วธ.ร่วมภาคีภาครัฐและเอกชนจัดโครงการหนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554 ผลักดันวัฒนธรรมการอ่านเด็กไทยทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday August 25, 2011 12:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ฯ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทยและเครือข่ายองค์กรภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดตัวโครงการ ‘หนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554’ เพื่อจัดหาและคัดสรรหนังสือดีในหมวดธรรมะ พระราชประวัติ และวรรณกรรมเยาวชน จากหลากหลายสำนักพิมพ์ มอบให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร 2554 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้เยาวชนอ่านหนังสือดีมีประโยชน์ อันเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาและมรดกของคนไทยที่มีภาษาเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชาติ จากข้อมูลทางสถิติของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยที่ได้เปิดเผยภาพรวมการอ่านในสังคมไทยว่า จากตัวเลขอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ในปี 2553 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 20,000 - 21,000 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 5 - 7.5 เมื่อเทียบกับปี 2552 สะท้อนให้เห็นว่าการอ่านหนังสือของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนามอ่านหนังสือเฉลี่ย 60 เล่มต่อปี สิงคโปร์อ่านหนังสือเฉลี่ย 40 - 60 เล่มต่อปี มาเลเซียอ่านหนังสือเฉลี่ย 40 เล่มต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 2 - 5 เล่มต่อปีเท่านั้น ภาพสะท้อนของข้อมูลดังกล่าว ทำให้หลายหน่วยงานร่วมกันผลักดันวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง พร้อมรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายด้วยการอ่าน รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน อีกทั้งในปีนี้ องค์การยูเนสโกยังได้ลงมติเลือกกรุงเทพมหานครให้เป็น “เมืองหนังสือโลก” ประจำปี 2556 ทำให้กรุงเทพมหานครต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของประเทศ รวมไปถึงความเกี่ยวข้องในระดับนานาชาติ ตลอดจนมีแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง กระทรวงวัฒนธรรม จึงร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย สำนักพิมพ์ดีเอ็มจีและเครือข่ายองค์กรภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ จัดโครงการ ‘หนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554’ เพื่อจัดหาและคัดสรรหนังสือดีอันได้แก่ หนังสือหมวดธรรมะ หนังสือหมวดพระราชประวัติ และวรรณกรรมเยาวชน จากหลากหลายสำนักพิมพ์ จำนวน 109 เล่ม มอบให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร 2554 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้เยาวชนอ่านหนังสือดีมีประโยชน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดปัญญารู้แจ้ง เปรียบเสมือนการสร้างเกราะป้องกันและภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความโอบอ้อมอารี มีจิตเมตตา รู้จักพิจารณาว่าสิ่งใดควรไม่ควร มีความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณและสรรพสิ่งทั้งหลาย รู้จักรักและเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนรู้จักหน้าที่การเป็นพลเมืองที่ดีของชาติและของโลก โครงการนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันและส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งจะมอบให้แก่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุและมูลนิธิธรรมดีเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านสาธารณกุศล เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “การอ่านหนังสือเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เราสามารถจัดระบบความคิด พัฒนาศักยภาพของสมองให้มีทักษะและประสบการณ์มากขึ้น แต่ปัจจุบันสถิติการอ่านหนังสือของเด็กไทยมีแค่ 2 - 5 เล่มต่อปีเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก ฉะนั้นโครงการ ‘หนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554’ จะทำให้สังคมมีความหวังมากขึ้น และจะดียิ่งขึ้นถ้าเราส่งมอบหนังสือดีที่มีประโยชน์ให้กับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ถึงเวลาแล้วที่สังคมทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันรณรงค์และปลูกฝังการอ่าน โดยในกลุ่มเด็กและเยาวชน” นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า “ในปี 2548 คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 51 นาทีต่อวัน และในปี 2551 เหลือเพียงแค่ 39 นาทีต่อวันเท่านั้น สำหรับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และการอ่านในระดับท้องถิ่นมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้เกิดความแข็งแรงในการสร้างนิสัยรักการอ่านได้ทั่วประเทศ” นายวรพันธ์ กล่าวในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการกิตติมศักดิ์คัดสรรหนังสือดีอีกว่า “หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดสรรหนังสือดีเข้าโครงการต้องเป็นหนังสือที่เหมาะแก่ช่วงวัยของเด็กและเยาวชน มีเนื้อหาเหมาะสม และต้องใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องด้วย” นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า “แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมรณรงค์และส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก โดยกำลังศึกษาข้อมูลและวางแผนที่จะสามารถกำหนดให้ชุมชนที่มีเด็กไม่ต่ำกว่า 20 คน มีห้องสมุด 1 แห่ง เพื่อส่งเสริมการอ่านให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสิ่งสำคัญที่สุดที่ห้องสมุดสำหรับเด็กยังขาดคือ หนังสือประเภทความซื่อสัตย์และคุณธรรม จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่โครงการ ‘หนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554’ ได้มุ่งเน้นไปที่หนังสือประเภทนี้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนและส่งเสริมต่อไป” นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานคณะทำงาน สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ ‘โครงการหนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554’ เป็นการต่อยอดจากโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย เพื่อปลุกพลังแห่งความดีให้กับเยาวชน โดยหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการทำความดีคือ การอ่านหนังสือ สำหรับโครงการ ‘หนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554’ ได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ส่งหนังสือเข้ารับการคัดสรรกว่า 40 สำนักพิมพ์ จำนวนรวม 314 ปก เพื่อคัดสรรหนังสือดีจำนวน 109 ปก ส่งต่อให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร 2,554 แห่งทั่วประเทศ แต่หากหนังสือดีเหล่านี้ไปถึงโรงเรียนแล้ววางไว้ไม่มีใครอ่าน ก็ไม่มีประโยชน์ โครงการจึงได้มีแผนรณรงค์การอ่านอย่างต่อเนื่องโดยการทำ D Passport สมุดพกความดี ซึ่งอนาคตเราอาจจะได้ใช้ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงาน ตลอดจนใช้สำหรับประกอบการพิจารณา การสมัครงานด้วย” นางสายสม วงศาสุลักษณ์ ผู้บริหาร โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา จังหวัดลำพูน ในฐานะหนึ่งในผู้รับมอบหนังสือจากโครงการกล่าวว่า “โรงเรียนได้ให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กกำพร้าที่บิดามารดาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์และเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยบุคคลในครอบครัว เด็กที่อยู่ประจำต้องได้รับการอบรมสั่งสอน รวมถึงมีกิจกรรมให้เด็กๆ ทำ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ ดังนั้นโรงเรียนจึงได้สร้างห้องสมุดให้มีบรรยากาศที่ดีเพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด และหนังสือดีมีสารประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ‘หนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554’ นับเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างให้เด็กๆ เหล่านี้เป็นคนดีของสังคมได้ต่อไปในอนาคต” ศุ บุญเลี้ยง ศิลปิน นักคิด นักเขียน ผู้มีหนังสือเป็นแรงบันดาลใจ กล่าวว่า “หนังสือที่ดีต้องสามารถสร้างให้เด็กเกิดความสนใจและตื่นเต้นได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีการพัฒนาด้านการเรียนรู้และการเจริญเติบโตของสมอง และสำหรับหนังสือนั้น ถือว่าเป็นสื่อที่พิเศษกว่าสื่ออื่นๆ เพราะเราสามารถกำหนดนิสัยการอ่านหนังสือได้ด้วยตัวเอง อ่านกี่ครั้งก็ได้ อ่านตอนที่ประทับใจกี่รอบก็ได้ ฉะนั้นการส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือคงไม่เพียงพอ ผู้ใหญ่ต้องส่งเสริมนิสัยการรักการอ่านของเด็กๆ ด้วย” ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ คุณครูผู้ส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่านและการเขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง กล่าวว่า “หนังสือดีอาจจะยังไม่สามารถทำให้เด็กเป็นคนดีได้ สังคมจึงต้องช่วยกันปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน โดยเริ่มต้นจากคนในครอบครัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เมื่อเด็กอ่านเป็น คิดเป็น จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กเป็นคนดีได้ ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งของเด็กไทยคือ มีความถนัดทักษะด้านการฟังและการพูด มากกว่าการอ่านและการเขียน ดังนั้นหากจะส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือที่มีสารประโยชน์ จึงจำเป็นต้องคัดสรรหนังสือที่มีรูปประกอบเพื่อให้เด็กเข้าใจง่ายและสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น” ทราย เจริญ ปุระ ดารานักอ่าน กล่าวว่า “วิธีที่จะทำให้เด็กอ่านหนังสือได้ดีที่สุดคือ การปล่อยให้เด็กอ่านหนังสือคนเดียว พ่อแม่อย่าเข้าไปรบกวน เพื่อให้เด็กได้หาวิธีแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง สิ่งที่ตนเองได้จากการอ่านหนังสือและคิดว่าน้องๆ จะได้รับเช่นกัน คือ การสะสมความรู้และประสบการณ์ ช่วยสร้างปัญญา และสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้” ‘โครงการ ‘หนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554’ จะประกาศผลการคัดสรรหนังสือจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 20 องค์กร และประกาศรายชื่อหนังสือดีจำนวน 109 เล่ม ภายในต้นเดือนกันยายน ศกนี้ ทางเว็บไซต์ www.dmgbooks.com นอกจากนี้ สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ร่วมกันพัฒนา D Passport สมุดบันทึกความดีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสะสมคะแนนการอ่านหนังสือสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและรณรงค์วัฒนธรรมการอ่านให้เป็นค่านิยมและอุปนิสัยที่ดีของคนไทยต่อไป โดยจะเริ่มการใช้ D Passport ตั้งแต่เดือนกันยายน ศกนี้ โดยหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับ D Passport ได้ที่สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย www.do-d-club.com สำหรับโรงเรียนที่ต้องการรับหนังสือดีเพื่อนำเข้าห้องสมุด สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่โครงการฯ และประชาชนและองค์กรทั่วไปสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ได้ที่สำนักงานโครงการ ‘หนังสือดี สร้างคนดี ประจำปี 2554’ โทร 0-2685-2255 หรือเว็บไซต์ www.dmgbooks.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ