หนังตะลุงเงา สู่หนังตะลุงคน วิถีอนุรักษ์มรดกใต้ มรภ.สงขลา

ข่าวทั่วไป Monday August 29, 2011 15:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา การสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ในแบบฉบับของชมรมอนุรักษ์มรดกใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นหนังตะลุง จากเดิมที่เชิดรูปหนังผ่านผืนผ้าใบ เปลี่ยนเป็นแต่งองค์ทรงเครื่อง และแสดงกริยาอาการของตัวหนังตะลุงนั้นๆ ซึ่งการเล่นหนังตะลุงที่ปรับเปลี่ยนไปนี้ สามารถ สร้างความสนุกสนาน และดึงดูดใจผู้ชมได้มากขึ้น ชมรมอนุรักษ์มรดกใต้ เกิดจากการรวมตัวกันของนายหนังตะลุงในโครงการหนังดาวรุ่งตะลุงราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ที่มีใจรักในการแสดงหนังตะลุง ซึ่งเข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์ของนายหนังในโครงการหนังดาวรุ่งตะลุงราชภัฏ อีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนการเชิดหนังตะลุงเงา ต่อยอดไปสู่การแสดงหนังตะลุงคน ซึ่งปัจจุบันนับว่าหาดูได้ยากเต็มที นายคุณานนท์ ฉันทจิตร หรือ “น้องปอ” นักศึกษาปี 1 โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา หนึ่งในนักแสดงหนังตะลุงคน กล่าวว่า ความน่าสนใจของการแสดงหนังตะลุงคน อยู่ที่การสวมบทบาทเป็นตัวหนังตะลุงเหล่านั้นได้อย่างกลมกลืน ตัวหนังตะลุงจึงเหมือนกับมีชีวิตจริงๆ เพราะสามารถแสดงท่าทางต่างๆ ต่อหน้าคนดูได้ ทั้งนี้ การแสดงหนังตะลุงคนจะมีบทหนัง ผู้พากย์หรือนายหนังเช่นเดียวกับหนังตะลุงเงา เพียงแต่มีความเพลิดเพลินและสนุกสนานมากกว่าหนังตะลุงเงา “การที่ได้เห็นคนดูสนุก หัวเราะไปกับการแสดง ผมก็มีความสุขแล้ว อยากฝากว่าศิลปะพื้นบ้านทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุง มโนราห์ ถือเป็นมรดกของชาวใต้ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงวิถีชีวิตของเรา เป็นศิลปะอันน่าหวงแหน ใครไม่ชอบหนังตะลุง มโนราห์ ถือเป็นสิทธิ์ เสรีภาพ ของแต่ละบุคคล แต่ขอร้องว่าอย่าดูถูก เพราะถ้าดูถูกสิ่งเหล่านี้ก็เท่ากับดูถูกบรรพบุรุษของตัวเอง ดูถูกรากเหง้าแห่งความเจริญงอกงามของศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้” ด้าน น.ส.จันจิรา เพชรสุข หรือ “น้องจ๋า” นักศึกษาปี 1 โปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ซึ่งเป็นผู้ขับปรายหน้าบท กล่าวว่า ปรายหน้าบทเป็นตัวหนังตะลุงที่ออกมาขับกลอนบูชาครู และไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เสมือนเป็นตัวแทนของนายหนังตะลุง ตนรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดวัฒนธรรมถิ่นใต้ เพราะไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุงเงาหรือหนังตะลุงคน ต่างก็สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของชาวใต้ บางคนชอบหนังตะลุงเงา เพราะได้เห็นศิลปะการเชิดหนัง ในขณะที่หนังตะลุงคนก็ให้อรรถรสในด้านสร้างความสนุกสนานแก่คนดู ส่วนเรื่องของความยากง่ายนั้นก็ถือว่าพอๆ กัน เพราะต้องอาศัยการฝึกฝนจากนายหนัง เพียงแต่ส่วนใหญ่ผู้ที่จะเล่นหนังตะลุงคนได้ จะต้องมีพื้นฐานจากหนังตะลุงเงามาก่อน ซึ่งตนก็เรียนรู้การเชิดหนังตะลุงมาจากพ่อที่เป็นนายหนัง ทำให้เข้าใจถึงอุปนิสัยของตัวหนังตะลุงนั้นๆ และนำมาปรับใช้กับการแสดงหนังตะลุงคน “เราโชคดีที่เกิดมาในแผ่นดิน ที่คงความเจริญงอกงามของศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้ ซึ่งบรรพบุรุษได้วางรากฐานแห่งความงดงามเอาไว้ ตราบใดที่ชาวใต้ทุกคนยังคงรักและหวงแหนสิ่งเหล่านี้ ศิลปวัฒนธรรมอันมีมนต์เสน่ห์อย่างหนังตะลุง ก็จะอยู่ในใจของชาวใต้ไม่เสื่อมคลาย อยากให้เด็กรุ่นใหม่ๆ หันกลับมามองศิลปวัฒนธรรมของเรา เพราะหากชาวใต้ไม่หวงแหนศิลปะบ้านเรา แล้วใครเล่าจะมาคอยดูแลและสืบทอด เหมือนดังคำที่ครูหนังตะลุงสอนว่า โปรดจงรักษาสมบัติปู่ย่าตายาย ตราบจนชีวาล่มสลาย” ในขณะที่ ด.ช.เพชรพลอย พรหมศิลา หรือ “น้องเพชร” นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนวชิรานุกูล กล่าวถึงสิ่งที่เขาได้รับจากการแสดงหนังตะลุงคนว่า ผมได้ความสนุก ฝึกความกล้าแสดงออกต่อหน้าคนจำนวนมาก และที่สำคัญก็คือ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากนายหนัง ไก่ฟ้า ประกาศิต ซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จะเป็นวิชาความรู้ที่ติดตัวผมไปตลอด สำหรับพวกเขา หนังตะลุงคือมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวใต้ และเป็นรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ศาสตร์ทางวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ ที่ทรงคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ