม่ได้ลาดยาง แต่สมรรถนะที่เหนือชั้นของฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ รุ่นดับเบิลแค็บ ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร ก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับทีมวิศวกรได้ด้วยการลากรถจักรไอน้ำระดับตำนานคันนี้ออกมาจากโรงเก็บรถเก่าได้อย่างนุ่มนวลตลอดเส้นทาง ในการทดสอบ วิศวกรของฟอร์ดไม่ได้ปรับแต่งฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ เป็นพิเศษเพื่อรองรับการทดสอบครั้งนี้แต่อย่างใด พละกำลังในการลากจูงทั้งหมดจึงเกิดจากการทำงานร่วมกันของเครื่องยนต์ดีเซลแบบ 5 สูบที่ให้กำลัง 147 กิโลวัตต์ และแรงบิดสูงถึง 470 นิวตัน-เมตร ควบคู่กับการทำงานของระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ทันทีที่เข้าเกียร์ในจังหวะต่ำ (Low) ในแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ก็ออกแรงฉุดลากและทำให้ล้อของรถจักรไอน้ำหมุนตามได้อย่างง่ายดายและแทบจะในทันที นับเป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ที่ดีเยี่ยมซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการลากจูงน้ำหนักได้สูงกว่า 3,000 กิโลกรัมของเรนเจอร์ ใหม่ สำหรับรถจักรไอน้ำ R711 ที่ถูกลากในครั้งนี้ นับว่าเป็นหนึ่งในพาหนะสายพันธุ์แกร่งและเปี่ยมสมรรถนะซึ่งสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 70 คน สร้างขึ้นโดยบริษัทนอร์ธ บริติช โลโคโมทีฟ คัมปะนี ในเมืองกลาสโกลว ประเทศสก็อตแลนด์ รถจักรไอน้ำ R711 เริ่มให้บริการขนส่งผู้โดยสารครั้งแรกในปีพ.ศ. 2494 ก่อนจะถูกปลดประจำการในเวลา 14 ปีต่อมา เมื่อมีการผลิตรถจักรดีเซลไฟฟ้าและรถจักรไฟฟ้ามาใช้แทน ในปีพ.ศ. 2541 รถจักรไอน้ำ R711 ได้รับการปรับเปลี่ยนให้ใช้พลังงานจากน้ำมันแทนถ่านและกลับมาให้บริการอีกครั้ง ก่อนจะปลดประจำการในปีพ.ศ. 2547 และถูกส่งต่อให้อยู่ภายใต้การดูแลของสตีมเรล วิคทอเรีย ซึ่งเป็นองค์กรอิสระในประเทศออสเตรเลียที่ดูแลด้านการทำนุบำรุงและบริหารจัดการรถโบราณต่างๆ ทั้งรถจักรไอน้ำ รถจักรดีเซลไฟฟ้า รถจักรไฟฟ้า และรถไฟขนส่งสินค้า รถจักรไอน้ำ R711 เป็นหนึ่งในรถจักรไอน้ำเพียง 7 ขบวนในรุ่นนี้ที่ได้รับการอนุรักษ์ โดยชื่อของรถจักกรไอน้ำขบวนนี้คือ “Spirit of Bendigo” ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามเมืองที่เป็นเจ้าของ และมีสัญลักษณ์เป็นตัวถังสีน้ำเงิน (Royal blue) และสีทอง ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นรถไฟที่มีเกียรติภูมิดีเด่นเป็นพิเศษอีกด้วย ในวันที่มีการทดสอบสมรรถนะของฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ในการลากจูงรถจักรไอน้ำ R711 มีผู้ที่ผ่านไปมาบริเวณ Newport Workshops ซึ่งเป็นโรงเก็บรักษาและซ่อมแซมรถไฟในเมลเบิร์นเข้ามาร่วมสังเกตการณ์และพูดคุยกันว่าเรนเจอร์ไม่น่าจะผ่านบททดสอบในครั้งนี้ได้ เนื่องจากรถจักรไอน้ำมีขนาดใหญ่กว่ารถกระบะอย่างมาก แต่ทันทีที่เรนเจอร์ ใหม่ เริ่มออกตัวและล้อของรถจักรไอน้ำเริ่มหมุนตาม ผู้ที่มาเฝ้าสังเกตการณ์ก็ถึงกับอุทานออกมาด้วยเสียงอันดังว่า “ไม่น่าเชื่อ!” ขณะที่อีกหลายๆ คนต่างตื่นเต้นกับการทดสอบที่อยู่ตรงหน้า หลังการทดสอบเสร็จสิ้นลง ฝูงชนที่มาร่วมชมการทดสอบครั้งนี้ต่างประหลาดใจกับพละกำลังในการลากจูงอันมหาศาลของเรนเจอร์ ใหม่ “รถคันนี้ใช้เครื่องยนต์วี 8 หรือเปล่า?” ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งถาม “ไม่ใช่ครับ” “ถ้าอย่างนั้นคงจะเป็นเครื่องวี 6?” ผู้สังเกตการณ์ซักต่อ “ไม่ใช่ครับ นี่เป็นเครื่อง ไอ5” เสียงการสนทนาในบริเวณนั้นสงบลงครู่หนึ่งขณะที่หลายคนตะลึงกับฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ที่จอดอยู่ตรงหน้า นอกจากพลังในการลากจูงที่เหนือชั้น ฟอร์ดยังได้ติดตั้งเทคโนโลยีอันชาญฉลาดให้แก่เรนเจอร์ ใหม่ อาทิ ระบบ Trailer Sway Mitigation และ Adaptive Load Control ที่ช่วยลดการแกว่งของส่วนพ่วงท้าย เพื่อให้ผู้ขับขี่รู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้นเมื่อต้องลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ระบบ Trailer Sway Mitigation จะเริ่มทำงานเมื่อส่วนพ่วงท้ายเริ่มส่ายไปมา โดยระบบจะส่งแรงเบรกไปชะลอความเร็วของทั้งส่วนกระบะและพ่วงท้าย ขณะที่ระบบ Adaptive Load Control จะวัดระดับน้ำหนักที่บรรทุกและทำงานโดยการรักษาสมดุลของรถให้ขับได้ตรงทางโดยที่รถไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง และเมื่อกล่าวถึงการทดสอบความสามารถของเรนเจอร์ ใหม่ ด้วยการลากรถจักรไอน้ำ โรเจอร์ เลวิส วิศวกรที่ปรึกษาฝ่ายบูรณาการประจำฟอร์ด ออสเตรเลีย กล่าวว่า โดยปกติแล้วในการลากรถจักรไอน้ำ R711 จะต้องใช้หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าประเภท T-class ที่มีน้ำหนักมากถึง 70 ตัน ที่ให้กำลังมากถึง 700 กิโลวัตต์ และ “ให้แรงบิดมากมายมหาศาล” “ดังนั้น หากคุณไม่มีหัวรถจักรแบบ T-class คุณก็สามารถใช้ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ แทนได้” วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟซึ่งเป็นสมาชิกของสตีมเรล วิคทอเรีย ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ กล่าว ติดต่อ: ชยภัค ลายสุวรรณ ฟอร์ด ประเทศไทย คมสัน สิงห์ทอง ฟอร์ด ประเทศไทย โทร. 02 686 5912 โทร. 02 686 4643 claisuwa@ford.com ksingha1@ford.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ