กทม.ผุด 2 โครงการแก้ปัญหาขยะ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 9, 2002 09:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กทม.
ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (8 ม.ค.45) ว่า ทางคณะผู้บริหารกทม.ได้มีการประชุมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะของกทม. 2 วิธีคือ วิธีการฝังกลบและการก่อสร้างโรงเผาขยะ ซึ่งการแก้ไขปัญหาโดยวิธีการฝังกลบนั้น นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีแนวคิดที่จะใช้วิธีแบบ WRAPPING คือ การรีดน้ำออกจากขยะ แล้วห่อขยะด้วยพลาสติกก่อนนำไปฝังกลบ ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้มีบริษัทเอกชนพร้อมที่จะลงทุนให้ และวิธีนี้ที่ประชุมคณะผู้บริหารกทม.มีมติเห็นชอบในหลักการ รวมทั้งจะได้นำเสนอสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร วันนี้ (9 ม.ค.45) จากนั้นการจะมอบหมายให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งไปดำเนินการ หรือเปิด TOR ให้มีการประกวดราคา จะต้องมีการทบทวนในรายละเอียดและหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้การนำเสนอสภากรุงเทพมหานครไม่ได้เป็นการผูกมัดสภากรุงเทพมหานครชุดนี้ซึ่งจะหมดวาระในอีกไม่กี่เดือน แต่เพื่อต้องการให้ทราบว่าในอนาคตคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีแนวทางแก้ไขปัญหาขยะด้วยวิธีดังกล่าว
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาขยะด้วยวิธีการก่อสร้างโรงเผาขยะนั้น กทม.ได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการก่อสร้าง 25 % หรือประมาณ 1,910 ล้านบาท แต่ทางรัฐบาลขอให้กทม.เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างทั้งหมด โดยจะสนับสนุนในเรื่องการหาแหล่งเงินทุนจากเจบิคให้ กทม.จึงได้ดูความพร้อมว่าจะสามารถลงทุนก่อสร้างเองได้ทั้ง 100 % หรือไม่ โดยพิจารณาถึงรายรับและรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีโรงเผาขยะ เช่น ค่าไฟ ค่าปุ๋ย หรือรายได้จากขยะรีไซเคิล ขณะนี้ได้มีการประมาณการตัวเลขรายรับและรายจ่ายคร่าว ๆ ไว้แล้ว ซึ่งมีผลคุ้มค่ากับการลงทุน สำหรับการผ่อนชำระหนี้กับทางเจบิคนั้น มีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ 40 ปี อัตราดอกเบี้ย 0.75 % แต่เพื่อความรอบคอบคณะกรรมการฯ โดยมีตนเป็นประธานจะได้เข้าไปตรวจสอบรายละเอียดการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ และจะนำเสนอคณะผู้บริหารกทม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนสิ้นเดือนมกราคม เพราะรายละเอียดเรื่องเงินกู้เจบิคจะต้องแจ้งให้กระทรวงการคลังทราบภายในเดือนมกราคมนี้
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าก่อสร้างโรงเผาขยะนั้น ประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการ ก่อสร้างประมาณ 5 ปี โดยทางกทม.จะกู้เงินจากเจบิค 75 % และลงทุนเอง 25 % เนื่องจากทางเจบิคมีเงื่อนไขว่า ประเทศที่ขอกู้เงินต้องมีทุนในการก่อสร้างเป็นเงินลงทุนในประเทศ 25 %--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ