พม.ห่วงปัญหาความรุนแรงในเด็ก เร่งหาแนวทางป้องกัน หวั่นสังคมไทยเคยชินการใช้ความรุนแรง

ข่าวทั่วไป Monday August 29, 2011 17:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) จัดการประชุมเพื่อสรุปผลการวิจัย เรื่อง “การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก”และนำเสนอร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในเด็กได้ทวีความรุนแรงขึ้น อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้น การใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดและยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และปัญหาครอบครัวแตกแยก เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยผลักให้เกิดความรุนแรงต่อเด็ก ส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ รวมทั้งการถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ อาทิ ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ถูกบังคับให้ขอทาน และทำงานบริการอื่นที่ไม่เหมาะสมกับวัย นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อบุคคลอื่นและครอบครัวของตนเองอีกด้วย ซึ่งหากยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ในการป้องกันและแก้ไขแล้ว สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่ยอมรับการใช้ความรุนแรง สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.)กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จึงกำหนดให้มีการศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน โดยร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นำโดย ดร.สายสุรี จุติกุล ดำเนินการศึกษาวิจัย เรื่อง“การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก”และจัดทำ“ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน” ขึ้น เพื่อให้รับทราบถึงสถานการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็กและได้เข้าใจถึงความรู้สึกของเด็กที่เป็นผู้กระทำและถูกกระทำด้วยความรุนแรง เพื่อจะได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญหา โดยเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์จากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเด็กในระบบโรงเรียน และเด็กกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กในสถานสงเคราะห์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กในระบบโรงเรียน กลุ่มครูและผู้ดูแลเด็ก รวมทั้งสิ้น ๕๐,๕๔๔ คน ใช้เวลาในการดำเนินงานประมาณ ๒ ปี นายสมชาย กล่าวต่อว่า จากผลการวิจัยพบว่า เด็กถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางกาย วาจา และเพศ โดยเฉพาะการกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัว ที่น่าเป็นห่วงคือ พ่อแม่ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก เช่น การดุด่า ใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือไม่เหมาะสม มีการเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ดีกว่า ทำให้เด็กเกิดความฝังใจ เมื่อเกิดปัญหาเด็กจึงเลือกที่จะปรึกษาเพื่อนมากกว่าครอบครัว นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กชายถูกล่วงละเมิดทางเพศที่มีการร่วมเพศ มากกว่าเด็กหญิง๓-๕ เท่า โดยพบในพื้นที่กทม.และปริมณฑล มากกว่าภาคอื่นๆ ทั้งนี้ ในวันพุธที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานการประชุมสรุปผลภาพรวมของการวิจัยฯและนำเสนอร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเด็กและเยาวชนร่วมกันวิพากษ์ วิจารณ์ และให้ข้อคิดเห็น ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ด้านดร.สายสุรี จุติกุล ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยและประธานคณะอนุกรรมการประสานการป้องกันและแก้ไข ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เด็กยอมรับว่าถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางกาย วาจา รวมทั้งทางเพศ มีจำนวนมากที่หนีออกจากบ้านเพราะไม่มีความสุข ถูกพ่อแม่ทำร้าย จึงขอเสนอให้มีการเปลี่ยนแนวคิดใหม่แก่พ่อแม่ผู้ปกครองว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด” และควรใช้วิธีคิดเชิงบวก ไม่ดุด่าทุบตี เรียนรู้การเป็นพ่อแม่ที่ดี เพื่อร่วมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ